ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจทั่วโลกที่ร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านการการส่งออกนำเข้าสินค้าและบริการตลอดจนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมโลกจึงทำให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งจึงมีผลต่ออีกหลายประเทศทั่วโลกไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปี พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนถึงอิทธิพลของโลกที่มีต่อประเทศไทย
สำหรับในปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านไปนั้น ในรายงาน World Economic Outlook (WEO) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์การเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลก ยังอยู่ในทิศทางที่น่ากังวล โดยหากเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2557 GDP โลกขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่ในปีนี้ (พ.ศ. 2558) คาดการณ์ว่าคงเติบโตเพียงร้อยละ 3.1 เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม IMF ยังคงคาดหวังว่าในปีหน้า เศรษฐกิจโลก โดยรวมจะเติบโตอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6%
ทั้งนี้การพยากรณ์อัตราการขยายตัวดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากแรงขับเคลื่อนของปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ซึ่ง IMF เห็นว่า
- ประการแรกคือ เศรษฐกิจประเทศจีนที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเปลี่ยนจากการส่งเสริมให้การส่งออกและการลงทุนเป็นตัวจักรสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการผลิต ไปสู่การให้ความสนใจกับภาคการบริโภคและภาคบริการต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากประเทศต่าง ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไปทั่วโลกในกลุ่มประเทศที่เป็นคู่ค้ากับจีน
- ประการที่สอง พบว่าดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ร่วงลง
- ประการสุดท้าย คือ การปรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก
สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว IMF คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ในปีนี้และ 2.2 % ในปีหน้า ในปีนี้สถานการณ์การฟื้นตัวนั้นสะท้อนได้จากความแข็งแกร่งขึ้นของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปและรวมถึงเศรษฐกิจที่กลับฟื้นเป็นบวกในประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้สำหรับยุโรปเองนั้น คณะกรรมาธิการยุโรป และสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2559 ถึงนี้ เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปจะเติบโตในอัตรา 2% และจะขยายตัวต่อเนื่องทุกปีปีละ 0.1% โดยทั้งนี้การเติบโตดังกล่าวจะเดินไปพร้อมกับอัตราการว่างงานและสัญญาณการขาดดุลการคลังลดลง สถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเหล่านี้ได้รับอานิสงส์จากหลายปัจจัย เช่น การลดลงของราคาน้ำมัน การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และรวมถึงการปรับลดค่าเงิน ซึ่งคาดว่าจะมีสัญญาณการเจริญเติบโตที่สดใสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนืออย่างใน สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเห็นได้จากยอดจำหน่ายที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับยอดการซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 10 ปี รวมถึงอัตราการว่างงานที่ลดลงในสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องระวังเช่นกันว่า การเจริญเติบโตที่ดีเหล่านั้นอาจจะถูกลดทอนลงได้จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบในช่วงกลางปี เช่น ระดับการลงทุนที่ต่ำลง ผลิตภาพการผลิตที่หดตัวลง เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่เกิดใหม่นั้นมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้าลง ซึ่งจากข้อมูลในปี พ.ศ. 2558 ที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจน ส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยประกอบทำให้เศรษฐกิจไม่สดใส ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์ในกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีผลต่อการลงทุนในโภคภัณฑ์ การเปลี่ยนแปลงของควันหลงจากการขยายตัวในภาคการลงทุนและสินเชื่อ และรวมถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่ไม่สู้จะดีนักในสายตาของผู้ส่งออก ซึ่งปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เหล่านี้มีผลกระทบและสร้างความยากลำบากให้กับกลุ่มประเทศต่าง ๆ และสำหรับความเห็นต่อเศรษฐกิจในกลุ่มสุดท้ายอย่าง กลุ่มประเทศด้อยพัฒนานั้น IMF ประเมินว่าสำหรับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาจะมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4.8% ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2557 ที่มีการขยายตัวสูงมากถึงร้อยละ 6.0 แล้วจะเห็นได้ว่าได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการหดตัวของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หลายประเทศในกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจ เช่น โมซัมบิก มีการวางแผนเน้นไปที่นโยบายการเงินแบบขาดดุล
สำหรับภาพรวมในกลุ่มประเทศเอเชีย การวิเคราะห์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ชี้ไปในทิศทางเดียวกันกับ IMF ว่า ประเทศในกลุ่มเอเชียยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นคาดว่า GDP ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปีนี้น่าจะหล่นลงมาอยู่ที่ระดับ 5.8% เช่นเดียวกับการคาดการณ์อนาคตเศรษฐกิจในปีหน้าว่าอาจจะเติบโตในอัตราร้อยละ 6.0 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยที่ระดับ 6.3% ทั้งนี้สำหรับประเทศจีนเองนั้น ADB คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ระดับ 6.8% เท่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สถานการณ์การลงทุนและการส่งออกของจีนอยู่ในภาวะอ่อนแอ ในขณะที่ประเทศที่คาดว่าจะมีอนาคตทางเศรษฐกิจที่สดใสกว่า คือ ประเทศอินเดีย ซึ่งคาดว่าในปีนี้ อินเดียจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 7.4 แซงหน้าประเทศจีนไป ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับผลกระทบเต็ม ๆ จากเศรษฐกิจจีนคงมีอัตราการขยายตัวสูงสุดไม่เกิน 4.4% ในปีนี้ แต่ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ว่าในปีหน้าอาจกลับมาสดใสได้อีกครั้งในระดับ 4.9%
ดังนั้นกล่าวโดยสรุปได้ว่า เหล่านักวิเคราะห์และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้กันว่า เศรษฐกิจโลก ในปีหน้ายังคงอยู่ในภาวะค่อย ๆ ฟื้นตัวสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องกันต่อไป