ช่วงนี้กระแสรำลึกความหลังเมื่อวัยเยาว์ของคนอายุล่วงเลยมาเกือบ ๆ จะหลักสี่แล้วกำลังมา อาจจะเพราะว่าคนกลุ่มนี้ ในปัจจุบัน คือกลุ่มที่มีรายได้มั่นคงและมีกำลังซื้อกันมากขึ้น ที่สำคัญคือเริ่มพูดคุยเรื่องราวในอดีตกันถี่และบ่อยมากขึ้น จึงไม่แปลกที่กลยุทธ์การตลาดของสินค้าหลาย ๆ ชนิด ทั้งภาพยนตร์, ละคร, ดนตรี, เครื่องดื่ม และ รองเท้า จะพาเหรดกันมาชวนลูกค้าวัยนี้นั่งไทม์แมนชีนย้อนความหลังผ่านกาลเวลากันยกใหญ่
อ่านเพิ่มเติม >> กลยุทธ์รำลึก การตลาดย้อนเวลา Nostalgic Marketing <<
และถ้าจะเอ่ยถึงแบรนด์รองเท้านักเรียนที่ป็อบฮิตกันที่สุด ย้อนไปเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว นักเรียนหญิงหลาย ๆ คนน่าจะจดจำแบรนด์รองเท้าพื้นด้านในเป็นสีเหลืองกันได้เป็นอย่างดี แบรนด์รองเท้า Bata บาจา นั่นเองค่ะ คนจำนวนไม่น้อยเคยเผลออ่านออกเสียงแบรนด์นี้ว่า บาทา จะว่าไปอันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักหรอกค่ะ เพราะชื่อที่สะกดเป็นภาษาอังกฤษนั้น เขียนชวนให้ออกเสียงว่า บาทา ในภาษาไทยอยู่เหมือนกัน บวกกับสินค้าที่ขายก็เป็นอะไรที่เกี่ยวกับเท้าซะด้วยสิ แต่แบรนด์ดังในตำนาน Bata นี้ แท้จริงแล้วเป็นแบรนด์สัญชาติต่างประเทศนะคะ
ย้อนไปเมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว จากจุดตั้งต้นของการทำรองเท้าหนังแบบเย็บมือที่ถือว่าเป็นมรดกทางปัญญาและงานฝีมือที่บรรพบุรุษส่งต่อมาให้รุ่นลูกรุ่นหลานตกทอดกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นต่อไป จนกระทั่งในช่วงปี 1894 โทมัส บาจา (Thomas Bata) ได้ริเริ่มเปลี่ยนวิธีการผลิตรองเท้าจากการเย็บด้วยมือแบบเดิมคือทำไปทีละคู่ มาเป็นการใช้สายพานในขบวนการผลิตรองเท้า นับเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนโฉมธุรกิจรองเท้าหนังให้กลายมาเป็นการผลิตที่ทันสมัยที่สุดเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อโรงงานผลิตรองเท้าว่า T. & A. Bata Shoe Company ขึ้นในเมืองชลิน ประเทศเชคโกสโลวาเกีย ทว่าในปัจจุบันประเทศนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศแล้ว ก็คือ สาธารณรัฐเชค และ ประเทศสโลวาเกียค่ะ ส่วนเมืองชลินนั้นก็ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสาธารณรัฐเชค ค่ะ
จากผลงานการทำรองเท้าที่เลื่องชื่อของ ธุรกิจครอบครัว โรงงานตระกูลบาจา ทำให้สินค้าของเขาสามารถนำออกมาขายทั้งตลาดที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงและตลาดที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย ในเวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี ตระกูลบาจาก็สามารถขยับขยายโรงงานทำรองเท้าของครอบครัวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ จากยอดการผลิตรองเท้าไม่ต่ำกว่า 2,200 คู่ต่อวัน หรือ ราว ๆ 8 แสนกว่าคู่ต่อปี ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่รู้จักนำเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ แม้กระทั่งในภวะสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจรอบโลกต่างก็หยุดชะงัก, วัตถุดิบหายาก, แรงงานคนขาดแคลน แต่แบรนด์รองเท้าบาจาก็ยังสามารถล่องผ่านคลื่นสงครามมาได้อย่างปลอดภัยดัวยการพัฒนาเทคโนโลยีให้รองเท้าดูทันสมัยมากขึ้น ในปี 1917 ความฮอตฮิตที่สุดของแบรนด์รองเท้าบาจาก็คือความสามารถในการทะยานยอดผลิตรองเท้าไปได้มากกว่า 2 ล้านคู่ต่อปี ซึ่งถ้าคุณคิดว่าแบรนด์บาจาประสบความสำเร็จสูงแล้ว ขอบอกว่านี่แค่ความสำเร็จก้าวแรก ๆ เท่านั้นค่ะ
