จะเห็นได้ชัดว่าในยุคสมัยนี้ เด็กรุ่นใหม่มักจะละเลยเรื่องการออมเงิน เนื่องจากขาดการปลูกฝังจากครอบครัวหรือผู้ปกครองเช่นในยุคก่อนๆ และมีนิสัยฟุ่มเฟือย ใช้ชีวิตหรูหราตามแบบอย่างที่เห็นมาจากคนในครอบครัว เป็นต้น หรือติดนิสัยใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย การแข่งขันที่จะต้องมีเหมือนเพื่อนให้ได้ จึงทำให้การเงินแย่ลงและประสบกับความล้มเหลวในด้านการเงินได้นั่นเอง
สังเกตได้จากวัฒนธรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กรุ่นใหม่ ที่ยึดติดกับยี่ห้อ และแฟชั่นความนิยม บางคนใช้โทรศัพท์รุ่นที่แพงกว่าพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์เสียอีก ส่งผลให้เด็กมีความเชื่อผิดๆว่า หากต้องการอะไร ก็ไม่ต้องขวนขวายหาเอง เพราะแค่เอ่ยปากว่าอยากได้ พ่อแม่ก็พร้อมที่จะหามาให้โดยง่ายอยู่แล้ว ดังนั้นการจะปลูกฝังให้ลูกรู้จักใช้เงินอย่างถูกวิธีได้นั้น ก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่นี่แหละ ซึ่งก็ต้องเป็นทั้งแบบอย่างที่ดีและเป็นครูสอนเรื่องการใช้จ่ายเงินให้กับลูกเลยล่ะ
อ่านเพิ่มเติม >> 4 เทคนิค สอน เศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ ให้เด็กรุ่นใหม่ <<
บทความนี้จะแนะนำวิธีการปลูกฝังหลักเศรษฐศาสตร์อย่างง่ายๆให้กับเด็กๆรุ่นใหม่เพื่อที่จะ ประสบความสำเร็จด้านการเงิน โดยที่พวกเขาจะไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่าทำตามยากเกินไปมาฝากกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยดีกว่าค่ะ
1. เริ่มที่การปรับปรุงพฤติกรรมของตัวคุณ
เด็กๆมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของคนในครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้น หากคุณต้องการสอนให้เขาเป็นอย่างไรก็ตาม ตัวคุณเองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้พวกเขาก่อนเสมอ อย่างเช่นคุณอยากให้ลูกรู้จักเก็บออมเงิน คุณก็ต้องเริ่มจากการออมเงินให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกของคุณด้วยนั่นเอง
โดยเริ่มสำรวจตัวคุณเองจากเรื่องเล็กๆน้อยๆเช่น ปัจจุบันคุณทานอาหารหมดจานหรือไม่ หรือมีความคิดที่จะซ่อมแซมของใช้เก่าๆที่พังเพียงเล็กน้อยให้ดีขึ้นมาโดยไม่ต้องซื้อใหม่ให้เขาเห็นหรือไม่ เหล่านนี้ถึงจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตัวอย่างเป็นธรรมชาติให้เขาเห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ
บางท่านมักจะดุว่าเด็กๆในปกครองใช้เงินสิ้นเปลือง แต่ตนเองกลับซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรืออื่นๆที่มากกว่าคำว่าฟุ่มเฟือยให้เขาเห็นอยู่เสมอ ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนี้แล้ว คงยากที่เด็กๆจะประหยัดอดออมตามที่คุณพร่ำสอน ดังนั้นอยากให้ลูกใช้เงินแป้นรู้จักประหยัด ก็ต้องเริ่มที่ตัวคุณเอง
2. สอนให้เขามีวินัยในการใช้จ่ายและเก็บออม
หรือพูดง่ายๆคือ สอนให้เขาเคยชินกับการใช้เงินอย่างมีแบบแผนนั่นเอง เช่น ก่อนจะซื้ออะไรสักอย่างที่เขาอยากได้ เขาจะต้องแบ่งเงินรายวันที่ได้รับออกมาส่วนหนึ่งที่แยกจากการออมปกติ เพื่อให้เขาเคยชินกับการใช้เงินที่มีอยู่ในมือ ไม่ใช่การใช้เงินอนาคตอย่างการรูดบัตรเครดิต เช่น คุณออกเงินค่าของชิ้นนั้นให้เขาไปก่อน แล้วให้เขาผ่อนจ่ายคืนคุณทีหลัง แบบนี้ถือว่าเป็นรูปแบบการสอนที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าได้อะไรมาง่ายๆ และชำระคืนง่ายๆด้วยการผ่อนจ่าย เป็นต้น
ควรฝึกให้เขาเก็บออมจนเป็นนิสัย โดยทำการตกลงกันว่าเขาจะเหลือเงินกลับมาหยอดกระปุกที่บ้านวันละเท่าไหร่ เมื่อครบเดือน หรือจำนวนเงินเริ่มเพิ่มมากขึ้น ก็พาเขาไปเปิดบัญชี ฝากเงินที่ธนาคาร เพื่อให้เขาได้มีนิสัยรักการออมติดตัวต่อไปในอนาคตนั่นเอง นอกจากนี้ในวันที่นำเงินที่ลูกหยอดกระปุกไว้ไปฝากธนาคาร ก็ควรพาเขาไปด้วย เพื่อให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในจำนวนเงินออมของตัวเอง และมีกำลังใจที่จะเก็บออมเงินมากขึ้น
3. สอนให้เขาวางแผนทางการเงินอย่างง่ายๆ ด้วยการจ่ายเงินรายวัน
ระบบการจ่ายเงินรายวันของครอบครัวในสมัยก่อนนั้น ถือเป็นการสอนเรื่องวางแผนทางการเงินอย่างเยี่ยมยอด คุณควรทำการตกลงกับเขาว่าจะจ่ายเงินรายวันให้เขาเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ต่อวัน และสอนเขาวางแผนทางการเงินอย่างคร่าวๆ ด้วยการแยกค่าใช้จ่ายออกมาเป็นส่วนๆ และให้คำแนะนำเขาไปด้วย เช่น ค่าอาหาร ค่าขนม เงินออม เป็นต้น นอกจากนี้อย่าลืมที่จะสอนให้เขารู้จักจดบันทึกรายรับรายจ่ายด้วยล่ะ เพราะนี่แหละคือพื้นฐานของการออมและการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด แถมยังทำให้เขาติดนิสัยความมีวินัยในการออมเงินไปอีกด้วย
4. ปลูกฝังให้เขารู้คุณค่าของสิ่งของที่ได้มา
เพื่อให้เขาไม่เกิดการเบื่อหน่ายและทิ้งขว้างของสิ่งนั้นไปง่ายๆ เพราะจะทำให้เกิดความสิ้นเปลือง และปลูกฝังนิสัยทางการเงินที่ไม่ดีให้แก่เขาในทางอ้อม เช่น ก่อนที่เขาจะซื้อของอะไรสักชิ้น คุณควรถามเขาว่า เขาต้องการมันมากแค่ไหน และจะรักษามันได้ดีแค่ไหน เพราะเด็กบางคนก็แค่อยากได้ตามเพื่อนๆเท่านั้น หากเสขามีนิสัยทิ้งขว้างเบื่อง่าย คุณก็ต้องใจแข็ง ทำโทษเขาด้วยการไม่ซื้ออะไรก็ตามที่เขาอยากได้ให้เขาอีก จนกว่าเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรม
เห็นไหมคะว่าการสอนเด็กๆในเรื่องการเงินนั้นไม่ยากอย่างที่คิด คุณสามารถประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตประจำวันและวิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัวคุณได้ไม่ยากเลย อย่าลืมว่าเด็กๆเปรียบเสมือนผ้าขาว พวกเขาสามารถรับเรื่องราวต่างๆที่เราสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น คงไม่สาย หากคุณจะเริ่มสอนพวกเขาเสียตั้งแต่วันนี้