การศึกษาต่อต่างประเทศเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันของวัยรุ่นแทบทุกคน แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสทำตามความฝันได้สำเร็จ เนื่องจากการศึกษาต่อต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการศึกษาต่อในประเทศค่อนข้างมาก วัยรุ่นที่มีเงินทุนไม่เพียงพอจึงจำต้องเปลี่ยนความตั้งใจและเลือกศึกษาต่อในประเทศแทน บางคนต้องพยายามสอบชิงทุนการศึกษาจากสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐหรือบริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่สนับสนุนเงินทุนให้แก่บุคคลที่มีความตั้งใจ มีความพร้อมและมีความรู้ความสามารถที่จะผลักดันตนเองให้ผ่านการคัดเลือกเพื่อก้าวเข้าสู่สถาบันการศึกษาที่ตนคาดหวัง
เงินทุนเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา นอกจากหาได้จากแหล่งเงินทุนภายนอกแล้วยังหาได้จากแหล่งเงินทุนภายใน คือ การออมเงินด้วยตนเองซึ่งการออมเงินเพื่อให้เพียงพอนั้นจะต้องทราบจำนวนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อวางแผนการออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรายละเอียดค่าใช้จ่ายและการวางแผนการ ออมเงินเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ มีดังนี้
อ่านเพิ่มเติม >> อยากเรียนต่อ กู้เงินที่ไหนได้บ้างนะ <<
1.ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา
ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการศึกษา (ค่าธรรมเนียมแรกเข้า , ค่าธรรมเนียมลงทะเบียน , ค่าขึ้นทะเบียนนักศึกษา,บำรุงห้องสมุด , ค่าธรรมเนียมสารสนเทศ ฯลฯ ) ค่าประกันสุขภาพ , ค่าประกันอุบัติเหตุ โดยทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ผู้เรียนต้องชำระเป็นประจำทุกปี โดยค่าใช้จ่ายแบ่งตามระดับการศึกษาได้ดังนี้
- ค่าหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Course)
เป็นหลักสูตรระยะสั้นประมาณ 6-24 เดือน เพื่อปรับพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษ ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาหรือระดับมหาวิทยาลัยต่อไป ในบางประเทศหากผ่านหลักสูตรภาษาอังกฤษของบางสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสถานศึกษา นักศึกษาสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่เลือกได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียนปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษอีกครั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 300,000 -720,000 บาท
- ค่าเรียนระดับมัธยมศึกษา (High School)
เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีระยะเวลาเรียนประมาณ 5-6 ปีแล้วแต่ละประเทศ เช่น ถ้ามีระยะเวลาเรียน 6 ปีเท่ากับประเทศไทย สามารถเทียบได้ดังนี้ การศึกษาระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทยจะแบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. 1 – 3) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 4 – 6) แต่การศึกษาระดับมัธยมฯในต่างประเทศแบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (เกรด 7 – 8 ) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (เกรด 9 – 12) สำหรับค่าเรียนเฉลี่ยปีละ 230,000บาท – 800,000 บาท
- ค่าเรียนระดับปริญญาตรี (Bachelor Degree)
เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีระยะเวลาเรียนประมาณ 3-4 ปี แล้วแต่ประเทศ ค่าเรียนเฉลี่ยปีละ 250,000บาท -900,000 บาท
- ค่าเรียนระดับปริญญาโท (Master Degree)
เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีระยะเวลาเรียนประมาณ 1-2 ปี แล้วแต่ประเทศ ค่าเรียนเฉลี่ยปีละ 300,000บาท -1,100,000 บาท
- ค่าเรียนระดับปริญญาเอก (Doctor of Philosophy)
เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีระยะเวลาเรียนประมาณ 3-5 ปี แล้วแต่ประเทศ ค่าเรียนเฉลี่ยปีละ 500,000บาท -1,100,000 บาท
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในระดับต่าง ๆ จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษา หลักสูตรการศึกษาและประเทศที่ศึกษา โดยสามารถเรียงลำดับประเทศที่วัยรุ่นให้ความสนใจเข้าศึกษาต่อตามค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ได้ดังนี้
