ในจังหวะที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสังคมกระโดดเข้าสู่กระแสวัตถุนิยมอย่างเต็มตัว การใช้ชีวิตในโลกโซเชียลมากขึ้น ภาพการถ่ายเซลฟี่กับมื้ออาหารสุดหรู รองเท้ากีฬารุ่นล่าสุด รถยนต์สปอร์ตคันใหม่ หรือ กระเป๋าแบรนด์เนมสุดฮิต มักจะถูกอัพและแชร์ขึ้นโชว์บนสเตตัสในโลกโซเชียลมีเดียกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับคนที่ไม่ทันกระแส การไม่มีสมาร์ทโฟนดีๆใช้ หรือไม่ได้มีชีวิตในโลกโซเชียลมีเดีย ไม่ใช้ชีวิตตามกระแส กลับกลายเป็นคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ถูกมองว่าเป็นบุคคลเชยๆ
การถูกจัดให้เป็นคนในประเภทไม่ทันทันสมัยเป็นเหมือนตัวกระตุ้นสำคัญให้ใครต่อใครต่างก็หลงบินเข้าไปร่วมวัฎจักร มนุษย์หนี้ กันทั่วหน้า ยิ่งคนที่ไม่ได้รายได้ประจำ ไม่มีงานทำ ยิ่งต้องไขว่คว้าหาเงินเพื่อมาซื้อไลฟ์สไตล์ที่สังคมยอมรับ ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน การใช้เงินผ่านบัตรผ่อนสินค้า การใช้บัตรเครดิตของคุณพ่อคุณแม่ เพราะไม่สามารถอดทนเก็บเงินเพื่อของที่ต้องการได้อย่างทันใจและเบนเข็มมาเลือกยุทธการซื้อก่อนจ่ายทีหลังผ่านรายการบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดทันใจแทน ต้องยอมรับว่าสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ความเข้าใจหลักบริหารเงินนั้นมีน้อยมาก บวกกับความไม่รู้เรื่องการใช้บัตรเครดิตให้ถูกทาง ทำให้คนไทยหลายคนต้องตกอยู่ในสภาวะหนี้ท่วมหัวอย่างที่เราเห็นในรายงานหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2558 นี้ ที่เฉลี่ยออกมาตกครอบครัวละ 120,000 บาทต่อเดือน หรือ กว่า 1.4 ล้านบาทต่อปี
อ่านเพิ่มเติม >> ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ทำให้เป็นหนี้ ! <<
วิธีแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงนิสัยที่ทำให้เป็นหนี้นั้น สามารถเริ่มต้นได้จากการ “เปลี่ยน”
มาใช้จ่ายด้วยเงินสดแทนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต จริงอยู่ว่าการรูดซื้อสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตให้ประโยชน์เรื่องความคล่องตัว ไม่ต้องเบิกเงินสดมาจ่ายนับธนบัตรกันให้วุ่น ไม่ต้องพกเงินสดซึ่งปลอดภัยต่อการถูกชิงทรัพย์ ซึ่งถ้าหากนักช้อปมีกำลังจ่ายไหวตามยอดค่าใช้จ่ายทุกครั้งในแต่ละเดือนก็คงเป็นเรื่องที่เหมาะสมดี แต่ถ้าหากมีความสามารถเพียงแค่จ่ายขั้นต่ำเป็นประจำทุกเดือน หรือบางเดือนแค่ขั้นต่ำยังไม่มีจ่าย ก็ควรเลิกนิสัยรูดบัตรเครดิตพาเพลินเหล่านี้ได้แล้ว การมีบัตรเครดิตติดกระเป๋าก็เหมือนมีเงินในอนาคตสำรองอยู่ในมือแบบไม่อั้น ยิ่งไม่ต้องนับเงินจ่ายผ่านมือ ยิ่งไม่รู้สึกว่าใช้จ่ายไปมากแค่ไหน จะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ใบเรียกเก็บเงินมาส่งถึงบ้าน ถ้านักช้อปที่ต้องการปรับลดอัตราความเสี่ยงที่ทำให้เป็นหนี้ลง ก็ควรเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายจากการจ่ายผ่านบัตรเดบิตแทนบัตรเครดิต เนื่องจากวงเงินในบัตรเดบิตที่มีวงเงินตามที่เรามีอยู่จริง ไม่ก่อให้เกิดการสร้างภาระหนี้โดยไม่รู้ตัว การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตยังช่วยรักษาประโยชน์เรื่องความคล่องตัวในการใช้จ่ายอยู่ แต่จะเป็นการบังคับให้ใช้จ่ายตามวงเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันจริง ๆ
