จำได้ไหม? ว่าตอนเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูที่โรงเรียนสอนเราว่าเราต้องออมเงินหยอดกระปุกออมสินทุก ๆ วัน มีเหลือมากก็หยอดมาก มีเหลือน้อยก็หยอดน้อย แต่อย่างไรก็ควรจะต้องหยอด เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่โรงเรียนอาจจะมีธนาคารออมเงิน ที่สามารถให้เรานำเงินไปฝากแทนการหยอดกระปุกได้ ก็นับเป็นสิ่งที่ดีที่ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ แต่พอเราโตมาล่ะ! ทำไมเราถึงลืมวิธีการเดิม ๆ ในการออมเงินตอนเด็กไป ถ้าเราจะเอากลับมาใช้ตอนโตบ้าง รู้จักการเงินแบบ เด็ก ๆ ก็รวยได้ ไหม?
การออมเงินนับเป็นทักษะพื้นฐานที่คุณครูและคุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ บ้านต้องอบรมลูกน้อยของตัวเอง เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของเงิน และรู้สึกบริหารจัดการเงินของตัวเองตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อให้อนาคตของพวกเขาสามารถนำทักษะนี้ไปใช้ในการออมเงินของตัวเอง แต่เชื่อเถอะ! พอหลายคนโตมาทักษะนี้มันก็ไม่ค่อยได้เอามาใช้ กระปุกออมสินที่เคยมีเงินตอนเด็ก ๆ ตอนนี้มันกลับว่างเปล่า เพราะเราทุบมันออกมาใช้ง่ายจนหมดแล้ว แถมยังไม่ได้ไปเหลียวแลกระปุกออมสินอันมีค่าตอนเด็กอีกเลย
การหยอดเงินลงกระปุกออมสินมีข้อดีอย่างไร?
อย่างแรกเลยคงเป็นเรื่องของราคาและต้นทุนการออม คือเราแทบจะไม่ต้องจ่ายค่าลงทุนอะไรเลย กระปุกออมสินเราสามารถประดิษฐ์เองได้ หรือถ้าอยากได้ที่มีลายสวยงามก็ซื้อตามตลาดนัดทั่วไปราคาไม่กี่สิบบาท และที่สำคัญกระปุกออมสินถอนเงินออกได้ยาก (ควรซื้อแบบที่ไม่มีที่เปิด) มีทางเดียวคือต้องทุบ หรืองัดแงะจนสามารถเอาเงินออกมาได้ แน่นอนมันต้องเสียหาย และเราต้องซื้อใหม่ หลายคนจึงไม่ค่อยทุบหรืองัดแงะมันเท่าไหร่ นอกจากเงินเต็มกระปุกจนไม่สามารถหยอดเงินลงไปได้อีก และนี่แหละคือจุดหมายในการหยอดเงินใส่กระปุกของเรา!
หากเราจำได้เมื่อตอนเด็กเวลาเราอยากได้ของอะไรสักหนึ่งอย่างแล้วไม่กล้าขอพ่อแม่ การเก็บเงินที่เหลือจากค่าขนมจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เก็บจนกว่าจะพอแล้วเอาเงินไปซื้อ ตรรกะนี้เราควรนำมาใช้เมื่อเราโตเช่นกัน คืออยากได้ของอะไรที่มันอาจจะไม่จำเป็นหรือไร้สาระ ก็ควรเก็บเงินที่เหลือจากรายจ่ายทั้งหมดเพื่อมาซื้อ โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิตรูดซื้อแล้วจ่ายทีหลัง เป็นการทดสอบความอยากได้ของเราว่าเราอยากได้สิ่งของนั้น ๆ มากพอที่จะอดทนเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อมาซื้อมันหรือไม่อีกด้วย
และมีอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในโลกโซเชียล คือ การไม่ใช้แบงค์ 50 ในการจับจ่ายใช้สอย
