ในปีหนึ่ง ๆ ตามหน้าปฏิทินเราจะเห็นวันสำคัญต่าง ๆ อยู่หลายวันและหนึ่งในนั้นก็คือ วันพ่อ หรือ Father’s Day สำหรับประเทศไทยเรานั้น วันพ่อแห่งชาติเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2523 เพื่อยกย่องและรำลึกถึงพระคุณของพ่อ บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและเปิดโอกาสให้ลูก ๆ ได้แสดงความกตัญญู จึงถือวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง ผู้เป็นพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยนั่นเอง ในอีกมุมหนึ่งของโลกก็มีการฉลองวันพ่อแห่งชาติในประเทศอื่น ๆ เหมือนกัน อย่างเช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น
วันพ่อเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง เด็กญี่ปุ่นนิยมแสดงความรักต่อพ่อผ่านการเขียนจดหมายเล่าความรู้สึก วาดรูปพ่อ หรือไม่ก็ทำอาหารให้พ่อทาน ส่วนในประเทศอเมริกาได้มีการฉลองวันพ่อตั้งแต่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 1908 ที่โบสถ์ในเวอร์จิเนีย โดยผู้ริเริ่มคือเกรส โฮลเดนท์ เคลตัน ภายใต้วัตถุประสงค์คือการระลึกถึงคุณความดีของบรรดาคุณพ่อจำนวน 361 คนที่เสียชีวิตในเหตุระเบิดใกล้ ๆ เมืองโมนูก้า ในเวลาต่อมาการฉลองวันพ่อได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันเรื่อยมา
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าถึงประวัติวันพ่อในประเทศอเมริกาอีกด้านหนึ่งว่ามีจุดกำเนิดแท้จริงมาจาก คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่ชื่อ William Jackson Smart โดยภรรยาของเขา Ellen Victoria Cheek Smart ได้เสียชีวิตระหว่างคลอดลูกชายคนเล็ก ซึ่งขณะนั้นครอบครัวนี้มีลูกทั้งหมดรวม 6 คน คนโตเป็นหญิงชื่อ Sonora Smart Dodd ความคิดเรื่องวันพ่อเกิดขึ้นขณะที่เธอนั่งร่วมพิธีวันแม่ในโบสถ์และเธอก็นึกถึงภาพความรักและสิ่งที่คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวทำให้เธอและน้อง ๆ มาตลอด เธอจึงตัดสินใจว่าพ่อทุกคนก็ควรจะมีวันพ่อเช่นเดียวกัน โดยเธอเลือกฉลองในเดือนมิถุนายนซึ่งตรงกับเดือนเกิดของพ่อเธอและได้เชิญชวนโบสถ์ต่าง ๆ ในละแวกกรุงวอชิงตันร่วมกันฉลองวันพ่อในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1910 ขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นการฉลองวันพ่อก็ถูกสานต่ออย่างจริงจังมากขึ้นทุก ๆ ปี จนกระทั่งปี 1966 ประธานาธิบดีลินคอนจึงได้ประกาศวันพ่อของอเมริกาคือวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนและนับเป็นวันหยุดราชการอีกวันหนึ่ง
เรื่องราวของ คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ในประเทศไทยซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอยู่มากในสังคมออนไลน์ผ่านมาสู่หน้าหนังสือพิมพ์ สืบเนื่องมาจากประสบการณ์ตรงของชีวิตหนุ่มวัย 23 ปีที่ชื่อ เบียร์ ศิริพงษ์ เหล่านุกุล กับบทบาท คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ในเมืองกรุง แม้ว่าเด็กน้อยที่เขาอุปการะดูแลจะมีฐานะเป็นหลาน แต่เขาก็รักและให้ความดูแลราวกับลูกตนเอง ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นเขาเพิ่งอายุ 22 ปีและใช้ชีวิตตามวิสัยหนุ่มโสดในสังคมเมืองคู่กับอาชีพฟรีแลนซ์รับงานอิสระ ช่วงที่ต้องลุยงานก็จัดเต็ม ถึงเวลาว่างก็เที่ยวให้คุ้มค่า เช่นเดียวกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันที่สนุกกับการเที่ยวอาร์ซีเอ ถนนข้าวสาร และใช้ชีวิตง่าย ๆ อยากเที่ยวก็แพ็คกระเป๋าไปต่างจังหวัด ตื่นเที่ยงบ้าง บ่ายบ้างตามอารมณ์ กินข้าวราดกระเพราจานเดียวทุกมื้อก็ได้
