สำหรับการเริ่มต้นเมื่อก้าวสู่สังคมการทำงาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็สูงมากขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำงานคือการประหยัดและไม่ลุ่มหลงไปกับการจ่ายเงินเกินตัว ทั้งของอุปโภคและบริโภครวมถึงการใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์เข้าสังคม หรือมีความคิดว่าใช้เงินเดือนชนเดือน หากใช้เงินเดือนเดือนนี้หมดก็ยังมีเดือนใหม่เพราะการใช้เงินด้วยลักษณะนิสัยเช่นนี้จะทำให้ไม่สามารถเก็บออมเงินได้อย่างแน่นอน และเคล็ดลับการออมเงินเมื่อก้าวเข้าสู่ วัยทำงาน มีดังนี้
1. ไม่ใช้ของแบรนด์เนม
การใช้ของแบรนด์เนมจะทำให้ผู้ที่เริ่มทำงานจบใหม่ไม่สามารถเก็บเงินได้ เนื่องจากว่าสินค้าแบรนด์เนมแต่ละชนิดล้วนมีราคาแพงด้วยกันทั้งสิ้น หากผู้ที่เริ่มต้นทำงานเริ่มต้นด้วยการซื้อสินค้าแบรนด์เนมก็จะทำให้เงินเก็บลดลงอย่างแน่นอน จนบางครั้งอาจต้องพบเจอกับภาวะรายจ่ายเดือนชนเดือน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่สมควรเกิดขึ้นกับผู้ที่เริ่มต้นเข้าสู่การทำงานเลย
2. ไม่เข้าสังคมที่แตกต่างกับฐานะแท้จริงของตนเอง
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสังคมในที่ทำงานแบ่งออกเป็นหลายแบบ มีการรวมคนจากหลายลักษณะนิสัย พื้นฐานฐานะทางบ้านที่แตกต่างกันไป ผู้ที่เริ่มต้นเข้าสู่สังคมการทำงานควรหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมที่แตกต่างกับตัวเองมากเกินไป อาทิ เช่น การคบเพื่อนที่มีฐานะร่ำรวย ใช้สินค้าหรูหรา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เพราะผู้ที่ฐานะของตนไม่ดีอาจเกิดการเปรียบเทียบและต้องการเท่าเทียมกับเพื่อน ซึ่งหากไม่มีเงินเดือนพอบุคคลนั้นอาจเลือกกู้เงิน หรือเปิดบัตรเครดิต ซึ่งนำมาสู่ภาระหนี้สินได้
3. การเที่ยวไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง
ด้วยกระแสความนิยมในปัจจุบันที่เน้นการท่องเที่ยวเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต ทำให้ผู้ที่เริ่มต้นทำงานต้องการท่องเที่ยว ซึ่งบางครั้งสถานที่ท่องเที่ยวอาจเป็นสถานที่ที่ใช้เงินมากพอสมควร ทำให้ผู้ที่เริ่มต้นทำงานสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หรืออาจต้องกู้ยืมเพื่อนำเงินไปท่องเที่ยว ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด ทางที่ดีที่สุดควรเก็บเงินด้วยตัวเองให้เพียงพอเสียก่อน แล้วควรเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่สิ้นเปลืองเงินมากจนเกินไปนัก เพราะอาจทำให้เกิดภาระหนี้สินและก่อให้เกิดความเครียดในภายหลังได้
4. แบ่งเงินสำหรับออมก่อน
ผู้เริ่มต้นทำงานควรเริ่มต้นเมื่อมีรายรับแต่ละเดือนด้วยการหักเงินสำหรับออมออกก่อน ซึ่งหากจะหักเงินออมออกควรคิดไว้ว่าหักกี่เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีภาระค่าใช้จ่ายมากควรออมไว้ 50% ของรายรับ แต่หากว่าผู้เริ่มต้นทำงานมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่าเช่าห้อง ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา ก็อาจลดจำนวนเงินออมเหลือ 40% ก็ได้เช่นกัน จากนั้นให้ผู้ที่เริ่มต้นทำงานหักค่าใช้จ่ายรายเดือน ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าอินเทอร์เน็ตออกก่อน เมื่อมีเงินเหลือจากจำนวนที่หักออกไปสองส่วนข้างต้น ก็นำเอามาหารเพื่อใช้จ่ายประจำวัน หรือประจำสัปดาห์ หากมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายประจำวัน หรือประจำสัปดาห์จึงค่อยนำมาหยอดกระปุก
5. หลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิต
การใช้บัตรเครดิตเปรียบได้ดั่งการกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายก่อนล่วงหน้า หากว่าจำนวนเงินที่ใช้ไปผู้ใช้ไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ทันเวลา ก็อาจจะทำให้เกิดดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งเมื่อนานวันเข้าก็จะยิ่งเพิ่มทวีคูณและเกิดเป็นภาระหนี้สิน ทางที่ดีที่สุดผู้ที่เริ่มต้นทำงานควรหลีกเลี่ยงการเปิดบัตรเครดิตเพื่อลดการเกิดความฟุ้งเฟ้อ หรือใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังและยังเป็นการสร้างนิสัยการใช้เงินเกินตัวอย่างไม่ตั้งใจอีกด้วย
6. ไม่ควรซื้อรถยนต์
ผู้ที่เริ่มต้นทำงานไม่ควรซื้อรถยนต์ เพราะรถยนต์เป็นภาระหนี้สินที่มีเวลายาวนาน ซึ่งด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนในปัจจุบัน รวมไปถึงการปิดตัวลงของบริษัทหลายต่อหลายแห่งอาจจะทำให้ผู้เริ่มต้นทำงานเกิดสภาวการณ์ว่างงานก็เป็นได้ ดังนั้นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับตนเองโดยไม่รู้อนาคตล่วงหน้าคือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
7. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้ผู้เริ่มต้นทำงานมองภาพออกว่าแต่ละเดือนตนเองใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งใดมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์เงินเดือนบางคนมีนิสัยชอบรับประทานร้านอาหารราคาแพงก็อาจลดการไปรับประทานอาหารราคาแพงลงเพื่อเป็นการประหยัดรายได้อีกทางหนึ่งก็เป็นได้ นอกจากนี้การทำบัญชีรายรับรายจ่ายยังช่วยให้ผู้เริ่มต้นทำงานเกิดความรู้สึกต้องการออมเงินมากกว่าเดิมอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม >> ข้อดีของการจด บันทึกรายรับรายจ่าย <<
8. แยกเงินออกเป็นส่วน ๆ สำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน
เคล็ดลับการประหยัดเงินที่ได้ผลมากที่สุดคือการแบ่งเงินออกสำหรับใช้จ่ายในแต่ละวันโดยแบ่งออกเป็นซอง ๆ และนำเงินแต่ละซองมาทยอยใช้ การจำกัดปริมาณการใช้เงินของตนเองจะทำให้ผู้ที่เริ่มต้นทำงานพ้นจากสภาวการณ์ใช้เงินเกินตัวได้อย่างแน่นอน
9. เปิดบัญชีฝากประจำ
การเปิดบัญชีฝากประจำคือการบังคับตัวเองในทางอ้อมให้ทำการเก็บเงิน และนอกจากนี้ยังมีผลตอบแทนที่อยู่ในรูปดอกเบี้ยเงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยมากกว่าการฝากบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาอีกด้วย ซึ่งผู้ที่เริ่มต้นออมเงินสามารถเลือกธนาคารสำหรับเปิดบัญชีฝากประจำ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น
หากผู้ที่เริ่มต้นทำงานรู้จักเก็บเงินนับ แต่ก้าวเข้าสู่สังคมการทำงาน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จได้ครึ่งทางแล้ว เพราะการออมเงินและการรู้จักใช้จ่าย คือบันไดสู่ความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน