ทุกคนล้วนต้องการบ้านพักอาศัยเพื่อเป็นแหล่งพักพิงหรือเพื่อเก็บไว้เก็งกำไร ปล่อยให้เช่า หรือใช้ทำเป็นสถานที่ประกอบกิจการ บ้านพักอาศัยมีหลายประเภท เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด คอนโด อพาร์ทเม้นท์,อาคารพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งบ้านพักอาศัยแต่ละแบบต่างก็มีราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ทำเลที่ตั้ง ( หากมีการคมนาคมสะดวก บรรยากาศดี สิ่งอำนวยความสะดวกครบทั้งฟิตเนส สระว่ายน้ำ สวนหย่อม มีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา หรือใกล้ห้างสรรพสินค้า แหล่งช้อปปิ้ง ก็จะมีราคาสูง) ขนาดและประเภทบ้าน ( ขนาดพื้นที่มากและเป็นบ้านเดี่ยวก็จะมีระดับราคาที่สูงกว่าบ้านประเภทอื่นหากตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน) การออกแบบ ( บ้านที่มีลักษณะโดดเด่น เช่น ดัดแปลงพื้นที่ใช้สอยได้ ช่วยประหยัดพลังงาน เพิ่มการตกแต่งตามสไตล์ผู้อยู่อาศัย เป็นต้น ก็จะมีราคาค่อนข้างสูง)
ดังนั้น จึงมีผู้ซื้อหลายกลุ่มที่มีความแตกต่างกันตามระดับฐานะทางการเงินต่างซื้อบ้านตามกำลังเงินตนเองและบางส่วนก็ต้องพึ่งพิงธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นแหล่งสนับสนุนเงินกู้บ้านที่อยู่อาศัย และด้วยเหตุที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทนี้ ทำให้มีการแข่งขันกันสูงมากเพื่อดึงดูดผู้กู้ ทั้งด้านอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาผ่อนชำระ แต่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2558 อันเนื่องมาจากปัจจัยลบภายในประเทศ และ ปัจจัยเชิงลบด้านเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ธนาคารกลางแต่ละประเทศลดอัตราดอกเบี้ย กำลังซื้อของผู้บริโภคต่างชาติลดลง ราคาน้ำมันโลกลดลง การค้าขายระหว่างประเทศชะลอตัว ภาวะทางการเมืองและสังคมเกิดความรุนแรงในหลายประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ยังผลทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัว การค้าขาย การลงทุนเริ่มเติบโตช้าลง ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น
สิ่งเหล่านี้ทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2558 ทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในปี 2559 โดยประมาณการ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ) ของหลายสถาบันประมาณ 2.5-4.0% ดังนั้น จึง คาดการณ์ว่า อาจจะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศแข็งแรงแล้ว เพื่อดึงดูดเงินไหลเข้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอาจจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามไปด้วย ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้กู้สินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยที่ต้องมีต้นทุนทางการเงินจากดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น
การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อซื้อบ้านที่อยู่อาศัย แม้ธนาคารพาณิชย์จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการให้สินเชื่อที่ละเอียดมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ที่มีแหล่งชำระจากรายรับต่าง ๆ ของผู้กู้ ประวัติความน่าเชื่อถือทางการเงิน และหลักประกัน แต่อย่างไรก็ตามในฐานะผู้กู้ ก็มีจำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงินเพื่อจะได้ทำให้ภาระหนี้สินลดลงโดยเร็วที่สุด โดยแนวทาง ผ่อนชำระหนี้บ้าน ที่ควรทราบ มีดังนี้
1.วางแผนจัดสรรรายรับ
รายรับของแต่ละบุคคลมาจาก รายได้ประจำเดือน หรือค่าจ้างรายวัน รายได้พิเศษ เงินโบนัส เงินจากมรดก เงินจากการขายสินทรัพย์ เงินจากการลงทุน และจากแหล่งอื่นอีกมากมาย ซึ่งการจัดสรรรายรับ ควรจะต้องทำบันทึก เพื่อจะได้ทราบแหล่งที่มาและจำนวนเงินที่ได้รับทั้งหมด พร้อมทั้งระบุรายการแหล่งใช้ไป ที่ต้องจ่ายในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งการจัดสรรเงินรายรับ ควรให้ความสำคัญกับการจ่ายชำระหนี้สินเป็นอันดับแรก เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถเพิ่มขึ้นได้หากชำระไม่ตรงตามกำหนด (รายจ่ายดอกเบี้ยปรับ) และลำดับต่อมาคือ เงินเพื่อการออมลงทุน และเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินซึ่งอาจกำหนดสัดส่วนประมาณ 40-60% ของจำนวนเงินคงเหลือจากหักค่าใช้จ่ายชำระหนี้ และเงินส่วนที่เหลือจึงนำไปใช้จ่ายประจำวัน
-
ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
รายจ่ายที่ไม่จำเป็นส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการตนเอง ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง แต่เป็นการใช้จ่ายตามกระแสนิยม การเลียนแบบ โดยไม่ได้คำนึงถึงภาระหนี้สิน เช่น ภาระการผ่อนชำระบ้าน ภาระการผ่อนชำระสินค้า ภาระค่าใช้จ่ายค่าเทอมบุตรหลาน เป็นต้น ดังนั้น หากสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยลงได้ก็จะทำให้มีเงินเหลือเก็บในการผ่อนชำระหนี้บ้านโดยที่ไม่ต้องดึงเงินในส่วนเงินออมเพื่อการลงทุนหรือเงินที่ใช้ในยามฉุกเฉินออกมาใช้ ซึ่งก็จะทำให้เงินออมเพื่อการลงทุนเป็นแหล่งสร้างรายได้อีกทางหนึ่งที่สามารถนำผลตอบแทนที่ได้มาเพื่อใช้ในการผ่อนชำระหนี้บ้าน
-
กู้แหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยปัจจุบัน
ควรหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่จ่ายชำระอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ซึ่งแหล่งเงินกู้อาจมาจากธนาคารพาณิชย์ที่ให้สินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ และระยะเวลาผ่อนหนี้นานขึ้น เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต่างให้กู้สินเชื่อบ้านมากขึ้น และส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยบ้านก็จะต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่น โดยมีการออกโปรโมชั่นกำหนดอัตราดอกเบี้ยหลายแบบ เช่น กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือ กำหนดแบบขั้นบันไดโดยปรับขึ้นทีละนิด อาจเป็น 2 หรือ 3 ช่วง เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น เพื่อลดจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการจ่ายชำระได้มากขึ้น
4.เรียงลำดับการผ่อนชำระสินเชื่อ
หากมีภาระหนี้สินเชื่อหลายประเภท ควรต้องเรียงลำดับการผ่อนจ่ายชำระหนี้ โดยต้องพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยและจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวดเป็นหลัก ซึ่งต้องคิดคำนวณเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของทุกวงเงินหากไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ครบทุกวงเงินกู้ เช่น หากภาระหนี้ใดมียอดผ่อนชำระสูงควรจะจ่ายชำระเป็นอันดับแรก ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำก็ตามเพราะหากผิดนัดชำระการคิดดอกเบี้ยโดยทั่วไปก็คิดจากยอดเงินต้นคงค้างทั้งหมดเสมอ ซึ่งก็จะเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง และถ้ามีวงเงินสินเชื่ออื่นที่มียอดผ่อนชำระน้อยกว่า แต่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า หากคิดคำนวณกรณีผ่อนชำระได้บางส่วน แต่ก็มีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่น้อยกว่าเมื่อคิดจากยอดเงินต้นคงค้างทั้งหมด ก็ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับถัดมา เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายผ่อนชำระบ้านต่องวดจะค่อนข้างสูงจึงควรผ่อนชำระเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้ลดภาระค่าใช้จ่ายคงค้างได้เร็วขึ้น
-
ผ่อนชำระเงินต้นให้ได้มากที่สุด
หากผู้กู้มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้บ้านได้มากกว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด ผู้กู้ควรจ่ายชำระเงินต้นให้มากขึ้น เพราะจะทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงจากการที่การคิดคำนวณดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารพาณิชย์จะคิด ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
-
ขอลดจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวด
หากผู้กู้คาดว่ารายรับ (รายได้ประจำและเงินออมและรายรับส่วนอื่น) จะไม่เพียงพอในการผ่อนชำระหนี้บ้าน ผู้กู้ควรปรึกษาธนาคารในการขอลดจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวด ซึ่งหากธนาคารพิจารณาแล้วเห็นควรก็จะลดการผ่อนชำระพร้อมขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้บ้านออกไป ก็จะเป็นการช่วยลดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ได้
7.ขอลดดอกเบี้ยปรับกรณีค้างชำระ
หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารพาณิชย์สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกับผู้กู้ได้ไม่เกิน 18% โดยคิดจากยอดเงินต้นคงค้างทั้งจำนวนตั้งแต่วันผิดนัดชำระจนถึงวันจ่ายชำระเงินค้างชำระ ซึ่งถ้าผู้กู้จ่ายชำระหนี้ช้ากว่ากำหนด หรือจ่ายชำระไม่เต็มจำนวนยอดผ่อนชำระต่องวด ก็จะมีค่าใช้จ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ผ่อนชำระต่องวด พร้อมดอกเบี้ยปรับ ดังนั้น หากผู้กู้เป็นลูกค้าที่มีประวัติการชำระที่ดี จ่ายชำระหนี้บ้านตรงตามกำหนด ก็สามารถแจ้งความจำนงต่อธนาคารพาณิชย์เพื่อขอลดดอกเบี้ยปรับได้
ก่อนการตัดสินใจซื้อบ้านโดยขอวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนของทุกธนาคาร เพื่อจะไม่ต้อง refinance ในภายหลังเพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการขอวงเงินกู้กับธนาคารและค่าใช้จ่ายกับกรมที่ดิน นอกจากนั้นควรกำหนดวงเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ และหากมีเงินก้อนเพียงพอควรชำระเงินต้นให้มากที่สุด เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ผันแปรตามยอดเงินกู้คงเหลือ
อ่านเพิ่มเติม >> วางแผนกู้บ้านต้องรอบรู้ ดอกเบี้ยบ้าน <<
ยังผ่อนบ้านไม่หมด เงินพอไม่ใช้ จ่ายหนี้ไม่ไหว นึกถึง สินเชื่อส่วนบุคคล ซิตี้ สมัครออนไลน์ คลิก!