ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและหนี้บัตรเครดิตต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อความเสถียรทางฐานะการเงินของครอบครัวไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่รู้และไม่เข้าใจสูตรการบริหารการเงินที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดวินัยในการใช้จ่าย หรือ ใช้เงินเกินตัว ใช้จ่ายมากกว่าที่หามาได้ ทำให้คนไทยติดกับดักหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นทุก ๆ ปี
จากผลการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีพ.ศ. 2558 ครัวเรือนไทยเป็นหนี้เฉลี่ยครอบครัวละ 13,606 บาทต่อเดือน หรือเทียบเท่ากับปีละ 163,276 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมากโดยคิดเป็นร้อยละ 15 หากครอบครัวไทยยังคงมีแนวคิดเรื่องการใช้เงินแบบเดิม ๆ อนาคตครอบครัวที่เป็นหนี้เป็นสินก็จะมีแต่เพิ่มสูงขึ้น
อ่านเพิ่มเติม >> หนี้ครัวเรือน ปัญหาที่แก้ไม่ตก <<
โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่นที่หวั่นไหวต่อกระแสการตลาดและสื่อโฆษณาได้ง่าย ๆ ยิ่งในช่วงที่สังคมเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุนิยม ยิ่งทำให้ความอยากได้อยากมี ซื้อก่อนจ่ายทีหลังมาแรง ส่งเสริมการขาดสภาพคล่องมากกว่าเดิม ครอบครัวจึงควรเปลี่ยนบทบาทมาเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกปรัชญาการบริหารเงินและสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความร่ำรวยในรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
จากปรัชญาที่ว่า “พ่อแม่คือครูคนแรกของลูก” โดยธรรมชาติของเด็กมักจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากคนใกล้ชิด คุณพ่อและคุณแม่สามารถเป็นแบบอย่างกระตุ้น นิสัยการออม ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีให้ลูกเดือนละ 500 บาท จนกระทั่งลูกเข้าสู่วัยเรียนและได้รับค่าขนมก็ให้เขาแบ่งออกมาเป็นเงินออมร่วมสะสมไปพร้อมกับพ่อและแม่ทุก ๆ เดือน สมมุติว่าเริ่มสะสมตั้งแต่เข้าศึกษาชั้นประถมปีที่ 1 ในเวลา 1 ปีเงินในบัญชีก็จะเป็น 6,000 บาทยังไม่นับดอกเบี้ยจากทางธนาคาร หากสะสมอย่างสม่ำเสมอจนถึงปีที่ลูกจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เงินออมก้อนนี้จะมีมูลค่าขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 72,000 บาท ในขณะที่ถ้าลูกโตขึ้นและเรียนรู้แบ่งเงินออมมาเป็นเงินฝากร่วมอีก 1,000 บาททุก ๆ เดือน เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาก็จะมีเงินสำรองมากเพิ่มอีก 48,000 บาทรวมของเดิมที่ได้ออมไว้ก็จะมีเงินไม่น้อยกว่า 120,000 บาทที่ยังไม่รวมดอกเบี้ยจากทางธนาคาร สิ่งสำคัญไม่ใช่ยอดเงินที่ปลากดในบัญชีเงินฝากเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเด็กและตัวผู้ปกครองว่าการรู้จักบริหารเงินฝากจะเป็นบันไดสู่ความมั่งคั่งทางการเงินได้จริง ๆ
ในบางครอบครัวมักต้องการอำนวยความสะดวกให้ลูกในทุก ๆ ด้าน แม้แต่เรื่องการใช้จ่ายเงินด้วยการมอบบัตรเครดิตให้ลูกไว้ใช้จ่ายเป็นของขวัญวันรับปริญญา ซึ่งแท้ที่จริง บัตรเครดิตไม่ได้มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของคนเราในแต่ละวัน การใช้บัตรเครดิตที่ถูกทางคือการใช้จ่ายสำหรับสิ่งของที่มูลค่าสูง ๆ เท่านั้น ถ้าผู้ปกครองมอบให้ลูก แต่ไม่ได้สอนถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตก็เท่ากับเป็นการมอบกับดักหนี้ให้กับลูกนั่นเอง ในทางกลับกัน ผู้ปกครองสามารถมอบบัตรเดบิตไว้ให้ลูกใช้จ่ายได้ เพราะไม่เพียงจะอำนวยความสะดวกในการใช้จ่าย แต่ยังเป็นการจำกัดวงเงินใช้จ่ายเท่ายอดที่มีในบัญชี จึงเป็นการปลูกจิตสำนึกการใช้เงินได้อีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้ หากยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตก็ให้พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีของการใช้เงิน เช่น ถึงกำหนดชำระเงิน ก็สามารถจ่ายเต็มจำนวนตามเงื่อนเวลาที่กำหนด สมัครบัตรเครดิตและใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่สมัครบัตรหลาย ๆ ใบให้มากเกินความจำเป็น หรือ ใช้จ่ายเงินจนเต็มวงเงินทุกบัตร เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม >> จำเป็นมากแค่ไหนที่จะต้อง เปิดบัตรเครดิตให้ลูก ? <<
อย่างไรก็ดี แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปจากอดีตที่เราต้องไปเบิกเงินที่ธนาคารเท่านั้น มาเป็นการกดเงินสดผ่านตู้ ATM และจนวันนี้ที่เราเข้าสู่โลกดิจิตอล การโอนเงิน ชำระเงินผ่าน Apps มือถือเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
แต่ปรัชญาด้านการออมที่มหาเศรษฐีหลาย ๆ คนนิยมใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้วกับแนวคิดที่ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” จะเป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นเรื่องยิ่งออมยิ่งรวยได้เป็นอย่างมาก สมมุติว่าทุกวันที่กลับจากการทำงาน ไม่ว่าจะเหลือเศษเหรียญ หรือ เงินทอนกลับมาเท่าไรให้นำไปหยอดกระปุก ซึ่งกระปุกที่นำมาออมอาจจะใช้ DIY ขวดน้ำใบขนาด 1.5 ลิตร หรือ 3 ลิตรที่มีลักษณะใส ๆ ก็ได้ จากนั้นก็เจาะรูบนฝาขวด ด้วยความใสของขวดน้ำจะช่วยให้มือใหม่หัดออมสังเกตเห็นพัฒนาการของการสะสมเงินวันละเล็กวันละน้อยได้ง่ายขึ้น และจัดว่าเป็นแนวคิดที่กระตุ้นความสนใจในการออมได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่งที่สมาชิกในครอบครัวสามารถทำไปด้วยกันได้ หรือถ้าจะใช้กลเม็ดสร้างภาพเป้าหมายในการออมเงินเข้ามาช่วยต่อยอดและดึงดูดใจด้วยการใช้วิธีติดภาพรองเท้าคู่ใหม่ที่อยากได้ สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากจะเดินทางไป หรือ ภาพทริปท่องเที่ยวแบบครอบครัวครั้งล่าสุด ก็เป็นแรงบันดาลใจสำหรับการออมเงินเบื้องต้นได้ไม่ยาก
นอกจากนี้ แนวคิดลบสิบ หรือการหักเงิน 10% ของรายได้เป็นการออมน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างนิสัยรักการออมขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี ในทางตรงกันข้าม สำหรับบรรดาขาช้อปทั้งหลายให้นำแนวคิดบวกสิบมาประยุกต์ใช้ในการสร้างเกมตัดใจไม่ใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือย โดยอาศัยแนวคิดที่ว่าหัก 10% ของมูลค่าเงินที่ใช้ซื้อของไปมาเป็นเงินออมทุกครั้งนั่นเอง