เงินออมเป็นเงินเก็บสะสม ซึ่งมีแหล่งที่มาจากรายรับ เช่น เงินเดือนรายรับประจำ รายรับเงินโบนัสประจำปี เงินจากงานพิเศษ เงินได้รับจากมรดกหรือได้รับโดยเสน่หา ผลตอบแทนจากเงินออมที่ลงทุน รวมถึงรายรับในส่วนอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งการจัดสรรเงินให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม และวิธีการใช้จ่ายเงินที่ได้จากการจัดสรรให้มีประสิทธิภาพ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจาก หากไม่สามารถจัดสรรเงินเพื่อใช้ในทุกกิจกรรมได้เป็นอย่างดีแล้ว ย่อมเกิดความเสี่ยงที่อาจสูญเสียเงินออมซึ่งเสมือนเป็นกำไรชีวิตที่จับต้องได้จากการทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย ดังนั้น การทราบวิธีการ จัดสรรเงินผิดพลาด ซึ่งเป็นเส้นทางสู่ความเสี่ยงของเงินออม จึงเป็นแนวทางช่วยให้ผู้ต้องการออมเงินสามารถหลีกเลี่ยงและสร้างเกราะป้องกันความเสี่ยง พร้อมลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด หรือ แทบไม่มีเลย ซึ่งวิธีการจัดสรรเงินที่ผิดพลาด มีดังนี้
1.จัดสรรเงินเพื่อการใช้จ่ายไม่เหมาะสม
เมื่อมีรายรับในแต่ละเดือนจะต้องมีการแบ่งเงินเป็นส่วนต่าง ๆ เพื่อการใช้จ่ายและเพื่อการออม เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ในการดำรงชีพ ( ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายครัวเรือน ฯลฯ) ค่าใช้จ่ายเพื่อเหตุฉุกเฉิน ( เจ็บป่วย อุบัติเหตุ จ่ายค่าเทอม ค่าประกันชีวิต ฯลฯ) ค่าใช้จ่ายเพื่อใช้กรณีพิเศษ ( ค่าของขวัญ ค่าท่องเที่ยว ฯลฯ) และเงินออมเพื่อการลงทุน เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีการจัดสรรเงิน หรือ จัดสรรเงินเพื่อการใช้จ่ายในการดำรงชีพในชีวิตประจำวันมากจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึง ระดับรายได้ ความมั่นคงในอาชีพ ฐานะทางการเงิน ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินออมได้ เช่น หากอยู่ในช่วงวัยเริ่มต้นทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระดับรายได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำ และถ้าไม่ได้จัดแบ่งรายรับเพื่อการใช้จ่ายในแต่ละส่วนอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้ไม่ทราบระดับที่ควรใช้จ่าย ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเกินความจำเป็นและมีสัดส่วนรายจ่ายสูงพอ ๆ กับรายได้ หรืออาจสูงกว่ารายได้ เนื่องจากปัจจุบันสามารถหาแหล่งเงินกู้เพื่อการใช้จ่ายง่ายมากขึ้น ในรูปเงินกู้ส่วนบุคคล (หากเป็นข้าราชการก็สามารถกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์เพียงใช้บุคคลค้ำประกัน ไม่ต้องมีหลักประกันประเภทอื่น) หรือ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ( หากมีเงินเดือนประจำและเอกสารครบตามเกณฑ์ก็จะได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว) รวมไปถึงเงินกู้นอกระบบ ( ไม่ต้องมีหลักประกัน แต่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง) สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นภาระที่ผูกพันระยะยาว ทำให้ผู้เริ่มต้นทำงานไม่มีเงินออมหรืออาจเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของเงินออมจากเดิมที่ใช้เพื่อการลงทุน หรือใช้ยามเจ็บป่วย เป็นเพื่อการชำระหนี้ในกรณีที่รายรับที่แบ่งไว้เพื่อการชำระหนี้ไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเงินออมได้
-
การจัดสรรเงินออมเพื่อการลงทุนในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม
การแบ่งสัดส่วนเงินออมเพื่อใช้ลงทุน โดยไม่พิจารณาถึง ช่วงอายุ ไลฟ์สไตล์ ระดับรายได้ และ ระดับการยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุน ย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดจากการจัดสรรเงินได้ เช่น หากผู้ออมอยู่ในช่วงใกล้เข้าสู่วัยเกษียณ คือ อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงวัยต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีอายุการทำงานเหลือน้อย ไม่สามารถหารายได้เพิ่มได้มาก ไม่สามารถรับความไม่แน่นอนจากผลตอบแทนได้ ซึ่งหากผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนผิดพลาด เช่น ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง 80 % (ตลาดตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ เป็นต้น ,ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง น้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน USD เป็นต้น ตลาดตราสารหนี้ในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชน หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น ) และลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เพียง 20 % (ตลาดตราสารหนี้สินทรัพย์เสี่ยงปานกลางถึงต่ำ เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น ลงทุนในสถาบันการเงิน เช่น เงินฝากประจำ เงินฝากปลอดภาษี ตั๋ว B/E ของธนาคารพาณิชย์ หรือ กองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ กองทุนที่ลงทุนในตลาดเงิน ) ก็จะทำให้เงินออมเกือบทั้งหมดเกิดความเสี่ยงสูง ที่อาจจะไม่ได้รับเงินต้นคืน หรืออาจจะได้คืนไม่ครบทั้งจำนวน รวมทั้ง อาจจะได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนน้อยกว่าที่คาดหวังได้
3.การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนผิดประเภท
การแบ่งเงินเพื่อการลงทุนในธุรกิจส่วนตัว หรือ การลงทุนในตลาดทุน ตลาดเงิน หากไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ก่อนการลงทุนก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดในการเลือกแหล่งการลงทุนส่งผลต่อการเกิดความเสี่ยงของเงินออมที่นำไปลงทุนได้ ซึ่งรายละเอียดข้อมูลที่อาจขาดการพิจารณา มีดังนี้
– ภาวะเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรม : การไม่ศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจ แนวโน้มตลาด ทำให้ไม่ทราบปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจ และสภาวะปัจจุบันของธุรกิจ ซึ่งก็จะทำให้เงินออมที่ลงทุนมีโอกาสสูญเสียได้ เช่น ถ้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มการเติบโตดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูง จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งหากจัดสรรเงินเพื่อลงทุนในธุรกิจประเภทขนส่ง ธุรกิจก่อสร้าง หรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการขนส่ง การรับเหมา วัสดุก่อสร้าง ย่อมส่งผลให้ผลประกอบการลดลงหรือเกิดการขาดทุนสูงหากบริหารจัดการต้นทุนไม่ดี
– การกระจายความเสี่ยง : การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ หากจัดสรรเงินเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเดียวทั้งหมด หรือ ลงทุนเพียงหลักทรัพย์ตัวเดียวย่อมเกิดความเสี่ยงหากอุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดความผันผวน จาก เศรษฐกิจโลก นโยบายรัฐบาล รสนิยมผู้บริโภค สภาพภูมิอากาศ หรือเกิดจากการดำเนินงานของบริษัทเอง ซึ่งจะส่งผลต่อเงินลงทุนทั้งหมดที่อาจจะไม่ได้รับคืน เช่น การลงทุนในหุ้นสามัญกลุ่มอุตสาหกรรมการธนาคารทั้งจำนวน จะมีความเสี่ยงเมื่อ กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะทำให้ผลประกอบการของธนาคารลดลง ส่งผลต่อการทำกำไรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ก็จะตกจากที่นักลงทุนทยอยเทขาย ทำให้เงินออมที่ลงทุนเสี่ยงจะไม่ได้รับคืนเต็มจำนวน แต่หากจัดสรรเงินกระจายการลงทุนเพิ่มเติมไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมกลุ่มเช่าซื้อ และอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ แม้อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่ธุรกิจกลุ่มดังกล่าวจะได้รับผลดีจากการที่ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ราคาหุ้นในสามกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การไม่การกระจายการลงทุนย่อมทำให้ความคาดหวังได้รับผลตอบแทนเกิดความไม่แน่นอน
– การไม่มีความชำนาญ : การขาดประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และไม่มีที่ปรึกษาในการทำธุรกิจ ทำให้การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนเกิดความเสี่ยง เพราะอาจส่งผลให้ธุรกิจประสบภาวะขาดทุน เงินออมที่ลงทุนไม่ได้รับคืน และเสี่ยงต่อการดึงเงินออมส่วนที่เหลือเพื่อพยุงธุรกิจต่อไป เช่น การไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า ไม่สามารถหาช่องทางการจำหน่าย และไม่มีบุคคลช่วยสนับสนุน ย่อมทำให้การลงทุนประสบปัญหา เสี่ยงต่อการขาดทุนในที่สุด
หากไม่สามารถบริหารจัดการจัดสรรเงินเพื่อใช้จ่ายในแต่ละส่วนได้อย่างเหมาะสมตามความจำเป็น และตามความสามารถในการสร้างรายได้ ไม่ได้ศึกษาข้อมูล ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีการระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินเพื่อการลงทุนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินต่าง ๆ แล้ว จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินออมได้ไม่มากก็น้อย
จัดสรรเงินผิดพลาด เงินไม่พอใช้ ขาดสภาพคล่อง สินเชื่อบุคคล ซิตี้ ช่วยได้ สมัครออนไลน์ คลิกที่นี่