กลยุทธ์การตลาดแบบ Corporate Social Responsibilities (CSR) หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ปัจจุบันนี้ หลาย ๆ แบรนด์ดังหันมาให้ความสนใจ อาทิเช่น ทุกการซื้อน้ำ 1 ขวด คุณได้ร่วมบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ หรือ โครงการรณรงค์ปลูกป่าชายเลน และ แจกผ้าห่มต้านภัยหนาว แคมเปญต่าง ๆ ที่กำลังกระหน่ำออกมาเพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้านั้น ๆ เป็นทั้งการคืนกำไรให้สังคมและการโฆษณาประชาสัมพัทธ์ที่ดีมากวิธีหนึ่งต่อตัวองค์กรเอง
แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่า แบรนด์รองเท้าหนังบาจา ได้เริ่มทำแคมเปญการตลาดด้าน CSR มาตั้งแต่ยุคก่อนสงความโลกครั้งที่ 1 ซะอีก โดยขณะนั้น ที่เมืองชลิน บาจาไม่เพียงแต่สร้างที่พักให้กับคนงานของตนเท่านั้น แต่ยังสร้างทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลขึ้นในบริเวณนั้น เพื่อให้ความสะดวกแก่พนักงาน, ครอบครัวพนักงานและผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น แม้ในช่วงภาวะสงครามที่ข้าวยากหมากแพง แบรนด์บาจาก็ได้บริจาคค่าอาหารให้อีกด้วย หลักการสำคัญอย่างหนึ่งที่ โทมัส บาจา ยึดมั่นในการประกอบธุรกิจก็คือ “การทำธุรกิจนั้นจำเป็นต้องคืนกำไรให้แก่สังคมด้วย เพราะเมื่อไรที่สังคมอยู่ได้ เราก็จะอยู่ได้เช่นกัน”
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ความยากจนขัดสนเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ชนิดที่ว่าเศรษษฐกิจตกต่ำเป็นที่สุด โทมัส บาจา จึงจำเป็นต้องพลิกกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมและยังเป็นจุดกำเนิดกลยุทธ์การตลาดสุดคลาสสิค เริ่มจากแบรนด์บาจาตัดสินใจลดราคาสินค้าลงมากสุดถึง 50% ควบคู่ไปกับการเจรจาตกลงกับพนักงานบริษัทว่าจะลดค่าจ้างลง 40% แลกกับการที่บริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร และเสื้อผ้าตลอดจนเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็น ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ทุกคนรอดจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นไปด้วยกัน กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย, การจำกัดต้นทุนการผลิตควบคู่ไปกับการสื่อสารภายในองค์กรถูกนำมาใช้ได้อย่างลงตัวผ่านความชัดเจน ส่งผลให้แบรนด์บาจาสามารถฝ่าคลื่นสงครามมาได้และประสบความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับได้ใจทั้งผู้บริโภคและพนักงานไปแบบเต็ม ๆ ขอปรบมือรัว ๆ ณ จุดนี้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม >> ปลูกสำนึกการ ช่วยสังคม ปลูกนิสัยเศรษฐียุคใหม่ <<