จากข้อมูลของเดลี่ เวิร์ธ ดอท คอม ระบุว่าปัจจุบันนี้ในประเทศอเมริกาผู้คนส่วนใหญ่หันมาเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตแทนการใช้จ่ายด้วยเงินสดเหมือนแต่ก่อน และยังคาดการณ์อีกด้วยว่าในเวลา 10 ปีต่อจากนี้ รูปแบบการใช้จ่ายหลักผ่านบัตรเดบิตจะเติบโตสูงขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องเดินหาตู้เอทีเอ็ม หรือ กดเงินสดจำนวนมาก ๆ ไปจ่ายตามเคาน์เตอร์ธนาคารอีกต่อไป การเปลี่ยนมาช้อปผ่านบัตรเดบิตจึงเป็นการจำกัดค่าใช้จ่ายให้ตนเองไปในตัว คุณยังสามารถใช้วิธีแก้นิสัยการใช้จ่ายด้วยการแบ่งเงินใส่ซองแยกเป็นรายวัน หรือรายสัปดาห์เพื่อคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินเป้า รับรองว่าภายในหนึ่งอาทิตย์ของการซื้อของด้วยเงินสด การช้อปแต่ละครั้งจะใช้สติเพื่อประกอบการตัดสินใจมากขึ้น ที่สำคัญตัดปัญหาเป็นหนี้แบบไม่ตั้งตัวได้ชะงักนัก
อ่านเพิ่มเติม >> ทำไม ? ใครๆก็ใช้ บัตรเดบิต <<
อีกหนึ่งแนวทางเปลี่ยนนิสัยนักช้อปที่น่าสนใจก็คือ ทฤษฎีบวกสิบ
วิธีนี้ทำได้โดยนักช้อปต้องหักเงินทุก ๆ 10% ของมูลค่าสินค้าที่ใช้จ่ายมาเป็นเงินออม หรือ จะหักเท่ามูลค่าของสินค้าชิ้นนั้นได้ก็ยิ่งดี เช่น ถ้าซื้อกระเป๋าหรู 1 ใบก็หักเงิน 10% ของราคากระเป๋ามาเป็นเงินออม หรือถ้าซื้อกาแฟร้านดังดื่มเป็นประจำทุกวันตกแก้วละ 120 บาท ก็หักเงิน 120 บาทมาเป็นเงินออมเช่นกัน หากทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องภายใน 1 เดือนลองมาเปิดกระปุกดูก็จะรู้ว่าแต่ละเดือนหมดเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยมากแค่ไหนเพื่อแลกกับรสนิยมฉาบฉวยที่สังคมสร้างขึ้นมา นอกจากนี้ การเปลี่ยนนิสัยมือเติบมาเป็นมือออมก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม อย่างเช่น สุภาษิตไทยที่ว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” สมมุติว่าวันไหนกลับบ้านมา ไม่ว่าจะมีเศษเหรียญอยู่เท่าไรให้นำมาหยอดลงกระปุกทุกวัน หรือไม่ก็หักเงิน 20 บาทมาสะสมทุก ๆ วัน ก็เป็นการสร้างนิสัยเศรษฐีให้กับตัวนักช้อปเองได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ การอ่านคือการเปิดโลกทัศน์และสร้างมุมมองใหม่ ๆเพื่อบริหารการเงิน การอ่านช่วยสะท้อนตรรกะของความจริงที่ มนุษย์หนี้ ต้องศึกษาไว้ บางคนตกอยู่ในภาวะหนี้เพราะปมในวัยเด็ก บ้างก็ว่าตนเติบโตมาจากครอบครัวที่ยากจนการซื้อข้าวของคือการชดเชยความรู้สึกที่ขาดในตอนนั้น บางคนใช้เงินอย่างไม่รู้คุณค่า ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพราะคิดว่ายังพอมีแรงกำลังในการหาเงินมาเพื่อปรนเปรอกับทุกสิ่งที่ต้องการ จึงทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินกำลังและเป็นต้นตอทำให้เป็นหนี้ในที่สุด เช่นเดียวกันกับคนที่มีฐานะการเงินดี ๆ บางคนก็อ้างว่าเพราะตนเคยมี เคยใช้จ่ายแบบนี้มาแต่เด็ก แม้ปัจจุบันรายได้จะลดลง แต่ก็ยังคงใช้จ่ายมากเหมือนเดิมเพื่อรักษาภาพลักษณ์ทางสังคม สุดท้ายบรรดาเศรษฐีเก่าเหล่านั้นจึงติดนิสัยมือเติบจนทำให้เป็นหนี้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ วิธีแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงนิสัยจากปมในวัยเด็ก ควรตั้งต้นที่การปรับทัศนคติเรื่องการบริหารเงินใหม่ผ่านการอ่านหนังสือสร้างแรงบันดาลใจสู่ความมั่งคั่งทางการเงินอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรื่องเงินสี่ด้าน พ่อรวยสอนลูก ตามรอยบัฟเฟตต์ และ เรียนให้รวย หนังสือเหล่านี้จะช่วยชี้แนะหนทางสร้างนิสัยการออมและรักการลงทุนเพื่อปูทางสู่การเงินที่มั่นคงในอนาคต