นำแบงค์ 50 ไปหยอดกระปุกหรือเก็บไว้ซื้อของที่เราอยากได้ ทำไมถึงต้องเป็นแบงค์ 50 เพราะแบงค์ 50 นับเป็นแบงค์ที่มีการผลิตออกมาไม่มากหากเทียบกับแบงค์ราคาอื่น ๆ และมูลค่าของมันก็ไม่มากไม่น้อยเกินว่าจะเก็บ บางคนอาจจะคิดว่าเก็บทีละ 100 บาทมันมากเกินไปไหม หรือเก็บ 20 มันอาจจะน้อยเกินไป และแบงค์ 20 กับแบงค์ 100 เราได้รับมันถี่กว่าแบงค์ 50 ฉะนั้น แบงค์ 50 จึงเหมาะสมและควรค่าแก่การเก็บไว้เมื่อเราได้รับจากการทอนเงินเมื่อเราซื้อของต่าง ๆ
ถ้าเราเก็บแบงค์ 50 ได้ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 1 ใบ ใน 1 เดือนเราจะมีเงินเก็บ 1,500 บาท 1 ปีก็ 18,000 บาท! นับเป็นเงินที่ไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ เลย สามารถนำไปซื้อของที่เราอยากได้ได้แบบที่ไม่เดือดร้อนเงินในส่วนอื่น ๆ เป็นการสร้างนิสัยในการออมเงินที่ดีได้ หากเราจำเป็นต้องเก็บเงินที่เยอะกว่านี้
ทั้งนี้หากใครคิดที่จะออมเงินในจำนวนเยอะกว่านี้ ก็แนะนำให้ไปเปิดบัญชีธนาคาร เป็นบัญชีฝากประจำ เพราะบัญชีฝากประจำเราจะต้องฝากเงินตามกำหนดในทุก ๆ เดือน เราถึงจะได้ดอกเบี้ยตามที่ธนาคารบอกไว้ และเราจะไม่สามารถถอนเงินได้หากยังไม่ถึงกำหนด หรือยอดเงินยังไม่เพียงพอ โดยการออมเงินวิธีนี้อย่าไปคิดว่าจะต้องออมจากเงินที่เหลือใช้ ให้ฝากเงินตั้งแต่วันที่เงินเดือนออกแรก ๆ โดยแบ่งออกเป็นส่วนของเงินฝากประจำไว้ก่อนเลย แต่หากใครที่กำลังคิดว่ากลัวจะถอนเงินไม่ได้แล้วจะยุ่งยาก ก็สามารถไปเปิดอีกบัญชีที่เป็นการฝากออมทรัพย์ เพื่อความสะดวกและเผื่อกรณีฉุกเฉิน
อ่านเพิ่มเติม >> รวยด้วย การฝากประจำ <<
แม้บัตรเครดิตจะทำให้เราสามารถใช้จ่ายได้อย่างสะดวก และสามารถซื้อของได้อย่างรวดเร็ว แต่หากไม่จำเป็นเราก็ไม่แนะนำให้มีไว้ในครอบครองเท่าใดนัก เพราะใช้จ่ายง่าย สะดวก ก็แปลว่าเราจะต้องจ่ายมากขึ้น เงินออกจากกระเป๋าเราได้ง่ายขึ้น และเราอาจจะตกเป็นทาสของการตลาดกับการใช้บัตรเครดิตเพื่อรับแต้มคะแนนสะสมแลกของรางวัล แต่เราก็ต้องซื้อของตามจำนวนเงินที่เขากำหนด ก็เท่ากับเราต้องจ่ายไปมาก ๆ เพื่อได้ของที่ราคาไม่คุ้มกับที่จ่ายเลยแม้แต่น้อย
ไม่ว่าเราจะโตมากแค่ไหน แต่เชื่อเถอะว่าการออมเงินแบบเด็ก ๆ โดยการหยอดกระปุก เก็บเงินจากที่เหลือใช้ หรือเปิดบัญชีเงินฝาก รวมถึงรู้จักชั่งใจในการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ ก็สามารถทำให้เรามีเงินเก็บมากพอที่จะนำออกมาใช้เมื่อเราต้องการ เช่น ออกทริปไปเที่ยวกับครอบครัว ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือค่ารักษาพยาบาลเวลาเจ็บป่วย และอาจจะเป็นเศรษฐีตั้งแต่ยังอายุน้อยก็ได้ ใครจะรู้!!