เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น จากที่ไม่มีภาระความรับผิดชอบ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิตที่ซับซ้อน วุ่นวาย แต่เมื่อก้าวข้ามผ่าน เข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย ทั้งสภาพร่างกาย ภาวะจิตใจ หากจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่สามารถทนทานกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ขาดความรักความอบอุ่น ความเข้าใจ การเปิดใจ รับฟัง ให้คำแนะนำ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากคนในครอบครัวแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
เมื่อกล่าวถึงวัยรุ่น สามารถแบ่งช่วงอายุของวัยรุ่นได้ 3 ช่วงอายุ คือ วัยรุ่นตอนต้น อายุตั้งแต่ 11-14 ปี , วัยรุ่นตอนกลาง อายุตั้งแต่ 15-17 ปี และวัยรุ่นตอนปลาย อายุตั้งแต่ 18-21 ปี หรืออาจจำกัดความคำว่าวัยรุ่นให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า คือ เด็กที่ศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงระดับมหาวิทยาลัยนั่นเอง
การอบรมเลี้ยงดูวัยรุ่น นอกจากการสั่งสอนให้ประพฤติตัวเป็นคนดีแล้ว ควรปลูกฝังให้วัยรุ่นรู้จักการใช้เงินให้คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะวัยรุ่นยังเป็นช่วงวัยที่ยังไม่สามารถหารายได้ด้วยตนเอง นอกจากวัยรุ่นบางคนที่รู้ว่าตนมีศักยภาพ เชื่อมั่นในตนเอง กล้าลงมือทำ โดยใช้ความรู้ ความถนัดหรือความคิดสร้างสรรค์เพื่อไขว่คว้าโอกาสในการหางานรายได้พิเศษ อย่างไรก็ตามไม่ว่าวัยรุ่นจะสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องรู้จักการเก็บออมเงินที่ได้มาเพื่อให้คุ้มค่ากับความเหน็ดเหนื่อยของผู้ปกครองหรือตนเอง การออมเงินจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความตั้งใจ โดยอาจต้องตั้งเป้าหมายในชีวิตเพื่อเป็นแรงกระตุ้นที่ช่วยให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจต้องเผชิญในเส้นทาง การออมของวัยรุ่น
การออมของวัยรุ่น นั้น ถ้ากำหนดเป้าหมายตั้งแต่วันนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้วัยรุ่นได้เริ่มต้นการออมเงินเพื่อประสบผลตามที่คาดหวังในอนาคตโดยเป้าหมายหลักเพื่อการออมเงิน สามารถจัดแบ่งได้เป็น 3 เป้าหมาย คือ
1.เป้าหมายเพื่อตนเอง เป็นเป้าหมายที่มองในมุมความต้องการของตนเองเป็นหลัก มีดังนี้
– การศึกษา : เป็นจุดมุ่งหมายที่วัยรุ่นทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะสังคมสมัยใหม่มีค่านิยมที่เปลี่ยนไป โดยให้น้ำหนักด้านการศึกษาสูงมาก คนไทยมองว่าคนจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี การศึกษาที่ดีจะช่วยสั่งสอนให้เป็นคนดีได้ มีความรู้ผิดชอบชั่วดี มีจริยธรรม การศึกษาที่ดีเสมือนเป็นใบเบิกทางในการได้รับโอกาสจากบุคคลหรือบริษัทต่าง ๆ ได้เข้าทำงานในตำแหน่งที่ดีที่สามารถเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ หากจบการศึกษาจากสถาบันดัง ๆ ก็ย่อมทำให้ได้รับโอกาสพิเศษมากกว่าสถาบันการศึกษาทั่วไป ดังนั้นเป้าหมายเพื่อให้ตนเองได้จบการศึกษาในระดับสูงทั้งในประเทศหรือต่างประเทศจึงเป็นแรงผลักดันหนึ่งช่วยให้วัยรุ่นได้เริ่มต้นการออมเงิน
