สหกรณ์ในประเทศไทย ปี 2558 มีจำนวน 6,987 แห่ง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ สหกรณ์ภาคการเกษตร มีจำนวน 3,848 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม และ สหกรณ์นอกภาคการเกษตร มีจำนวน 3,139 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งสหกรณ์แต่ละประเภทต่างมีสัดส่วนของธุรกิจให้เงินกู้แก่สมาชิกเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นของสหกรณ์ โดยภาพรวมมีสัดส่วนถึง ร้อยละ 60 ของธุรกิจทั้งหมดของสหกรณ์ (บริการให้เงินกู้ ,บริการรับฝากเงิน บริการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การรวบรวม/ การแปรรูปผลิตผล รวมทั้งการให้บริการอื่น ๆ )
จากผลการสำรวจดังกล่าว สามารถเห็นได้ว่า ภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของสมาชิกสหกรณ์มีอัตราสูงขึ้นตามไปด้วย โดยหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในภาคสหกรณ์ ปี 2558 ครึ่งปีแรกเปรียบเทียบกับปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.52 % (จากปี 2557 หนี้จำนวน 137,635 บาทต่อครัวเรือน เป็น หนี้จำนวน 141,100 บาทต่อครัวเรือน ในครึ่งแรกปี 2558 ) โดย 6 เดือนแรก ปี 2558 สหกรณ์นอกภาคการเกษตรมีหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนถึง 322,310 บาท สูงมากกว่า สหกรณ์การเกษตรที่มีหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 22,470 บาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 15 เท่า ในขณะที่การออมเฉลี่ยต่อครัวเรือนของทั้ง 2 กลุ่มสหกรณ์ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน ตัวเลขเช่นนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ยังคงมีพฤติกรรมใช้จ่ายที่สูงมากกว่าการออม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการชำระหนี้
(ข้อมูลตัวเลข อ้างอิงจาก กรมตรวจบัญชีสหกรณ์)
ในบรรดาสหกรณ์นอกภาคการเกษตร กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ (มีหลายหลายประเภท เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุข สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ สหกรณ์ออมทรัพย์กรมการปกครอง สหกรณ์ออมทรัพย์อนามัย สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานเทศบาล เป็นต้น) เป็นสหกรณ์ที่มีสัดส่วนของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมมากที่สุด โดยในปี 2557 เป็นจำนวนถึง 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 89.29% ของกลุ่มสหกรณ์นอกภาคการเกษตร ดังนั้น สมาชิกสหกรณ์นอกจากจะใช้บริการทางการเงินด้านการฝากเงินกับสหกรณ์แล้ว เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้บริการด้านเงินกู้ยืม (สินเชื่อ) ควรศึกษาข้อมูลลักษณะของเงินกู้แต่ละประเภทให้มากที่สุด เพื่อจะได้กู้ยืมอย่างเหมาะสม โดยเงินกู้ยืม (สินเชื่อ) ของสหกรณ์มี 3 ประเภทหลัก คือ
-
เงินกู้สามัญ
- วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมการศึกษา เพื่อเลื่อนวิทยะฐานะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อการดำรงชีพ
- วงเงินกู้ : จะขึ้นกับระยะเวลาการเป็นสมาชิก และอัตราเงินได้รายเดือน หากเป็นสมาชิกนานและมีอัตราเงินเดือนที่สูง วงเงินกู้ที่ได้รับก็จะสูงตามไปด้วย โดยเฉลี่ยรายละไม่เกิน 2 – 3 ล้านบาท (มากน้อยขึ้นกับแต่ละสหกรณ์กำหนด)
- การผ่อนชำระ : ผ่อนชำระเงินต้นเท่ากับและดอกเบี้ยต่างหาก หรือผ่อนต้นเงินและดอกเบี้ยเท่ากันทุกเดือน โดยระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 200 – 300 งวด (มากน้อยขึ้นกับแต่ละสหกรณ์กำหนด)
- หลักประกัน : บุคคลค้ำประกัน / บัญชีเงินฝากค้ำประกัน/ หุ้นค้ำประกัน
-
เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน
- วัตถุประสงค์ : เพื่อเหตุฉุกเฉิน หรือจำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ชำระค่าเทอมการศึกษาบุตร ใช้จ่ายชำระหนี้อื่นเร่งด่วน
- วงเงินกู้ : โดยส่วนใหญ่จะไม่สูงมาก เช่น ประมาณ 50,000 บาท หรือ ให้ 5 เท่าของเงินได้รายเดือน (มากน้อยขึ้นกับแต่ละสหกรณ์กำหนด)
- การผ่อนชำระ : ผ่อนชำระเงินต้นเท่ากับและดอกเบี้ยต่างหาก หรือผ่อนต้นเงินและดอกเบี้ยเท่ากันทุกเดือน โดยระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 100 – 120 งวด หรืออาจให้ผ่อนชำระเพียง 6 งวด หากเงินกู้ต่ำ (มากน้อยขึ้นกับแต่ละสหกรณ์กำหนด)
- หลักประกัน : บุคคลค้ำประกัน
-
เงินกู้พิเศษ
- วัตถุประสงค์ : เพื่อลงทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อการเคหะ เพื่อการอื่นใดอันส่งเสริมฐานะความมั่งคงของสมาชิก
