ด้วยสัญชาตญาณนักช้อปที่มีอยู่ในร่าง เมื่อพบเห็นป้าย Sale ป้ายลดราคาสีแดง ๆ ทีไรเป็นต้องกระโจนเข้าใส่กันไม่ยั้งอย่างลืมตัว ของลดราคาใคร ๆ ก็ชอบค่ะ หรือแม้แต่ในขณะที่คุณเดินเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ในซุปเปอร์มาร์เกตห้างดัง คุณอาจจะไม่รู้สึกว่าคุณกำลังอยู่ในสนามแข่งลดราคาที่พากันติดป้าย “ซื้อ 2 ชิ้นคุ้มกว่า” หรือ “รับของแถมในแพคเกจ” และ “โปรโมชั่นพิเศษเพิ่มขนาดใหญ่กว่าเดิม” กระตุ้นและล่อหลอกด้วยข้อเสนอที่ทำให้คุณสับสน ณ จุดขายสินค้า หรือ Point of Sale เรียกว่าปล่อยหมัดเด็ดกันจนวินาทีสุดท้ายเลยหล่ะค่ะ เพราะเป็นจังหวะหัวโค้งสุดท้ายแล้วว่าแบรนด์ไหนจะเข้าวิน ซึ่งวัดผลกันที่ลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าของแบรนด์ไหนที่ในความรู้สึกของลูกค้าเป็นแบรนด์ที่เสนอราคาถูกที่สุดและคุ้มค่าที่สุดค่ะ
บ่อยครั้งที่ กลยุทธ์ตั้งราคาสินค้า ถูกงัดออกมาใช้กัน ทั้ง ๆ ที่สินค้าตัวนั้นราคาก็ไม่ได้สูงมากอยู่แล้ว แต่คุณเชื่อเถอะว่า ส่วนต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในสินค้าทั่ว ๆ ไปที่ผู้ใช้ยังมองไม่เห็นความแตกต่างของสินค้าแต่ละแบรนด์อย่างชัดเจนนะคะ ทีนี้ ถ้าคุณเองก็มองหาเคล็ดลับที่จะช่วยให้แบรนด์สินค้าของคุณดูเป็นข้อเสนอด้านราคาที่น่าสนใจมากกว่าแบรนด์คู่แข่ง หรือในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งคุณก็ควรที่จะรู้เท่าทัน กลยุทธ์การตลาดตั้งราคาสินค้าให้ดูคุ้มค่ากว่าที่คิดกันสักนิดนะคะ ว่าเขาคิด เขาทำแฝงกันมาอย่างไร
แบบที่ 1 เป็นกลยุทธ์การตลาดราคาสินค้าที่สามารถพบเห็นกันได้บ่อย ๆ ในธุรกิจร้านอาหาร และ โรงแรม นั่นคือ “ราคานี้ยังไม่รวม”
โดยจะเลือกใช้ราคาสินค้าก่อน VAT หรือ ราคาค่าบริการต่าง ๆ ของทางร้าน เชื่อว่าคุณน่าจะเคยเจอประสบการณ์ด้านราคาแบบนี้จากร้านบุปเฟ่ห์ หรือ ร้านอาหารกันมาบ้างแล้ว หรืออย่างเช่นในกรณีที่เป็นธุรกิจให้บริการรถเช่า ก็อาจจะเลือกโฆษณาค่าเช่ารถไว้อย่างเดียว แต่มีเงื่อนไขพวงไว้ว่าราคานี้ยังไม่รวม ค่าน้ำมัน, ค่าพนักงานขับรถ, ค่าล่วงเวลา, ค่าทางด่วน และ ค่าที่จอดรถ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณควรรู้และควรสังเกตให้ดีในการเลือกเข้ารับบริการร้านอาหารก็คือการใส่เครื่องหมาย “++” นั้นล้วนแต่มีความหมายนะคะ
- สมมุติว่าเขาใส่เครื่องหมาย “++” ก็คือทางร้านจะคิดค่าบริการ service charge ก่อน จากนั้นก็ค่อยคิดเพิ่มส่วนของภาษีอีกต่อหนึ่ง ซึ่งค่า service charge โดยเฉลี่ยทั่ว ๆ ไปก็จะอยู่ที่ 10% และบวกเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปอีก 7% ค่ะ
- แต่ถ้าทางร้านใส่เครื่องหมาย “+” แบบนี้อย่างเดียว ก็จะหมายถึงทางร้านจะคิดเพิ่มในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้นค่ะ
