หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจในการลงทุน ต้องการอิสรภาพทางการเงิน อยากใช้เงินทำงานแทนอย่างคนอื่นๆบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี วลีเด็ดที่ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ก็คอยหลอกหลอนอยู่เสมอจนเงินในมือมันสั่นไปหมด อยากจะบอกไว้ตรงนี้เลยว่า อย่ากลัว เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงก็จริง แต่เคยได้ยินไหมว่า ไม่ลงทุนยิ่งเสี่ยงกว่า เป็นเพราะอะไร นั่นก็เพราะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างที่คุณทราบดี เงิน 10 บาทในสมัยนี้ กับเมื่อหลายปีที่แล้วมันไม่เท่ากัน ในสมัยก่อนเงินสิบบาทสามารถทานอาหารได้ 3 มื้อเต็มๆ มีก๋วยเตี๋ยวชามละสามบาทให้กินจนอิ่มตื้อ จนเวลาผ่านพ้นล่วงเลยมา สิบ ยี่สิบ สามสิบปี จนในที่สุดเงินสิบบาทก็แทบทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ซื้อน้ำอัดลมสักกระป๋อง
นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆในการเปรียบเทียบอัตราเฟ้อทางการเงิน ดังนั้นหากคุณปล่อยให้เงินแสน เงินล้านของคุณนอนในธนาคารนิ่งๆ นานวันเข้า ค่ามันก็จะลดลงเช่นกัน ลองจูงไม้จูงมือเงินของคุณออกมาบริหารร่างกายกันหน่อยน่าจะดีกว่า
ซึ่งวิธีการเดียวที่จะทำให้เงิน สร้างเงินให้คุณได้ ก็คือการลงทุน ซึ่งการลงทุนนอกจากจะทำให้มูลค่าเงินไม่ลดลงแล้ว ยังเป็นแนวทางให้คุณร่ำรวยและมีอิสรภาพทางการเงินเร็วขึ้นอีกด้วย
มาเริ่มขั้นตอนง่ายๆสำหรับ มือใหม่ ลงทุน กันเถอะ
อันดับแรก คุณต้องรู้จักตนเอง
การรู้จักตนเองเป็นจุดเริ่มต้นของนักลงทุนทุกคน เราต้องรู้ว่าเราจะลงทุนกับอะไร ต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ คุณตั้งเป้าหมายไว้ที่กี่ปี? การลงทุนในที่นี้ มีทั้งการลงทุนสร้างธุรกิจ การลงทุนสร้างอสังริมทรัพย์ให้เช่า ซึ่งการลงทุนข้างต้นนี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ใช้แรง และใช้เวลา กับการลงทุนอีกแบบหนึ่งคือลงทุนหุ้น ที่เราไม่ต้องใช้ต้นทุนหลายล้านในการเริ่มธุรกิจ และไม่ต้องลงแรงอะไรมากเลย
มาดูกันว่าคุณต้องการลงทุนกับอะไร และเพื่ออะไร? ต้องการลดภาษี ต้องการลดอัตราเงินเฟ้อของคุณ เพื่อบั้นปลายชีวิตในวันข้างหน้า หรือต้องการสร้างกำไรจากเงินนั้น คุณจะใช้เงินประมาณเท่าไหร่ นี่ก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการจัดการการเงินของคุณนั่นแหละ และสุดท้าย คุณต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อใด? เมื่อเรียนจบปริญญาตรีในอีกสี่ปีข้างหน้า? สามปี สองปี หนึ่งปีข้างหน้า? หรือแม้แต่ตอนเกษียณในอีก 35 ปี?
จากนั้น อันดับต่อมาคือคุณต้องมาพิจารณาว่า คุณมีเงื่อนไขและข้อจำกัดใดบ้าง?
