ข่าวจาก http://board.postjung.com/936027.html ใจความหลักคือ รมว.สธ. ประกาศปี 59 ปฏิรูป บัตรทอง ประชารัฐร่วมจ่าย สร้างระบบหลักประกันฯมั่นคง-ยั่งยืน ปล่อยรัฐแบกฝ่ายเดียวไม่ไหว ระบบพัง! อ่านดูแล้วก็พอเข้าใจว่าตอนนี้รัฐแบกรับค่ารักษาพยาบาลอยู่มากพอสมควรแต่สะดุดตรงท้ายข่าวที่ว่า ที่ผ่านมามีการติงว่าสวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ข้าราชการเงินเดือนน้อยกว่าเอกชน การให้สิทธิการรักษาพยาบาลก็เป็นการให้สวัสดิการ หากจะปรับปรุงก็ต้องเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการแล้วมาจ่ายรักษาพยาบาลเท่ากัน
ก็อยากจะให้ทำความเข้าใจก่อนกว่า 30 บาทคือผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากสิทธิประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชนที่ยังไม่ได้ทำงานและผู้สูงอายุรวมถึงคนที่หลุดจากสิทธิประกันสังคม
แม้ว่าจะถัวเฉลี่ยกันทั้งคนมีฐานะและคนจน แต่ในความเป็นจริงที่เป็นคนหนึ่งที่ใช้สิทธินี้บอกเลยว่าไม่จำเป็นจะไม่ใช้เด็ดขาดเพราะมันยุ่งยากและวุ่นวาย จะไปหาหมอกันทีต้องไปตามสถานพยาบาลที่ได้สิทธิ ส่วนใหญ่จะเป็นอนามัยตามเขตต่างๆหากอนามัยรักษาไม่ได้จะทำใบส่งตัวให้ไปรักษาต่อที่ รพ.และการไป รพ.ของสิทธิ 30 บาทก็ยุ่งยากถ้าไม่มีใบส่งตัวไปจะใช้สิทธิก็ไม่ได้ หรือไปตามอนามัยหรือ รพ.เอกชนบางแห่งที่รับสิทธินี้ก็ต้องไปตามเวลา ไปตลอด 24 ชั่วโมงเหมือนเสียเงินเองไม่ได้ จึงทำให้บางส่วนของคนที่มีสิทธิการรักษาเลือกที่จะยอมจ่ายเงินหากไม่หนักหนาจนถึงขนาดต้องแอดมิทหรือเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องจริงๆ ต่างจากคนที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆที่กว่า 80% รักษาตามสิทธิที่มีเพื่อที่จะไม่ต้องเสียเงินอย่างเช่น ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ
ประเด็นที่บอกว่า เอกชน เงินเดือนเยอะกว่าราชการและคนทำงานเอกชนใช้สิทธิรักษาบัตรทอง
บอกเลยว่าไม่ใช่คนทำงานใช้สิทธิประกันสังคมและเงินที่จ่ายกันทุกเดือนนั้นก็น่าจะเพียงพอกับการอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลเพราะกว่า 50% ไม่ได้ใช้สิทธิการรักษาด้วยเพราะบางคนไม่มั่นใจในการรักษา ไม่อยากไปรอคิว หรือบางคนมีประกันชีวิตก็ใช้ส่วนนั้น ต่างจากข้าราชการที่ใช้สิทธิเต็มที่ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เงินบำเหน็จบำนาญที่กินกันจนตายล้วนมาจากภาษีของคนทำงานเอกชน ประชาชนทั่วไปที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อของ และจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ แล้วราชการมากกว่า 70% ทำงานแบบขอไปทีแต่สวัสดิการดีกว่าประชาชนทั่วไป และหากคิดว่าจะยกเลิกระบบสิทธิ 30 บาทและสิทธิข้าราชการ โดยให้ข้าราชการได้ขึ้นเงินเดือนเพื่อมีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้นก็คงมาจากภาษีประชาชนอีกเหมือนเดิม
สุดท้ายมันก็วนลูปมาที่เรื่องของเงินงบประมาณและเงินภาษี แล้วคนที่มีรายได้น้อยคนยากจนที่มีรายได้แค่พอเลี้ยงตัวจะทำอย่างไร ในเมื่อการรักษาพยาบาลนั้นสำหรับคนจนมันไม่มี
และการไปรักษาตามอนามัยเดี๋ยวนี้ก็เสียเงินเพียงแต่ถูกกว่าตามคลินิกต่างๆเท่านั้นแม้ว่าจะเป็นทางออกของคนรายได้น้อย แต่อนามัยไม่สามารถเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่สามารถแอดมิทได้ ไม่สามารถรักษาอาการบาดเจ็บหนักๆได้ และโรงพยาบาลรัฐไม่ได้มีกระจายทั่วทุกเขตในกรุงเทพ รพ.รัฐใหญ่ๆ เอาแค่ในกรุงเทพก็อยู่แต่ในตัวเมืองเท่านั้น คนที่อยู่ชานเมืองก็เดินทางกันลำบากจะไป รพ.รัฐใหญ่ๆกันทีต้องออกจาบ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางไปรอคิวให้ทันก่อน 7 โมง ทำบัตรนั่งรอหมอลงตรวจจริงก็ 9 โมง พอเที่ยงก็หมดเวลารอบเช้าต้องรอจนบ่ายกันต่อไป หากใครไปช่วงเย็นแม้จะมีคลินิกพิเศษค่าใช้จ่ายก็แพงกว่ารอบเช้าอีก บอกเลยว่าคนที่ไม่เคยรักษาตามโรงพยาบาลรัฐจะไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นอย่างไร และไปรพ.เอกชนมีเงินต่ำกว่าหมื่นในกระเป๋าขอบอกว่าอย่าเข้าเลยจ่ายทีเกือบหมดตัวทั้งค่าตรวจที่แพง ค่ายาที่ค้ากำไร และอื่นๆ จิปาถะ ผู้เขียนเคยเจอกับตัวเองมาแล้วยาเม็ดละ 300 บาท เอาชื่อยามาถามศูนย์จำหน่ายยาใหญ่ๆยี่ห้อเดียวกันยาตัวเดียวกัน เม็ดละไม่ถึง 100 บาท
นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนจนไม่มีปัญญาเข้ารพ.เอกชน และทำไมถึงไม่อยากให้ยกเลิกสิทธิ 30 บาทเพราะคนที่ใช้จริงๆและได้ประโยชน์จากสิทธินี้มีมาก อย่างน้อยหากจะเก็บเงินจากคนที่ใช้สิทธินี้ก็ให้เก็บในราคาที่เขาจ่ายได้น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการยกเลิก