มาแล้ว…ใกล้สิ้นปีแล้ว… มาสำหรับพอร์ตกองทุนของเราที่เราทยอยซื้อกันไปนั้นกันดีกว่าว่า กองทุน LTF หรือ RMF ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด แล้วหรือยัง
อย่างที่เคยบอกๆ กันไว้แล้วว่าการลงทุนในกองทุนรวมไม่ว่าจะเป็น LTF RMF หรือกองทุนอื่นๆ เราควรจะทยอยลงทุนทุกเดือน ไม่ควรที่จะมาซื้อครั้งเดียวตอนปลายปี เพราะอะไรนะเหรอ ก็เพราะว่าปลายปีเป็นช่วงที่ทุกคนจะต้องมาซื้อกัน ราคาของกองทุนมันก็จะแพงตามหลักการ ซื้อมาก แพงมากนั่นเอง แต่ถ้าเราทยอยซื้อทุกเดือนก็จะช่วยให้เราลดต้นทุนในการซื้อกองทุนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แล้วสิ้นปีก็ค่อยมาดูว่าที่เราซื้อไปนั้นเราใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหรือเปล่า
ส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้กันแล้วว่า LTF กับ RMF นั้นถ้าซื้อไปแล้วเราจะได้สิทธิทางภาษี 2 ต่อ คือ นำไปรวมเป็นค่าลดหย่อนภาษีในส่วนของ
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
- และค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ซึ่งมีผลทำให้เงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณภาษีนั้นลดลง ตามจำนวนเงินที่เราซื้อกองทุนไป ส่วนต่อที่สอง คือ ผลกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนด (Capital Gain) ไม่ต้องเสียภาษี จึงไม่ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นไปคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเลย
สำหรับจำนวนเงินสูงสุดที่เราจะซื้อกองทุน LTF และ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีได้ ก็คือ ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ และต้องไม่เกินกองทุนละ 500,000 บาท
โดย RMF จะต้องนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ในขณะที่ LTF ไม่ต้องไปรวมกับเงินสะสมใดๆ ถ้าหากเรามีรายได้รวมทั้งปี 1,000,000 บาท เราก็จะสามารถซื้อกองทุน LTF ได้ไม่เกิน 150,000 บาท และสามารถซื้อ RMF ได้อีกไม่เกิน 150,000 บาท
แล้วถ้าหากเรามีการซื้อ LTF หรือ RMF เกินกว่าอัตราสูงสุดที่เราซื้อได้
ความยุ่งยากที่จะตามมาก็คือ จำนวนเงินส่วนเกินที่เราซื้อไปนั้น จะไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี และยังต้องเสียภาษีหากมีกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนจำนวนนั้น และนั่นก็หมายความว่า เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนหน่วยลงทุนแล้ว หากมีกำไรส่วนต่างของราคาที่เรียกว่า Capital Gain จะต้องนำกำไรส่วนเกินจากเงินส่วนที่ลงทุนเกินกำหนด ไปรวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ของปีนั้นด้วย
ทีนี้เรามาลองดูกันดีกว่าว่ารายได้เท่าไรควรที่จะต้องใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อกองทุน LTF หรือ RMF
โดยจะยกตัวอย่างรายได้ที่มาจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยจะใช้ลดหย่อนเฉพาะค่าใช้จ่าย 60,000 บาทและค่าลดหย่อน 30,000 บาท ที่เป็นอัตราสูงสุดที่สรรพากรให้หักเท่ากันทุกคน ส่วนลดหย่อนอื่นๆ ไม่ได้นำมาคิดเพราะแต่ละคนจะมีการลดหย่อนนอกเหนือจากนี้ไม่เท่ากัน
- เริ่มต้นที่เรามีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น 12 เดือนจะมีรายได้ทั้งหมด 180,000 บาทต่อปี
- หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด เราก็จะมีเงินได้สุทธิเท่ากับ 90,000 บาท (180,000-60,000-30,000)
- ดังนั้นเราจึงไม่ต้องเสียภาษี เพราะว่าเรามีเงินได้สุทธิเราไม่ถึง 150,000 บาท เพราะฉะนั้นกรณีนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อ LTF หรือ RMF แต่อย่างใด
ทีนี้เรามาดูกรณีที่มีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีกันบ้าง
- ก็คือจะเริ่มต้นที่รายได้ขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น 12 เดือนจะมีรายได้ทั้งหมด 300,000 บาทต่อปี
- หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด เราจะมีเงินได้สุทธิเท่ากับ 210,000 บาท (300,000-60,000-30,000) ซึ่งเงินได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาท เราจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5% หรือประมาณ 3,000 บาท
- ดังนั้นเราสามารถซื้อ LTF/RMF ได้สูงสุดคือ ไม่เกิน 15% ของ 300,000 หรือ 45,000 บาท นั่นก็หมายความว่าเราสามารถซื้อ LTF ได้ 45,000 บาท และ RMF อีก 45,000 บาท
- แต่ถ้าต้องการให้ประหยัดภาษีได้สูงสุด เราจะต้องซื้อกองทุน LTF 45,000 บาท ลดภาษีได้ 5% หรือ 2,250 บาท (45,000 x 0.05) และให้ซื้อกองทุน RMF เพิ่มอีก 15,000 บาท ก็ลดภาษีได้อีก 5% หรือ 750 บาท (15,000×0.05) เพราะฉะนั้นรวมแล้วเราจะประหยัดภาษีได้ทั้งหมด 3,000 บาท พอดี (2,250+750) ซึ่งทำให้เราไม่ต้องเสียภาษีเลย
จากตัวเลขข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการคำนวณคร่าวๆ เท่านั้น ถ้าต้องการคำนวณเพื่อให้ประหยัดภาษีจริงๆ เราควรจะต้องประเมินตัวเองตั้งแต่ต้นปีเลยว่า เราน่าจะมีรายได้ทั้งหมดประมาณเท่าไร มีรายการลดหย่อนอะไรบ้าง (ประกัน ดอกเบี้ย ฯลฯ) แล้วค่อยมาคำนวณจำนวนเงินที่จะใช้ซื้อกองทุน LTF หรือ RMF กันอีกที เพื่อที่จะทำให้เราได้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด