หลายท่านอาจจะเคยสงสัยว่า สินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว คืออะไร ซึ่งวัตถุประสงค์ของสินเชื่อส่วนใหญ่นั้น จะมีลักษณะหนึ่งที่มุ่งให้ประโยชน์กับกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ สินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว ได้ทำให้ความฝันของหลายคนเป็นจริงขึ้นมา บางคนมีเวลาว่างแต่ขาดทุนทรัพย์ ซึ่งถ้าจะรอให้มีทุนก่อนไปเที่ยวนั้น อาจจะติดภาระการงานหรือเข้าสู่วัยชราเสียก่อนทำให้การท่องเที่ยวไม่เต็มที่เหมือนการไปท่องเที่ยวในวัยหนุ่มสาว ซึ่งในรายละเอียดของสินเชื่อนั้น อาจจะมีความแตกต่างในเรื่องปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกันอยู่บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละสถาบันการเงินที่ได้ระบุไว้ในระเบียบและขั้นตอน รวมถึงวัตถุประสงค์ของสินเชื่อนั้น
อ่านเพิ่มเติม >> สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของ สินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว <<
ลักษณะพื้นฐานทั่วไป
คุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่ต้องการกู้สินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยวนี้ ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ และสามารถมีกำลังในการผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงินนั้น ๆ ซึ่งทางผู้ให้กู้ส่วนใหญ่ จะพิจารณาจากรายได้หลักหรือบัญชีการเงินที่มีความเคลื่อนไหวของผู้ต้องการกู้ หากแต่เป็นพนักงานประจำส่วนใหญ่แล้วจะพิจารณาผู้ที่มีเงินเดือน 10,000 บาทขึ้นไปเป็นหลัก แต่ทั้งนี้อาจจะมีข้อมูลที่นอกเหนือจากนี้ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ทางผู้ให้กู้ได้กำหนดไว้
จำนวนเงิน
ในเรื่องของวงเงินที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ให้อนุมัตินั้น หลัก ๆ แล้ว จะมีการแบ่งวงเงินที่ให้กู้ออกเป็น 2 ประเภทคือ
- กรณีท่องเที่ยวในประเทศ
- กรณีท่องเที่ยวต่างประเทศ
ซึ่งวงเงินนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามหลักการของแต่ละสถาบันการเงิน
ระยะเวลาการชำระเงินคืน
เช่นเดียวกันกับเรื่องจำนวนเงินที่ให้กู้ เพราะระยะเวลาการชำระเงินคืนนั้น ก็จะถูกแบ่งแยกออกตามวงเงินที่ให้กู้เช่นกัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะแยกเป็นแบบผ่อนชำระ 2 ปีไปจนถึง 5 ปี อาทิ เช่น หากกู้ในกรณีท่องเที่ยวในประเทศก็จะเลือกผ่อนชำระได้ในระยะเวลาที่น้อยกว่ากู้ในกรณีที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศ ส่วนเรื่องวันที่เริ่มต้นของให้ผ่อนชำระของสินเชื่อประเภทนี้นั้น จะมีระบุไว้ในสัญญาทั้งสิ้น ผู้กู้จึงควรอ่านข้อมูลในสัญญาอย่างละเอียดให้ดีเสียก่อน โดยข้อตกลงในสัญญาส่วนใหญ่จะระบุไว้ว่า กำหนดเวลาการชำระคืนนั้นต้องรวมกับอายุผู้กู้ต้องไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
อัตราดอกเบี้ย
ส่วนใหญ่แล้วการคิดอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่หลายคนนำมาตัดสินใจว่าจะขอสินเชื่อท่องเที่ยวดีหรือไม่อย่างไร เพราะนั่นหมายถึงการสร้างหนี้สินที่มีภาระพอสมควร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่นำมาคิดทั้งการท่องเที่ยวภายในประเทศและภายนอกประเทศนั้นจะอยู่ในอัตราส่วนที่ไม่เท่ากัน (ซึ่งปัจจุบันนี้ MLR จะเท่ากับ ร้อยละ 6.00 ต่อปี)
