ต้องยอมรับว่าตลอดช่วงปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศไทยและทั่วโลกอยู่ในสภาวะถดถอย สภาพการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความต้องการซื้อในประเทศที่ยังไม่ขยับตัวเพิ่มขึ้นนัก ด้วยสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยที่ค่อนข้างจะฝืดเคืองในช่วง พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้สภาพการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือการตัดสินใจเลือกซื้ออะไรก็ดูจะยากลำบากขึ้น
งานศึกษาวิจัยของ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย (Kenan Institute Asia) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา หนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการก่อหนี้สูงสุดคือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงานและกลุ่มเกษตรกร สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินน้อยที่สุด มีระดับความรู้ด้านการเงินน้อย ลักษณะทัศนคติต่อการบริหารการเงินของตนเอง และรวมถึงปัญหาเข้าถึงแหล่งทุนและการกำกับดูแลของสถาบันการเงิน ผลสรุปของการศึกษาบ่งชี้เพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้วคนไทยมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาระดับลึกคือ การาดทักษะในการบริหารจัดการการเงิน และความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่อาจทำให้วงจรอุบาศก์ของหนี้สินยังคงดำเนินต่อไป หลายคนที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจึงหันไปแก้ปัญหาด้วยการก่อหนี้นอกระบบที่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง และมักพบเห็นข่าวการทวงหนี้จากนายทุนนอกระบบด้วยวิธีการรุนแรงดังที่เห็นตามรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามสำหรับสถิติการก่อ หนี้ครัวเรือนไทย พบว่าจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ยังคงเติบโตอย่างจำกัด ส่วนหนึ่งแม้ว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ จะมีการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่สำหรับสินเชื่อในกลุ่มอื่น ๆ เช่น สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในภาวะชะลอตัวหรือค่อนข้างคงที่ สาเหตุ เนื่องจากสถาบันการเงินเพิ่มระดับความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย แต่สำหรับกลุ่มที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินดี หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น กลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้หนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศในปีนี้มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยโดยอยู่ที่ระดับ 80.6% ต่อจีดีพี แต่หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกจะเห็นได้ว่าประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลกเลยทีเดียว
ในช่วงปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการหลายส่วนในการลดปัญหาหนี้ครัวเรือนและสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชน ตัวอย่างเช่น การออกโครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ (Nanofinance) ซึ่งเป็นการกระตุ้นและช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน การสนับสนุนและอัดฉีดเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านมากขึ้นในช่วงสมัยของดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือความพยายามของรัฐในการกระตุ้นการซื้อขายในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยผ่อนปรนเงื่อนไขช่วยเหลือผู้ที่ประสงค์จะซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์โดยเพิ่มวงเงินการกู้ซื้อบ้านพร้อมมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยขยายเพดานการผ่อนชำระจากร้อยละ 33 ของรายได้เป็นร้อยละ 40-50 ของรายได้สุทธิ ประกอบกับลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ในเวลาที่กำหนด และสุดท้ายคือการเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้จ่ายภาษีโดยสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้หากมูลค่าบ้านที่ผ่อนนั้นไม่เกิน 3 ล้านบาท ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่มีวินัยทางการเงิน แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีภาระหรือขาดวินัยทางการเงินมีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอาจจะเลวร้ายลงกว่านี้
สำหรับช่วงสุดท้ายของปี 2558 หนี้ครัวเรือนไทย มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง สืบ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้ต้องการหารถยนต์หรือรถกระบะ เพราะมาตรการของรัฐที่ได้ประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ทำให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์ในปีหน้าจะจ่ายภาษีสำหรับรถยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราที่สูงขึ้น ในขณะกลุ่มรถยนต์ประเภท Hybrid หรือกลุ่ม Eco Car จะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามด้วยราคารถยนต์ประเภท Hybrid ยังคงสูงกว่ารถยนต์ประเภทเดิม จึงพบว่ายอดการจองซื้อรถยนต์ทั่วไปในเทศกาลมอเตอร์เอ็กซ์โปปรับตัวสูงขึ้น ต้องแต่ค่ายโตโยต้า อีซุซุ และฮอนด้า เพียง 2-3 วันแต่ละค่ายก็มียอดการจองรถแล้วกว่า 2,000 คันในงาน ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนี้ครัวเรือนในส่วนของสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์จะขยายตัวเป็นระลอกสุดท้ายก่อนสิ้นปีนี้
ทำอย่างไรจะแก้ปัญหา หนี้ครัวเรือนไทย ได้ ?
การวางแผนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสามารถทำได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยสถาบันคีนันแห่งเอเชียเสนอความเห็นว่าอย่างน้อยที่สุดควรเพิ่มทักษะการให้ความรู้ทางการเงินสำหรับกลุ่มเสี่ยง หรือในระยะนาว ควรมุ่งไปยังนโยบายระดับรัฐ ควรมีการกำหนดการให้ความรู้ทางการเงินเป็นวาระแห่งชาติและวางเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งในช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการออกพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ และจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นเมื่อไม่นานนี้ โดยประกอบด้วยกฎกระทรวงจำนวน 6 ฉบับที่ครอบคลุมอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ การคำนวณเงินบำนาญ ฯลฯ โดยเริ่มต้นอัตราการออมที่เดือนละ 100 บาท โดยรัฐบาลจะให้การสมทบเงินอย่างต่อเนื่องในอัตราตั้งแต่ 80-100%ของประชาชนออม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามกองทุนการออมดังกล่าวยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก ซึ่งการออมจัดเป็นมาตรการหนึ่งในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน
ดังนั้นจากสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดปี พ.ศ. 2558 สถานการณ์ด้านรายได้และรายจ่ายที่ยังคงตึงตัวต่อเนื่อง จึงมีแนวโน้มว่าแม้กระทั่งในปีหน้า ปัญหา หนี้ครัวเรือนไทย อาจทุเลาลงได้ยาก