ประเทศ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) > ประเทศสหรัฐอเมริกา > ประเทศนิวซีแลนด์ > ประเทศออสเตรเลีย > ประเทศแคนาดา > ประเทศสิงคโปร์
2.ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ
ประกอบด้วย ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงและสังสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- ค่าเดินทาง
เป็นค่าใช้จ่ายในการโดยสารรถไฟใต้ดิน รถราง รถประจำทาง ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยปีละ 30,000บาท – 95,000 บาท
- ค่าที่พัก
มีค่าเช่าหลายแบบซึ่งสามารถเรียงลำดับระดับราคาได้ดังนี้ บ้านเช่า > ห้องพักเดี่ยว > ห้องพักรวม > โฮมสเตย์ > ห้องพักรวม ทั้งนี้หากเป็นห้องพักในสถานศึกษาจะมีราคาค่าเช่าถูกกว่าภายนอกสถานศึกษาและขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งว่าอยู่ในย่านใด ถ้าเป็นใจกลางเมือง ย่านการค้าขาย ย่อมสูงกว่า ย่านที่อยู่อาศัยและย่านชนบทซึ่งค่าใช่จ่ายเฉลี่ยปีละ 100,000บาท -600,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
เช่น ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าซักรีด ค่าอุปกรณ์ทำความสะอาด เป็นต้น ซึ่งค่าใช่จ่ายเฉลี่ยปีละ 120,000บาท – 180,000 บาท
- ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ขนมต่าง ๆ
ค่าใช่จ่ายเฉลี่ยปีละ 90,000บาท – 110,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงและสังสรรค์ต่าง ๆ
เช่น ค่าตั๋วหนัง ตั๋วคอนเสิร์ต งานสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน เป็นต้น ค่าใช่จ่ายเฉลี่ยปีละ 60,000บาท – 70,000 บาท
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับย่านที่พักอาศัยและประเทศที่พักอาศัย ซึ่งสรุปค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรวมทั้งหมดประมาณ 400,000บาท – 1,055,000 บาทต่อปี ประเทศที่มีค่าครองชีพ (ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ) เรียงลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ ประเทศออสเตรเลีย >ประเทศนิวซีแลนด์>ประเทศสิงคโปร์ > ประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) >ประเทศแคนาดา > ประเทศสหรัฐอเมริกา > ประเทศฮ่องกง
-
การวางแผนการออมเงินเพื่อใช้เป็นทุนศึกษาต่อต่างประเทศ มีดังนี้
- ทำงานพิเศษหรือประกอบอาชีพเสริมที่ตนเองถนัด
เช่น รับจ้างสอนหนังสือ รับจ้างแปลเอกสารภาษาอังกฤษ ขายสินค้าออนไลน์ (แบบสต็อกสินค้าเองหรือแบบ dropship) นำของใช้เก่ามาขายแบบเปิดท้ายหรือขายออนไลน์แบบประมูล
- นำเงินสะสมมาลงทุน
เช่น เล่นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่ดีโดยกระจายการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อลดความเสี่ยง โดยเน้นเก็งกำไรระยะสั้นบางส่วนและถือยาวเพื่อรอเงินปันผลบางส่วน ทั้งนี้ควรแบ่งเงินออมเพื่อลงทุนในตลาดตราสารหนี้ กองทุนและเงินฝากธนาคารด้วยเพื่อความคล่องตัวทางการเงินและเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น
- ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด
เช่น ลดการช็อปปิ้ง ลดการดูหนังตามโรงภาพยนตร์ ลดการกินอาหารนอกบ้าน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยึดคติว่า “คิดก่อนใช้ “ ซึ่งวิธีนี้จะสำเร็จเพียงใดขึ้นอยู่กับความตั้งใจของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ
- ทำงาน part time ระหว่างศึกษา
ซึ่งแต่ละประเทศจะให้สิทธิ์แก่นักเรียนต่างประเทศที่มีใบอนุญาตทำงานเท่านั้น ซึ่งโดยเฉลี่ยจะให้ทำงานไม่เกิน16- 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในบางประเทศให้โอกาสทำงานได้ทั้งในมหาวิทยาลัยหรือทำงานนอกมหาวิทยาลัย
ดังนั้น หากวัยรุ่นต้องการศึกษาต่อในต่างประเทศ ควรเริ่มต้นด้วยการเลือกประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อได้ทราบค่าใช้จ่ายทั้งค่าเรียนและค่าครองชีพและนำไปใช้เป็นตัวกำหนดแผนการออมเงินเพื่อให้มีเงินเก็บมากที่สุดภายในระยะเวลาที่กำหนด