- วงเงินกู้ : จะขึ้นกับระยะเวลาการเป็นสมาชิก และอัตราเงินได้รายเดือน หากเป็นสมาชิกนานและมีอัตราเงินเดือนที่สูง วงเงินกู้ที่ได้รับก็จะสูงตามไปด้วย โดยเฉลี่ยรายละไม่เกิน 5 – 6 ล้านบาท (มากน้อยขึ้นกับแต่ละสหกรณ์กำหนด)
- การผ่อนชำระ : ผ่อนชำระเงินต้นเท่ากับและดอกเบี้ยต่างหาก หรือผ่อนต้นเงินและดอกเบี้ยเท่ากันทุกเดือน โดยระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 360 – 400 งวด (มากน้อยขึ้นกับแต่ละสหกรณ์กำหนด)
- หลักประกัน : อสังหาริมทรัพย์ / บุคคลค้ำประกัน / บัญชีเงินฝากค้ำประกัน/ หุ้นค้ำประกัน
เงินกู้ทั้ง 3 ประเภทอัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 6 -8% (มากน้อยขึ้นกับแต่ละสหกรณ์กำหนด) และก่อนการเป็น หนี้สหกรณ์ ควรทำความเข้าใจหลักการ ในการกู้ยืมเพื่อเป็นการป้องกัน และแก้ไขหนี้ปัญหาหนี้ประเภทนี้ ดังนี้
-
ทราบวัตถุประสงค์ความจำเป็นของตนเอง
ผู้กู้จะต้องทราบวัตถุประสงค์ในการกู้ว่ากู้เพื่อใช้ทำอะไร (ตามประเภทเงินกู้ 3 ประเภทข้างต้น) และผู้กู้จะต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดในการกู้ยืมเงิน โดยอาจให้คะแนนความจำเป็นในการกู้ยืม จากระดับ 1-10 หากระดับคะแนน อยู่ช่วง 1-5 ผู้กู้อาจจะชะลอการกู้ยืม หรือ หากแหล่งเงินจากที่อื่น เช่น เงินเก็บของตนเอง หรือ ยืมจากญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ และหากให้คะแนน 6 ขึ้นไป และหากขาดเงินกู้จะประสบปัญหาจริง ๆ ก็ต้องพิจารณาในข้อถัดไป
-
กำหนดวงเงินกู้ยืม
ผู้กู้จะได้วงเงินกู้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ผู้กู้ อายุการเป็นสมาชิก จำนวนเงินที่เสนอขอกู้ ความสามารถในการชำระหนี้ และหลักประกันเงินกู้ ดังนั้น ผู้กู้ควรกู้ในจำนวนที่เหมาะสม เพียงพอไม่มากเกินไป เพราะหากมีวงเงินกู้สูงและผู้กู้ไม่มีวินัยทางการเงินหรือใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ย่อมทำให้มีภาระหนี้สหกรณ์สูงตามไปด้วย
-
ระยะเวลาการผ่อนชำระที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามความสามารถของผู้กู้
เงินกู้แต่ละประเภทมีระยะเวลาการผ่อนชำระแตกต่างกัน ดังนั้น หากผู้กู้สามารถผ่อนชำระได้เร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด ย่อมทำให้ผู้กู้ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย และเพิ่มโอกาสในการกู้สินเชื่อประเภทอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อที่เคยกู้ และยังทำให้กู้สินเชื่อที่จำเป็นประเภทอื่นได้เพิ่มมากขึ้น
-
การชำระคืนเงินกู้
หากผู้ชำระหนี้ได้ครบตามจำนวน โดยไม่ผิดนัดชำระ ย่อมทำให้ผู้กู้เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ มีเครดิตทางการเงินดี และย่อมทำให้เป็นที่ต้องการของแหล่งเงินกู้อื่น ๆ ซึ่งสร้างโอกาสในการหาแหล่งเงินกู้ที่ต้นทุนทางการเงินต่ำได้
-
อย่าค้ำประกันให้แก่บุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือ
เมื่อจะค้ำประกันเงินกู้ให้บุคคลใดก็ตาม ควรจะคำนึงถึงสถานะทางการเงิน / ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ด้วย เนื่องจาก หากผู้กู้ เบี้ยวหนี้ ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ภาระหนี้ทั้งหมดจะตกอยู่กับผู้ค้ำประกัน ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่ก่อหนี้เลย
-
อย่าลาออกจากการเป็นสมาชิกเด็ดขาด
หากผู้กู้ยังไม่สามารถชำระหนี้สหกรณ์ได้ทั้งหมด อย่าออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ เนื่องจากจะทำให้ผู้กู้เสียอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเมื่อเป็นสมาชิก
-
หาแหล่งเงินกู้อื่นที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ
ควรหาแหล่งเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเพื่อชำระหนี้แหล่งเงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ยสูง รวมทั้งยังมีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งให้ครูได้ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้สหกรณ์ ทั้งยังทำให้ผู้กู้เป็นหนี้เพียงแห่งเดียว เพราะสามารถนำหนี้ทุกแห่งจากสหกรณ์มารวมไว้เป็นหนี้ของธนาคารออมสินที่เดียว และยังสร้างวินัยทางการเงินในการชำระหนี้ของผู้กู้ทางอ้อมด้วย
หากผู้ที่เป็น หนี้สหกรณ์ ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปเป็นข้อพิจารณาในการกู้ยืมเงินแล้ว ย่อมทำให้สามารถแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเป็นหนี้ชนิดนี้ลดลง