- คุณมีความรู้หรือชื่นชอบสินทรัพย์ไหนเป็นพิเศษไหม
- คุณมีเงินทุน หรือขอบเขตจำกัดของวงเงินที่ต้องการนำมาลงทุนเท่าไหร่
- ต้องการผลตอบแทนในรูปแบบใด
- คุณจำกัดวงเงินเมื่อมีการเกิดกำไรหรือขาดทุนไว้ที่เท่าใด เช่นหากขาดทุนคุณยอมทำจำนวนแค่ไหน หากได้กำไร คุณจะเพิ่มเพดานเงินลงทุนได้เท่าไหร่
จากนั้นเมื่อทราบจุดประสงค์และข้อจำกัดของตนเองแล้ว สิ่งที่คุณต้องตอบให้ได้คือ คุณยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน?
การลงทุนมีหลายแบบมาก แต่จะให้พูดแบบบ้านๆเลยก็คือ ยิ่งความเสี่ยงสูงมาก ยิ่งได้ค่าตอบแทนมาก ยิ่งความเสี่ยงน้อย ค่าตอบแทนก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก ดังนั้นเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง หากคุณรับความเสี่ยงได้น้อย คุณก็จะมุ่งเน้นไปที่การรักษาเงินทุนให้รอดปลอดภัย หากคุณรับความเสี่ยงได้ปานกลาง แต่ไม่มากนัก นั่นแปลว่าคุณต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนบ้าง อยากจะเห็นเงินลงทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แปลว่าคุณไม่หวั่นไหวกับความผกผันด้านการเงินในตลาดการลงทุนเลย และคุณพร้อมจะรับหรือเสียเงินเป็นจำนวนหนึ่งได้
เมื่อคุณรู้ตัวเองแล้วว่า คุณยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ก็มาเริ่มต้นเลือกการลงทุนที่ใช่กันเลย นี่เป็นเพียงตัวอย่างแสดงการลงทุนต่างๆในระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ต่างกันไป เพื่อเป็นกรณีศึกษาในเบื้องต้นว่าคุณชอบและเหมาะสมกับการเงินการลงทุนแบบใด แล้วค่อยไปศึกษาเจาะลึกในการลงทุนนั้นๆด้วยตัวเองในลำดับต่อไป
การลงทุนที่มีความเสี่ยงและค่าตอบแทนต่ำมากที่สุดคือประเภทเงินฝาก
- เงินฝาก
- บัตรเงินฝาก
- ตั๋วสัญญาใช้เงิน
การลงทุนที่มีความเสี่ยงและค่าตอบแทนต่ำ คือ ตราสารหนี้
- ตั๋วเงินคลัง
- พันธบัตรรัฐบาล
- พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ
- หุ้นกู้
- หุ้นกู้แปลสภาพ
การลงทุนที่มีความเสี่ยงและค่าตอบแทนปานกลาง คือตราสารทุน เช่น
- หุ้นสามัญ
- หุ้นบุริมสิทธิ์
การลงทุนที่มีความเสี่ยงและค่าตอบแทนสูง คืออนุพันธ์
การลงทุนความเสี่ยงและค่าตอบแทนสูงอื่นๆเช่น
- ทองคำ
- น้ำมัน
- อสังหาริมทรัพย์
จากนั้นก็มาแบ่งการลงทุนออกเป็นสัดส่วนเพื่อกระจายการลงทุน ไม่ควรลงทุนแบบในแบบหนึ่งแบบเดียว โดยสร้างสัดส่วนพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด แต่ก็ไม่ควรลงทุนอย่างหลากหลายจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น หากคุณรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็มีเงินสดไว้ในสัดส่วน 20-40% ตราสารหนี้ 30-50% ตราสารทุน 20-40% หรือจะจัดสัดส่วนที่ผันแปรไปตามระดับความเสี่ยงที่คุณจะรับได้ตามสัดส่วนของหุ้นที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
หลังจากจัดแจงสัดส่วนที่ต้องการแล้ว ก็เริ่มศึกษาการลุงทุนแต่ละแบบที่สนใจได้เลย แล้ว โดยติดตามข่าวสารและวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอย่างถ้วนถี่ก่อน เพราะหลักทรัพย์ที่จะให้ลงทุนนั้นมีมากจนเลือกไม่ไหว เมื่อได้หลักทรัพย์แต่ละตัวที่วิเคราะห์แล้วว่ามีโอกาสสูงที่จะสร้างรายได้ ก็ลงมือได้เลย