จนกระทั่งวันที่เขารับอาสาดูแลเด็กน้อยอายุไม่ครบขวบตามลำพัง ชีวิตหนุ่มโสดก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แรกเริ่มเขานึกว่าการเลี้ยงเด็กคงไม่มีอะไร แค่ป้อนอาหาร กล่อมนอน และอาบน้ำ ถ้าช่วงไหนมีงานอีเว้นท์ต่างจังหวัดก็ค่อยนำไปฝากเลี้ยง แต่เอาเข้าจริง ๆ แค่คืนแรกของการเลี้ยงเดี่ยวคุณพ่อเบียร์ก็แทบไม่ได้นอน เพราะเด็กน้อยไม่ได้ร้องแค่ 20 นาทีแล้วหยุด แต่ร้องนานเป็นชั่วโมงเกือบทุกวัน เรื่องอาหารการกินจากที่เคยสั่ง แต่อาหารจานเดียวกินเป็นประจำก็ต้องสรรหาเมนูเสริมโภชนาการในเด็ก โดยคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวซื้อหนังสือมาอ่าน ไปเดินจ่ายตลาดซื้ออาหารสดด้วยกันกับลูกน้อย มือหนึ่งถือตะกร้าอีกมืออุ้มลูก และ จากนั้นก็ลงมือทำอาหารให้เด็กน้อยทาน ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวไม่เคยทำมาก่อน ไหนจะเรื่องการฉีดวัคซีนตามช่วงวัยและแผนการเรียนในอนาคตของลูกที่เขาก็เพิ่งหันมาค้นหาข้อมูลเมื่อมีคนทักว่า จะให้ลูกเรียนที่ไหน และกำหนดฉีดวัคซีน หรือยัง จากที่เคยใช้ห้องสำหรับร้องเพลงเล่นกับเพื่อน ๆ ก็กลายเป็นห้องสำหรับสอนร้องเพลงให้ลูกน้อย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิต คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่หลายคนมองอย่างชื่นชมในความเสียสละและตั้งใจจริงของหนุ่มเบียร์ แต่อีกมุมหนึ่งคุณพ่อเบียร์มองว่าเขาเองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการเลี้ยงลูกคนนี้ไม่น้อย ด้วยความที่เขาเติบโตมาในครอบครัวที่แตกร้าว ตัวเขาเองอยู่กับพ่อและพี่น้องที่ดูแลตัวเอง
ดังนั้นเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งการเข้าเรียนมัธยม 1 เขาก็เป็นคนตัดสินใจเองมาตลอด ไม่ได้ใกล้ชิดกับคำว่าครอบครัวสักเท่าไร มาวันนี้ เด็กน้อยได้ทำให้เขารู้ซึ้งถึงคำว่า “ครอบครัว” และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขามุ่งมั่นสร้างฐานะการเงินเพื่อวันข้างหน้าของลูก ยิ่งวันที่ลูกเจ็บป่วยก็ยิ่งแน่ใจว่าต้องหารายได้สำรองไว้ หรือในทางกลับกัน ถ้าเขาป่วยเมื่อใดใครจะดูแลเด็กน้อยคนนี้ ที่สำคัญอีกอย่างคือเขาได้เรียนรู้จากหนูน้อยว่าต้นแบบพฤติกรรมของเด็กคนนี้มาจากตัวพ่อเลี้ยงเดี่ยวนั่นเอง เพราะไม่ว่าเขาจะซักผ้า เด็กน้อยก็จะถือตะกร้ามาซักด้วย ไปจ่ายตลาดก็ต้องมีตะกร้าคนละใบ หรือ เสื้อผ้าก็ต้องใส่แบบเดียวกันเป็นประจำ จากเด็กหนุ่มที่ไม่เข้าใจความหมายของครอบครัวก็รู้คุณค่าของชีวิต ขนาดตัวเขาเองเลี้ยงลูกคนเดียวยังทั้งเหนื่อย ทั้งรักและทั้งห่วงเขามากขนาดนี้ พ่อแม่ที่เลี้ยงเขาและพี่น้องมา 3 คนจะเหนื่อยและห่วงใยเรามากแค่ไหน