หลักค้ำประกัน
ส่วนใหญ่แล้วเรื่องการค้ำประกันนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญของทุกสถาบันการเงิน เพราะการเปิดให้กู้ยืมสินเชื่อท่องเที่ยวในลักษณะนี้ บางครั้งไม่ต้องมีการขอดูเอกสารค้ำประกันก็มีในบางกรณี แต่หากมีการขอดูเอกสารหรือขอข้อมูลผู้ค้ำประกัน ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องมีลักษณะดังนี้ คือ อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ประกอบอาชีพส่วนตัว หรือทำงานในรูปแบบหรือระบบงานที่เป็นองค์กรที่สามารถตรวจสอบได้ และต้องทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี
การจ่ายเงินกู้
ส่วนใหญ่การจ่ายเงินกู้ให้กับผู้กู้นั้น จะนิยมจ่ายแบบครั้งเดียวครบจำนวน หรืออาจจะเป็นแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้กู้เและผู้ให้กู้ตกลงกันเอง
กรณีชำระเงินกู้คืนตามสัญญา
ส่วนใหญ่มีการชำระได้ 2 แบบนั่นก็คือ การชำระแบบหักออกจากบัญชีเงินฝากทุกเดือน หรือมีเอกสารเรียกเก็บแบบใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายทั่วไป
เงื่อนไขที่อาจพบเห็นได้สำหรับสินเชื่อท่องเที่ยว
- ผู้กู้อาจจะต้องมีหลักฐานมายืนยันว่า ผู้กู้ได้นำเงินกู้ส่วนนี้ไปท่องเที่ยวตามวัตถุประสงค์ของสินเชื่อท่องเที่ยวจริง ๆ ซึ่งอาจจะยืนยันโดยการนำตั๋ว หรือแพ็คเกจการท่องเที่ยวที่ซื้อครั้งนั้นมาใช้อ้างอิงเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขออนุมัติ
- อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับข้าราชการทั่วไป ที่ไม่ต้องมีบุคคลมาค้ำประกันในการทำเรื่องขออนุมัติสินเชื่อ
- สัญญาหรือข้อกำหนดแบบแผนในสัญญาประเภทนี้ อาจมีเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขึ้นอยู่กับทางสถาบันการเงินนั้น หากต้องการขออนุมัติสินเชื่อท่องเที่ยวในลักษณะนี้ ก็ควรศึกษารายละเอียดให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง ก่อนการตัดสินใจ
รายชื่อสถาบันการเงินและธนาคารที่เปิดให้มีการยื่นขอสินเชื่อท่องเที่ยวในปัจจุบัน
1. ธนาคารออมสิน
2. อิออน ธนสินทรัพย์
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
ข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาทำความเข้าใจในรูปแบบและรายละเอียดของสินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยวนี้ ควรจะเริ่มดูในเรื่องอัตราการคิดดอกเบี้ยและวงเงินที่สถาบันการเงินนั้น ๆ ให้กู้ยืม โดยต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการผ่อนชำระและจำนวนเงินในการชำระแต่ละครั้งให้ถี่ถ้วนและชัดเจน เพราะหากไม่รอบคอบแล้ว ก็อาจจะต้องเป็นหนี้สินในระยะยาวก็อาจเป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการวางแผนในการจัดการของผู้ขอกู้
สินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยว จึงเป็นอีกหนึ่งสินเชื่อรูปแบบใหม่ที่เปิดตัวออกมาในช่วงเวลาปัจจุบันเพื่อส่งเสริมให้คนไทยออกมาท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ดีในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยวนั้น ควรจะคำนึงถึงคุณสมบัติของตนเองล่วงหน้า คือ มีความสามารถเพียงพอที่จะชำระหนี้คืนได้ในอนาคตตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด เพราะมิเช่นนั้นแล้ว หลังจากการท่องเที่ยวอย่างมีความสุขก็อาจจะมีความทุกข์ตามมาเนื่องจากมีภาระหนี้เกิดขึ้น