บัตรเครดิต VISA หรือ Master Card มีวัตถุประสงค์หลักในการใช้จ่ายไม่แตกต่างกัน นั่นคือ เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือธรรมเนียมการใช้วงเงิน หากเพียงจ่ายเงินที่ค้างชำระกับบริษัทบัตรเครดิต ได้เต็มจำนวนและตรงตามกำหนดเวลา นอกจากนั้นบัตรเครดิตยังมีคุณลักษณะคล้ายกับบัตรกดเงินสด คือ สามารถใช้เบิกถอนเงินสดได้จากตู้ ATM ได้เช่นเดียวกัน โดยจำนวนเงินสดที่สามารถถอนออกมาใช้ได้นั้น จะถอนได้ไม่เกินวงเงินคงเหลือในบัตรเครดิต
การเบิกถอนเงินสดส่วนใหญ่ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ เช่น เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการด้วยเงินสด (ใช้สำหรับร้านค้าที่ไม่รับบัตรเครดิต หรือชำระด้วยเงินสดจะได้รับส่วนลด) เพื่อซื้อทรัพย์สิน เพื่อการชำระหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ เพื่อการลงทุน เป็นต้น แต่กระนั้น การเบิกถอนเงินสดก็ไม่ใช่ธุรกรรมที่ได้รับการยกเว้นการคิดอัตราดอกเบี้ยเหมือน เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจกดเงินสดออกมาใช้จ่าย ควรคิดให้รอบคอบ เพราะเงินที่ได้มามีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าการกู้เงินกับสถาบันการเงินประเภทธนาคารพาณิชย์
หลักการคิดคำนวณ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตแบบลดต้นลดดอก จะต้องทราบข้อมูล 4 ส่วนก่อน นั่นคือ
1. อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต
คือ อัตราดอกเบี้ยการใช้วงเงินบัตรเครดิต ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแต่ละสถาบันการเงิน (บริษัทบัตรเครดิต) จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละแห่งเป็นหลัก หากเปรียบเทียบกับการใช้วงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยประเภทนี้จะเหมือนดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทหมุนเวียน (Overdraft) หรือ เงินกู้ประเภทประจำ (Term Loan) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะคิดจากต้นทุนทางการเงินของแหล่งเงินทุนที่สถาบันการเงินได้เงินกู้นั้นมารวมกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการ รวมกับผลประโยชน์ (ผลกำไร) ที่สถาบันการเงินต้องการได้รับ โดยส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต จะกำหนดไม่เกิน 15 % ต่อปี ซึ่งคิดจากยอดเงินสดที่เบิก (ครั้งแรกที่เบิกเงินสด) หรือ คิดจากยอดค้างชำระ (ครั้งถัดไป หากยังชำระหนี้ไม่หมด) สำหรับระยะเวลาที่เริ่มคำนวณจะคิดตั้งแต่วันที่ทำรายการเบิกถอนเงินสด
2. ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน
คือ ค่าใช้จ่ายบริการที่สถาบันการเงินให้บริการเงินสดล่วงหน้าแก่ผู้ใช้บัตรเครดิต ซึ่งค่าธรรมเนียมแต่ละสถาบันการเงิน (บริษัทบัตรเครดิต) ก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละแห่งเป็นหลัก และหากเปรียบเทียบกับการใช้วงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ ค่าธรรมเนียมนี้ก็จะคล้ายกับค่าธรรมเนียมการให้บริการด้านสินเชื่อ ที่ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ (Management Fee) และค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการ (Front End Fee) แต่ต่างกันตรงที่ธนาคารพาณิชย์จะคิดค่าธรรมเนียมทั้งหมดเพียงครั้งแรกที่ขอวงเงินกู้เท่านั้น โดยส่วนใหญ่ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินบัตรเครดิต จะกำหนดไม่เกิน 5% ต่อปี ซึ่งคิดจากยอดเงินสดที่เบิก (ครั้งแรกที่เบิกเงินสด) หรือ คิดจากยอดค้างชำระ (ครั้งถัดไป หากยังชำระหนี้ไม่หมด) สำหรับระยะเวลาที่เริ่มคำนวณจะคิดตั้งแต่วันที่ทำรายการเบิกถอนเงินสด
** อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินบัตรเครดิตที่บริษัทบัตรเครดิตคิดกับผู้ใช้จ่ายบัตรเครดิตรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 20% ต่อปี ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด **
3. ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด
คือ ค่าใช้จ่ายให้บริการอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งจะคิดในกรณีมีการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตเท่านั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมประเภทนี้จะคิดในอัตรา 3% ต่อปี ของยอดเงินที่เบิกถอนในแต่ละครั้ง และยังคิดรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของยอดค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดทั้งหมดด้วย
4. ยอดเงินที่เบิกถอนครั้งแรก และ ยอดเงินชำระในแต่ละครั้งในแต่ละรอบบิล
เมื่อทราบข้อมูลทั้ง 4 ส่วน ก็จะสามารถคำนวณหา ดอกเบี้ยบัตรเครดิตแบบลดต้นลดดอก ได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
สมมติให้
- อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต = 15% ต่อปี
- ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน = 5% ต่อปี
- ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสด = 3% ต่อปี
- มียอดเบิกถอนเงินสดครั้งแรกจำนวน 40,000 บาท และจะผ่อนชำระเดือนละ 2,000 บาท ซึ่งวันสรุปยอดบัญชี คือวันที่ 12 มีนาคม
- กำหนดชำระวันที่ คือ วันที่ 27 มีนาคม โดยวันที่เริ่มเบิกเงินคือวันที่ 1 มีนาคม
ดังนั้น การคำนวณจะเป็นดังนี้
ลำดับเหตุการณ์
วันที่ 1 มีนาคม เบิกเงินสดจากบัตรเครดิตจำนวน 40,000 บาท
วันที่ 1 มีนาคม ถึง วันที่ 12 มีนาคม (รวม 12 วัน) สถาบันการเงินจะคิดค่าใช้จ่าย ดังนี้
- ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน = (40,000 X20%X12) / 365 = 263.01 บาท —– A
- ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดและภาษีมูลค่าเพิ่ม (7%) = (40,000 X3%) X (1+7%) = 1,284 บาท —– B
- เมื่อถึงวันสรุปยอดบัญชี วันที่ 12 มีนาคม จะมีรายการที่ต้องชำระ = ยอดเงินที่เบิก + A + B = 41,547.01 บาท
วันที่ 12 มีนาคม ใบแจ้งยอดการใช้จ่ายประจำเดือนมีนาคม แสดงยอดเงินที่เรียกเก็บทั้งหมดเท่ากับ 41,547.01 บาท
วันที่ 13 มีนาคม – 26 มีนาคม (รวม 14 วัน) เป็นช่วงเวลาก่อนการชำระเงิน สถาบันการเงินจะคิดค่าใช้จ่าย ดังนี้
- ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน = (40,000 X20%X14) / 365 = 306.85 บาท
วันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดชำระยอดคงค้าง ซึ่งผู้ใช้บัตรเครดิต ชำระเงินจำนวน 2,000 บาท
วันที่ 27 มีนาคม ถึง 12 เมษายน (รวม 17 วัน) เป็นช่วงเวลาหลังการชำระเงิน สถาบันการเงินจะคิดค่าใช้จ่าย ดังนี้
- ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน = ( (41,547.01-2,000) X20%X17) / 365 = 368.38 บาท
วันที่ 12 เมษายน ใบแจ้งยอดการใช้จ่ายประจำเดือนเมษายน แสดงยอดเงินที่เรียกเก็บทั้งหมดเท่ากับ 40,222.24 บาท
- ซึ่งคิดคำนวณจาก เงินที่เบิก + ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนการชำระเงิน – เงินที่ชำระ + ค่าใช้จ่ายทั้งหมดหลังการชำระเงิน
- = 40,000 + 263.01 + 1,284 + 306.85 – 2,000 +368.38 = 40,222.24 บาท
สรุป ยอดค้างชำระคงเหลือทั้งหมดของผู้ใช้จ่ายบัตรเครดิตเท่ากับ 40,222.24 บาท
เมื่อผู้ใช้จ่ายบัตรเครดิตทราบหลักการคิด ดอกเบี้ยบัตรเครดิตแบบลดต้นลดดอก ควรจะนำไปประยุกต์เพื่อใช้บริหารเงินที่ต้องจ่ายชำระให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นมากจนไม่สามารถชำระคืนสถาบันการเงินได้ และก่อนเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต ควรจะหาแหล่งเงินกู้อื่น เพื่อเป็นทางเลือกในการเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจ
อ่านเพิ่มเติม >> ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คิดง่ายๆ ไม่เสียรู้ <<