หนึ่งในปัญหาหนักอกของมนุษย์เงินเดือนและเป็นปัญหาใหญ่มากๆที่หลายคนต่างขวัญผวานั่นก็คือ ปัญหาเงินไม่พอใช้และปัญหาหนี้สิน แทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะเงินเดือนชื่อก็บอกแล้วว่าให้ใช้สำหรับหนึ่งเดือนได้อย่างพอดี แต่ทำไมหนอมันถึงหมดแทบจะต้นเดือนในบางคน จนถึงกับกู้หนี้ยืมสินใช้เลยก็มี ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาหาหนทางแก้ไขปัญหานี้กันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดปัญหายุ่งๆที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงขอนำข้อมูลดีๆในการ บริหารเงินเดือน ให้ชนเดือนมาแบ่งปันกัน ดังนี้
-
จัดการแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ
เมื่อได้รับเงินเดือนปุ๊บสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การจัดการแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบ้าน ค่ารถ ค่ากินค่าใช้ที่หารออกมาเป็นวันๆ ค่าใช้หนี้เป็นต้น จากนั้นพอเหลือเงินก็อาจจะหักออกอีกเป็นเงินฝาก และหากยังมีเงินเหลืออีกนั่นแหล่ะคือเงินใช้จ่ายปลีกย่อยที่คุณ ไม่ว่าจะเป็นค่าช็อปปิ้ง ค่ากินเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อนร่วมงาน ค่าจัดงานวันเกิด อะไรก็ได้ที่คุณอยากทำ แต่ถ้ามันเหลือน้อยหรือไม่เหลือเลยก็อาจจะงดกิจกรรมเหล่านี้ลงบ้าง รอมีเงินพิเศษอะไรเข้ามาค่อยใช้ก็แล้วกัน นอกจากนี้ถ้าสะดวก แนะนำว่าให้หักเงินออกเป็นเงินออมตั้งแต่วันแรกที่ได้เงินเดือนเลยจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราอุ่นใจมากขึ้น ว่าอย่างไรซะ เราก็มีเงินออมอยู่บ้างแล้วนั่นเอง โดยเงินออมที่หักออกไปนั้น อาจจะหักตั้งแต่ 10%-30% เลยก็ได้
อ่านเพิ่มเติม >> บริหารเงิน ตามหมวด ช่วยชีวิตมนุษย์เงินเดือน <<
-
แบ่งเงินใช้เป็นวัน
เมื่อคุณแบ่งเงินส่วนๆในข้อแรกได้แล้ว จากนั้นก็เอาเงินส่วนที่คุณจะกินและใช้ในแต่ละวันออกมา เช่นคุณคิดหารออกมาได้วันละ 200 บาท ก็นำมาใช้แค่นั้นแหล่ะ เหมือนตอนที่เรายังเป็นนักเรียนคุณแม่ให้มาแค่ไหนเราก็ใช้แค่นั้น ไม่มีคำว่าเกินตัวแน่นอน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราควบคุมค่าใช้จ่ายของเราได้ดี เพราะจิตสำนึกที่บอกว่าวันนี้เรามีเงินใช้อยู่แค่นี้นะ จะทำให้เราไม่กล้าใช้เงินเกินตัว ทีนี้ในแต่ละเดือนเราก็จะมีเงินเหลือใช้ตลอดเดือนอย่างแน่นอน
-
ทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย
ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะคุณจะได้ทราบว่าทุกวันนี้คุณหมดค่าใช้จ่ายไปกับอะไร จำเป็นหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเดินๆไปเห็นคนนำสินค้ามาลดราคาก็ตรงเข้าไป รู้ตัวอีกทีก็เงินหมดกระเป๋าแล้ว ทั้งๆที่ของสิ่งนี้ที่ซื้อมาเราไม่ได้ใช้เลยในทันที หรือเห็นโทรศัพท์รุ่นใหม่ อยากได้มากก็ซื้อเลย แต่วันที่เหลือหลังจากนี้อาจไม่มีเงินกินเลย อย่างนี้ก็ไม่ดี ทางที่ดีถ้าเจอก็เดินหันหลังกลับหรือเดินเลี่ยงไปทางอื่นเลย
อ่านเพิ่มเติม >> 7 ขั้นตอน ทำบัญชีรายรับรายจ่าย อย่างง่าย <<
สำหรับรายละเอียดที่ควรมีในบัญชีรายรับ-รายจ่าย คือ ช่องแรก วัน/เดือน/ปี ช่องที่สอง รายรับ ที่กรอกทั้งเงินเดือนและรายได้อื่นๆ ช่องที่สาม รายจ่าย คือรายจ่ายทุกอย่างที่เราจ่ายออกไป และช่องหมายเหตุ คือให้ความหมายว่าเราจ่ายเงินนี้ไปเพราะอะไร ทำไมต้องจ่าย ที่สำคัญห้ามโกงตัวเองเป็นอันขาด ใส่ตัวเลขลงไปให้ครบ ซึ่งก็คงทำได้ไม่ยาก เพราะสมัยเรียนก็คงเคยทำกันมาแล้ว ก็น่าแปลกใจเหมือนกันว่าของดีๆแบบนี้ทำไมเราไม่ทำกันต่อเมื่อโตขึ้น ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ
-
ปิดหนี้สินที่มีให้หมด
หากคุณมีหนี้ ทางเดียวคือต้องใช้คืนให้หมดค่ะ ไม่ว่าจะมีเหลือจากใช้หรือมีเงินพิเศษอะไรเข้ามา 50 หรือ 100 หรือ1,000 นำเงินนั้นมาใช้หนี้ในทันที เพราะยิ่งเก็บนานวันดอกเบี้ยก็มีแต่จะทวีคูณ บางครั้งดอกทบไปทบมามากกว่าเงินต้นเสียอีก ลองคิดทบทวนดูว่าเป็นจริงหรือไม่ หากเรารีบตัดเสียตั้งแต่เนิ่นๆหนี้ก็จะได้ไม่บานปลาย หรืออาจมองหาวิธีหารายได้เพิ่มก็ยิ่งดีใหญ่
และเมื่อลองสังเกตดูทุกๆปัญหาในเรื่องการเงินก็ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากตัวคุณเองทั้งสิ้น เพราะการที่เราไม่รู้จักวางแผนการใช้เงิน ใช้เงินเกินตัว จนทำให้เราไม่มีเงินพอใช้และเกิดปัญหากู้หนี้ยืมสินในที่สุด ซึ่งก็คงจะโทษใครไม่ได้ก็ต้องโทษตัวเราเอง เพราะฉะนั้นแล้วพยายามอย่าก่อหนี้สินขึ้นมาจะดีกว่า หรือถ้าคุณมีหนี้สินมากองอยู่แล้ว ก็ควรรีบปลดให้หมด เพื่ออิสระภาพทางการเงินของตัวคุณเอง
ดังนั้นต่อจากนี้ไป ก่อนใช้เงินทุกครั้งเราต้องมีสติ คิดก่อนเสมอสิ่งนี้จำเป็นหรือไม่ ซึ่งถ้าเรานำวิธีการ 4 ข้อด้านบนมาใช้ ปัญหาการเงินมันก็จะไม่เกิดขึ้น และอาจจะแปลกใจว่า เอ๊ะ ทำไมเดือนนี้เงินจึงพอใช้อย่างสบายๆจนถึงสิ้นเดือน ไม่ต้องมาอดกินมาม่าหรือไข่ทอดเหมือนที่ผ่านมา และที่แปลกใจมากที่สุดคือยอดเงินฝากเรามีด้วยหรือนี่ ทำไมหนี้สินเราลดลง มันไม่ยากถ้าคุณเริ่มทำตั้งแต่วันนี้
เพราะฉะนั้นแล้ว วันนี้เรามาเริ่มบริหารการเงินของเราให้พอใช้ตลอดทั้งเดือนกันดีกว่า และไม่ใช่แค่เดือนเดียวเท่านั้นนะ แต่เราควรมีเงินเหลือใช้ตลอดทุกๆ เดือน และที่สำคัญจะต้องมีเงินเก็บด้วย แค่นี้เราก็จะมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นแล้วล่ะ