ภาพความทรงจำในอดีตเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วของใครหลาย ๆ คนอาจจะยังคงชัดเจนอยู่ที่เราต่างกคุ้นเคยกับการถ่ายภาพด้วยกล้องแบบฟิล์ม ที่ความคลาสสิคนั้นเริ่มต้นตั้งแต่การบบรจุฟิล์มลงไปในกล้อง, การถ่ายภาพหลาย ๆ แชะกันพลาด, การกรอฟิล์มเมื่อเก็บภาพเต็มแล้ว จนบางครั้งก็ต้องพกฟิล์มไปหลาย ๆ ม้วนหน่อยเพราะว่ากลัวจะเก็บภาพไม่ได้จุใจ จากนั้นก็ยังต้องมารอลุ้นดูภาพสวย ๆ จากร้านล้างรูปและอัดขยายต่ออีกครั้งว่า รูปที่ถ่ายออกมานั้นจะคมชัดถูกใจ, ภาพจะเบลอเพราะมือสั่นมั๊ย, ภาพจะมัว หน้าจะมืดเพราะถ่ายย้อนแสงหรือเปล่า
ลองคิดดูสิคะ ภาพโมเม้นท์สำคัญ ๆ ตอนเจ้าสาวโยนช่อดอกไม้, ตอนรับปริญญา หรือ ตอนที่ไปเที่ยวต่างประเทศ เราคงไม่สามารถย้อนกลับไปเก็บภาพกันได้อีก ซึ่งผู้ที่คิดค้นการถ่ายภาพด้วยฟิล์มคนแรกก็คือ George Eastman หรือก็คือผู้ก่อตั้งบริษัท Eastman Kodak นั่นเองค่ะ โดยเจ้าตลาดฟิล์มโกดักนั้นเปิดตลาดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1892 ในขณะที่ Fuji Photo Film นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 1934 ด้วยเป้าหมายของบริษัทที่ชัดเจนว่า จะเป็นผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูปรายแรกในประเทศญี่ปุ่นภายในระยะเวลา 10 ปี และในปี 1995 ฟูจิก็ตัดสินใจก้าวเข้ามาลุยตลาดงัดข้อกับเจ้าตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาและในตลาดโลกอย่าง โกดัก ทีมีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 90%
ในขณะนั้น การลงสู้ศึกเกมธุรกิจหลาย ๆ ครั้ง ฟูจิกลับใช้กลยุทธ์พลิกมาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากโกดักได้มากกว่า ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้นเป็น 33% ในปี 1995 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 60% ในปี 1996 เมื่อโกดักวาดฝันจับมือทำสัญญา Exclusive Partnership กับห้างค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Costco โดยห้างจะขายเฉพาะฟิล์มของโกดัก ร้อนถึงฟูจิแดนอาทิย์อุทัยจำต้องปล่อยหมัดทะลวงเกมส์ธุรกิจด้วยการเปิดน่านน้ำสีแดง ลดราคาต่ำกว่า 15% เพื่อปล่อยสินค้าในสต็อกก่อนที่จะหมดอายุการใช้งาน และพลิกสถานการณ์มาเป็นเจ้าตลาดแทน แต่แล้วความร้อนระอุของคู่แข่งทั้ง 2 ก็ต้องมาสั่นคลอนวงการถ่ายภาพแบบฟิล์มไปเมื่อทั้ง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง Kodak แห่งเมืองลุงแซม และ Fuji ซามูไรจากอดนอาทิตย์อุทัยต้องตั้งรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้าตียักษ์ทั้งสองไปพร้อม ๆ กัน
ในปี 2002 ตรงกับช่วงเวลาที่ SONY และ HP เปิดตัวกล้องดิจิตอลขึ้นมาเป็นครั้งแรกและสามารถเรียกความสนใจจากคนรักการถ่ายภาพไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียวในช่วงนั้น วิธีรับมือของฟูจิก็คือ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ธุรกิจด้วยการเปิดตัวบริษัทในชื่อใหม่ว่า FUJIFLIM Holding Corporation ขึ้นมา ซึ่งรากฐานของการปรับกลยุทธ์ในครั้งนี้ของ Fuji ส่วนหนึ่งมาจากการที่ Fuji ได้กระจายการลงทุนและสร้างสมดุลย์ทางธุรกิจจากการร่วมลงทุนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปทำธุรกิจกระจกส่องขยาย, เลนส์, อุปกรณ์การแพทย์, การพิมพ์ และอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้า ตั้งแต่ช่วงปี 1940 ก่อนลงสู้ศึกกับ Kodak หรือจะเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท RankXerox ในช่วงปี 1962 จนแตกหน่อออกมาเป็น FujiXerox ที่ดูแลงานของ Xerox ในส่วนเอเซีย-แปซิฟิกค่ะ ดังนั้นในจังหวะที่ทั้งสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟิล์มเจอการปะทะกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่พุ่งเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีขึ้นมา บริษัท Fuji จึงสามารถตั้งรับได้ดีกว่าและปรับตัวได้ไวมากกว่า บริษัท Kodak ที่ต้องจบตำนานกิจการที่มีรากฐานยาวนานกว่า 131 ปีลงไปอย่างน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพกันชัด ๆ Kodak ในวันนั้นก็มีชื่อเสียงและรายได้มหาศาลใกล้เคียงกับบริษัทชั้นนำระดับโลกในค.ศ. นี้อย่าง Apple หรือ Google เลยนะคะ
ภาพสะท้อนของ 2 บริษัทที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกันมาตลอด ตีคู่ พลัดกันลุก พลัดกันรับ และต้องมาเจอมรสุมพายุ Disruptive Technology เข้าไปพร้อม ๆ กัน รายหนึ่งรอดและเดินเรือต่อไปได้ แต่อีกรายกลับล่มอับปางกู้ไม่ขึ้น เป็นเพราะอะไร?
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการฝ่าวิกฤตครั้งนี้มาได้ขึ้นอยู่กับวิธีตีโจทย์และหาทางแก้ปัญหาของกัปตันเรือ หรือ วิสัยทัศน์ของผู้นำทัพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญมากที่สุด เพราะการที่บริษัท Fuji สามารถฝ่าคลื่นมรสุมมาได้นั้น ต้องให้เครดิตกับผู้บริหารมากทีเดียว ณ ช่วงเวลาพายุพัดกระหน่ำจากวิถีการใช้ชีวิตของคนเราที่เปลี่ยนไปแบบฉับพลันนั้น ผู้บริหารของ Kodak เชื่อมั่นว่าฟิล์มซึ่งเป็นสินค้าหลักของตนจะยังคงอยู่ในตลาดต่อไปได้ ไม่มีทางที่จะร่วงหล่นฮวบฮาบมาเป็นกราฟตัววีแน่นอน จึงตัดสินใจดำเนินธุรกิจหลักของตนเองตามเดิม
ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารของ Fuji กลับเล็งเห็นว่า ในไม่ช้าตลาดดิจิตอลจะต้องกลืนกินตลาดฟิล์มจนหมดไปแน่ ๆ เมื่อมุมมองต่างกัน ทางออกของปัญหาย่อมไม่เหมือนกัน ในเมื่อผู้บริหารของ Fuji เห็นทางตันของตลาดฟิล์มอยู่ตรงหน้า จึงหันหัวเรือเร่งเครื่องเก็บเกี่ยวดอกผลเท่าที่ทำได้และตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจฟิล์มก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ทันที จากนั้นก็ปรับกลยุทธ์มาเปิดตลาดใหม่จากฐานความเชี่ยวชาญเดิมด้วยการผันธุรกิจไปทางด้านเคมีที่ทาง Fuji มีความชำนาญอยู่ก่อนแล้ว โดยนำไปประยุกต์กับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์และธุรกิจด้านฟิล์มเคลือบหน้าจอ LCD แทน และต่อยอดธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัทหลาย ๆ แห่งในส่วนงาน Medical Imaging Equipment Business แทน
การเลือกใช้กลยุทธ์ Diversify ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ Fuji ตั้งลำเรือได้ใหม่จากการเพิ่มยอดขายในผลิตภัณฑ์ใหม่บวกกับวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองการณ์ไกลและปรับตัวได้ไวต่อการเปลี่ยนแปลง และนี่คือคำตอบที่ว่าทำไม Fuji ถึงได้รอดจาก กระแสกล้องดิจิตอล พายุ Disruptive Technology มาได้ค่ะ