ส่วนความคิดเห็นที่ว่าร้านแบบไหนควรคิดค่า service charge ได้บ้าง อันนี้ก็อยู่ที่แนวคิดการทำธุรกิจของแต่ละแบรนด์ บางร้านอาจจะมองว่าการที่ทางร้านได้จัดเตรียมโต๊ะสวย ๆ ตกแต่งจานอาหารดี ๆ ,มีห้องน้ำไว้บริการลูกค้า หรือ มีบริการจัดส่งถึงบ้าน ทั้งหมดคือต้นทุนการบริการและนับเป็นส่วนหนึ่งของค่า service charge ที่ทางร้านสามารถเรียกเก็บเพิ่มเติมได้แล้วค่ะ ส่วนเรื่องทิป หรือ น้ำใจที่ผู้ใช้บริการจะให้กับพนักงานของร้านนั้น เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยากจะแยกออกมาอยู่เหมือนกัน เพราะหลาย ๆ ครั้ง ผู้บริโภคเมื่อเห็นว่าทางร้านเรียกเก็บค่าบริการแล้ว ก็เหมารวมว่า ไม่จำเป็นต้องให้ทิปกับพนักงานเพิ่มอีก เมื่อกลยุทธ์การตลาดเรื่องราคาในปัจจุบันผันเปลี่ยนไป การให้ทิปนั้น น่าจะดูที่ความเหมาะสมของการได้รับบริการจากพนักงานมากกว่า เป็นเงินคนละส่วนกันชัดเจนอยู่ค่ะ
นอกจากนี้การช้อปปิ้งสินค้าบางประเภทในต่างประเทศนั้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็คทรอนิคส์, อุปกรณ์ไอที หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ อย่าได้เผลอมองป้ายราคาของสินค้าเพียงอย่างเดียวนะคะ ควรตรวจสอบและเช็คให้ดี ๆ ก่อนว่ามีภาษีอะไรที่คิดเพิ่มต่างหากหรือเปล่า ไม่อย่างนั้น คุณอาจจะเจอเข้าการคิดค่าบริการแปลก ๆ อย่างเช่น ค่า Electronic Waste Recycling Fee (E-waste) ที่มักจะบวกเพิ่มจากราคาสินค้าในอเมริกา ซึ่งเขาคิดเป็นค่าธรรมเนียมจากการรีไซเคิลสำหรับสินค้าประเภทอิเล็คทรอนิคส์บางอย่าง ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าโดยไม่ทันตั้งตัวค่ะ
แบบที่ 2 เป็นกลยุทธ์ที่มาเนียน ๆ แต่ไม่จริงใจเท่าไร คือ การคงราคาไว้เท่าเดิม แต่ลดปริมาณลง
ที่เป็นตัวอย่างชัด ๆ ก็ตรงพวกขนมชขบเคี้ยวกรุบกรอบบรรจุถุงทึบพองลม ที่เมื่อแกะห่อออกคุณก็จะรับรู้ได้ถึงปริมาณของสินค้าที่ลดน้อยลงเหลือไม่ถึง 10 ชิ้นในบางแบรนด์สินค้า หรือในบางกรณี ก็อาจจะทำกลยุทธ์การตลาดออกมาในลักษณะปรับโฉมแพคเกจจิ้งให้มีขนาดเล็กลงและใช้จังหวะนั้นปรับลดปริมาณลงไปพร้อมกันเลย โดยยืนราคาเท่าเดิม พร้อมกับยิงแคมเปญการตลาดว่า “ปรับโฉมใหม่ราคาเดิม” แต่ที่ไม่แนะนำให้นำมาใช้เป็นกลยุทธ์การตลาดเลยก็คือ การปรับรสชาติ หรือ คุณภพของสินค้าลง จากเคยรสจัดจ้านก็ปรับส่วนผสมให้น้อยลงเพื่อรักษาต้นทุนจนลืมจุดขายของแบรนด์ไป ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ได้รับผลกระทบและการจะกู้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับคืนมานั้น ยากกว่าเยอะ ถ้าพลาดก็อาจจะหายไปจากตลาดได้เลยนะคะ
อ่านเพิ่มเติม >> พ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ ตั้งราคาสินค้า ยังไงได้กำไรดี <<