พอใกล้สิ้นปี สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนที่มีรายได้จะต้องจ่ายภาษีให้รัฐ…คือ การดูว่าตัวเองมีรายการลดหย่อนภาษีที่จะเอาไปใช้สิทธิได้เต็มที่หรือยัง… เรามาสำรวจตัวเองกันบ้างดีกว่าว่า เรามีอะไรมาใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง และอะไรที่ยังไม่มีเรายังจะพอหามาเพิ่มเติมเพื่อมายื่นภาษีในต้นปีหน้ากันได้บ้างหรือเปล่า
อ่านเพิ่มเติม >> คำนวณภาษี ปลายปี กันเถอะ ! <<
ใช้ข้อมูลการหักภาษีรายการต่างๆ จากแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2557 ซึ่งคิดว่าในปี 2558 ก็คงไม่ต่างกันเท่าไร เรามาดูกันเลยว่ารายการ อะไรที่ใช้ลดหย่อนภาษี เอามาหักค่าต่างๆ เพื่อใช้คำนวณภาษี แล้วเรามีเพียงพอที่จะทำให้เราประหยัดภาษีได้เต็มที่หรือยัง
คำอธิบายของแต่ละรายการเป็นยังไง มาดูกันเลย…
ค่าใช้จ่าย
จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของรายได้ ส่วนร้อยละ 40 ที่ยกตัวอย่างมาก็คือ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ประเภท เงินเดือน เงินบำนาญ หรือเงินได้ที่ยื่น ภงด.91 เท่านั้น
เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
ต้องเป็นการจ่ายเงินสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียน จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา จัดหาครู ให้กับโรงเรียนตามรายชื่อที่กระทรวงศึกษาฯ กำหนด จ่ายให้กับโครงการของกระทรวงศึกษาฯ ที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพและสถานศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส เด็กพิการ
เงินบริจาคให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย
คือ การจ่ายเงินให้กับสมาคมกีฬาต่างๆ หรือจ่ายให้กับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
เงินบริจาคเพื่อสาธาณะกุศล
น่าจะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย คือ เงินที่จ่ายให้กับวัด มูลนิธิต่างๆ ตามรายชื่อที่สรรพากรกำหนด แต่ถ้าเป็นการบริจาคให้กับ UNICEF หรือ UNHCR เราจะเอามาเป็นรายการหักไม่ได้ เพราะว่าเป็นองค์กรของต่างประเทศ
เงินที่เกิดจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายในปี 2555
ต้องเป็นบ้านใหม่หลังแรก ราคาไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีการโอนภายในปี 2555 ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ
จำนวนเงินที่นำมาลดหย่อนต่อปี = (5,000,000 x 10%)/5 = 100,000 บาท
เพราะฉะนั้นเราจะมีเงิน 100,000 บาท เป็นรายการหักต่อเนื่องถึง 5 ปี
ค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้และคู่สมรส
เป็นรายการหักที่คนที่มีเงินได้ทุกคนได้รับ คนละไม่เกิน 30,000 บาท
ค่าลดหย่อนบุตร
เพื่อส่งเสริมให้เพิ่มประชากรให้กับประเทศ แต่ไม่เกิน 3 คนและต้องเป็นบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่
- มีอายุไม่เกิน 20 ปี แต่ถ้าอายุ 21-25 ปี จะต้องเรียนอยู่ระดับ ปวส.ขึ้นไป
- ได้รับลดหย่อนไม่เกิน 15,000 บาท ต่อคน
- และถ้ายังเรียนอยู่ตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอก ยังได้ค่าลดหย่อนเพื่อการศึกษาบุตรอีกคนละ 2,000 บาท
- สามีภรรยาสามารถลดหย่อนบุตรได้เท่ากันคนละ 15,000 บาท หรือรวมแล้ว 30,000 บาท และรวมค่าการศึกษาบุตรได้อีก 4,000 บาท
ค่าดูแลบิดามารดา
ถ้าพ่อแม่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท เราในฐานะบุตรสามารถนำมาลดหย่อนได้ 60,000 บาท และถ้ามีพ่อแม่ของคู่สมรสที่เข้าเงื่อนไขเราก็สามารถนำมาลดหย่อนได้อีก ถ้าเป็นการยื่นภาษีรวมกัน
ค่าดูแลคนพิการ
เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนพิการ และเราก็มีผู้พิการอยู่ในความดูแลของเรา เราสามารถนำมาลดหย่อนได้อีกไม่เกิน 60,000 บาท โดยคนพิการที่เราดูแลอยู่จะต้องขึ้นทะเบียนและมีใบรับรองแพทย์ด้วย และในกรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้แต่ต้องดูแลบุตรที่ทุพลภาพก็สามารถนำมาลดหย่อนได้อีก 60,000 บาทด้วยเช่นกัน
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดาและมารดา
ต้องเป็นการซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ที่มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท และต้องเป็นบุตรตามกฎหมาย สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป
ลดหย่อนได้ 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นกรมธรรม์อายุ 10 ขึ้นไป และทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย มีการจ่ายผลตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสม และถ้าหากมีการซื้อประกันอุบัติเหตุหรือสุขภาพเพิ่มจะนำส่วนที่ซื้อเพิ่มมาลดหย่อนไม่ได้ สุดท้ายถ้าเรามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เราจะลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ถ้าเรามีการฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวเราสามารถนำมาลดหย่อนตามเงื่อนไขนี้ได้อีกด้วย
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
มีเงื่อนไขในการลดหย่อน คือ เป็นกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป และจะจ่ายผลประโยชน์เมื่ออายุ 55ปี ถึง 85 ปี โดยก่อนหน้าที่จะอายุ 55 ปี ต้องไม่จ่ายเงินทั้งสิ้น
ค่าซื้อกองทุน RMF
จะต้องทำตามเงื่อนไขต่อไปนี้ คือ
- ซื้อ RMF ไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า
- ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี แต่กฎหมายก็ผ่อนผันให้ซื้อเป็นปีเว้นปีก็ได้
- ต้องถือกองทุนทั้งหมด 5 ปีเต็ม
- สามารถสับเปลี่ยนกองทุน RMF ระหว่างกันได้
สำหรับสิทธิในการซื้อกองทุน RMF ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ มีวิธีเช็คสิทธิตามนี้ คือ
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ+กองทุน RMF+กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ+กบข.+กองทุนครูโรงเรียนเอกชน จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนเกิน 500,000 บาทไม่สามารถนำมาลดหย่อนได้
ค่าซื้อกองทุน LTF
มีเงื่อนไขว่าจะต้องถือกองทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี แต่ไม่ได้นับเดือนชนเดือนเหมือนกองทุน RMF ซึ่งทำให้เราถือกองทุน LTF ไม่ถึง 5 ปีก็สามารถขายได้ เช่น ซื้อกองทุน LTF เมื่อ 1 พ.ย. 2558 เราก็สามารถขายได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2562 ได้เลยไม่ต้องรอให้ถึงเดือน พ.ย. 2562 แต่เกณฑ์นี้กำลังจะเปลี่ยนใหม่ให้เราต้องถือกองทุน LTF ให้ครบ 5 ปี โดยนับเป็นเดือนชนเดือนแล้วสำหรับปี 2559
ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน/คอนโด
ต้องทำตามเงื่อนไขที่ว่า เป็นการกู้เงินจากธนาคารในประเทศ กู้เพื่อซื้อบ้าน/ห้องชุดหรือเป็นการกู้เพื่อสร้างบ้านของตนเอง เริ่มกู้ปีไหนก็ใช้สิทธิได้เลยไม่ต้องรอให้ครบ 1 ปี มีเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยกี่แห่งก็นำมาลดหย่อนได้ทั้งหมดแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
เห็นแบบนี้แล้วอย่าลืมที่จะสำรวจรายการลดหย่อนของตัวเองเพื่อที่เราจะได้ใช้สิทธิทางภาษีได้สูงสุด
หาที่ลดหย่อนภาษี พร้อมออมเงินไปพร้อมๆกัน นี่เลย ประกันชีวิต Smart Gain 10/5 จากไทยประกัน >> คลิกเลย