– ความมั่นคงในชีวิต : เป็นเป้าหมายที่ทุกคนล้วนคาดหวังอยากได้ สิ่งนั้น คือ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต 5 อย่าง ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งบางครั้งอาจกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย หากใช้จ่ายเกินความจำเป็นแก่ฐานะ เช่น รถยนต์ นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ ทีวี ตู้เย็น เครื่องเพชร ทองคำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในฐานะทางสังคมที่ต่างออกไป สิ่งฟุ่มเฟือยบางอย่างอาจกลายเป็นสิ่งจำเป็น ที่วัยรุ่นอาจต้องการเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และอยู่ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป
– ความมีวินัย เรียนรู้การบริหารเงิน : การตั้งเป้าหมายเพื่อให้ได้รู้จักการสร้างวินัยให้กับตนเองในด้านการออม เป็นจุดเริ่มต้นของการมีระเบียบวินัยในด้านอื่น ๆ รวมทั้งการรู้จักการแบ่งปันในอนาคต เพราะ การออมของวัยรุ่นต้องอาศัยความพยายาม ความอดทนในการลดความต้องการในปัจจุบัน การรู้จักการจัดสรร แบ่งส่วนการใช้จ่ายและการเก็บออมเพื่อให้ได้ตามสิ่งที่ตั้งใจในอนาคต
2.เป้าหมายเพื่อบุคคลในครอบครัว เป็นเป้าหมายที่มองในมุมที่ต้องการทำเพื่อผู้อื่น มีดังนี้
– ลดภาระของผู้ปกครอง : เป็นการลดภาระในด้านค่าใช้จ่าย ในส่วนของตนเอง และอาจหมายรวมถึงการช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่คนในครอบครัว เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า หากวัยรุ่นตั้งเป้าหมาย และสามารถทำได้ดังที่ตั้งใจ นอกจากจะรู้สึกภูมิใจกับตนเองแล้ว ยังสามารถสร้างความภูมิใจให้กับผู้ปกครองที่สามารถเลี้ยงลูกให้มีวินัย ประหยัด อดออม และรู้จักการเผื่อแผ่ให้ผู้อื่น จุดมุ่งหมายนี้ เป็นสิ่งที่วัยรุ่นควรยึดถือปฏิบัติ
– เพื่อการใช้จ่ายยามฉุกเฉิน : เมื่อสิ่งต่าง ๆ ล้วนไม่แน่นอน เหตุการณ์ใด ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่า ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือความจำเป็น เช่น ค่าเทอมการศึกษา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบ แต่หากวัยรุ่นสามารถเก็บออมเงินตั้งแต่วันนี้และใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดย่อมเป็นผลดีต่อครอบครัวเป็นอย่างมาก
3.เป้าหมายเพื่อสังคม เป็นเป้าหมายที่มองในมุมของการทำเพื่อสังคม ดังนี้
– ลดการสร้างปัญหาให้สังคม : เป้าหมายนี้เป็นผลดีทางอ้อมที่เกิดจาก การออมของวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ อยากรู้อยากเห็น อยากลอง อารมณ์ร้อน ไม่มีความอดทน หากต้องการสิ่งใดต้องได้ทันที มีพฤติกรรมเลียนแบบเพื่อน และบุคคลที่ชื่นชอบ ดังนั้น การออมเงินสามารถฝึกให้วัยรุ่นมีความอดทน คิดก่อนทำ ผลลัพธ์ทางอ้อม คือ ลดปัญหาสังคม เช่น ฉกชิงวิ่งราว ชกต่อย ก่อความรำคาญให้ผู้อื่น เป็นต้น เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่รู้จักการแยะแยะ ตัดสินใจสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดได้ เพียงแต่ต้องอาศัยสติในการคิดไตร่ตรองเท่านั้น ซึ่งการออมเงินก็เป็นการฝึกสติ ฝึกอารมณ์ให้นิ่งได้ทางหนึ่ง
นอกจากวัยรุ่นจะต้องมีจุดมุ่งหมายในชีวิตเพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการเริ่มต้นการออมเงินแล้ว การออมเงินจะประสบความสำเร็จได้ยังต้องอาศัยการเรียนรู้แนวคิดด้านการออมเงิน เช่น ต้องทำบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย ต้องจัดสรรแบ่งส่วนการใช้จ่ายและมีวินัยไม่ใช้จ่ายเกินที่กำหนดไว้ รวมไปถึงบริหารเงินออมเพื่อการลงทุนสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้นในอนาคตโดยอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้