เข้าสู่ปลายปี พ.ศ. 2558 และกำลังเริ่มต้นเข้าสู่ปีหน้าศักราชใหม่ของปีลิง หลายคนที่กำลังกังวลกับสภาพเศรษฐกิจเมืองไทยที่ค่อนข้างจะซบเซามาตลอดในปีที่ผ่านมาก็อาจจะนึกท้อใจและอยากรู้ว่าอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนหน้าฟ้าใหม่ของปีลิงนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเมืองไทยจะมีโอกาสกระเตื้องหรือลืมตาอ้าปากได้บ้างหรือไม่ ซึ่งในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงด้านอุตสาหกรรม กำลังจะมาบอกเล่าความเห็นตลอดจนการคาดการณ์ที่มีต่อ เศรษฐกิจไทย ปีหน้าให้ทราบกัน
เศรษฐกิจยังหดตัว ม่านหมอกความกังวลยังมีอยู่ :
ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยนั้น พบว่ากูรูหลายกระแสยังคงชี้ว่าด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะซบเซา ดังนั้นสำหรับประเทศไทยที่พึ่งพิงรายได้จากภาคการส่งออกเป็นหลักจึงได้รับผลกระทบอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่ง ดร.โกร่ง หรือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางอนาคตเศรษฐกิจไทย 2559” จัดโดย สถาบันไทรเด้น คริปโต เซนเตอร์ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่าด้วยภาคเกษตรกรรม และการส่งออกหดตัวอย่างรุนแรงทำให้เกิดผลกระทบด้านรายได้ต่อเกษตรกรที่พึ่งพิงสินค้าเกษตร และต่อเนื่องถึงประชาชนในเมืองที่รับผลกระทบต่อ เนื่องจากการหดตัวของการส่งออก ทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนด้านรายได้และการจ้างงาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีผลทำให้ปริมาณการบริโภคลดต่ำลง
อนาคตปีลิงยังต้องระวังเศรษฐกิจจีนและต่างประเทศ :
นอกจากบริบทเศรษฐกิจภายในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกแล้ว ยังต้องให้ความสนใจกับอิทธิพลเศรษฐกิจจากต่างประเทศด้วย ซึ่ง ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ในฐานะผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า มาจากการชะลอตัวของอุปสงค์สินค้าและบริการจากประเทศจีนที่ลดลงต่อเนื่องตลอดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้มีผลต่อเนื่องถึงการฟื้นตัวของการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกูรูนักธุรกิจอย่างบริษัท แกรนท์ ธอนตัน ซึ่งเขียนไว้ในรายงาน International Business Report: Thailand Focus ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างพึ่งพิงกับเศรษฐกิจโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีน เพราะเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญจากประเทศไทย
ยิ่งกว่านั้นยังมีความเห็นจาก ดร. วีระพงษ์ รามางกูร ที่พยากรณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวเพียงชั่วคราว เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันที่เป็นปัจจัยช่วย เป็นเหตุให้การหดตัวของการนำเข้าของทุกประเทศในอาเซียนหดตัวเป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่าการหดตัวของการส่งออก แต่สำหรับปีหน้าโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเพื่อเป็นวัตถุดิบการผลิต โดยเฉพาะน้ำมันอาจจะไม่หดตัวเป็นเปอร์เซ็นต์มากเท่ากับปีนี้ โดยรวมแล้วจึงเห็นว่าอัตราการขยายตัวของกลุ่มประเทศอาเซียนในปีหน้าอาจจะแย่กว่าปีนี้
นอกจากตลาดส่งออกแล้ว ตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยง :
ความเห็นหลายสายของกูรูด้านการลงทุน เช่น คุณภรณี ทองเย็น อุปนายกนักวิเคราะห์การลงทุน คุณก้องเกียรติ โอภาสวงการ ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ตลาดหุ้นในประเทศไทยว่าอาจจะมีความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดอยู่ โดยคุณภรณี ทองเย็นคาดการณ์ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในช่วงสิ้นปี 2558 จะปรับตัวอยู่ที่ราว ๆ 1,670 จุด หรือลดลง 58 จุด (ร้อยละ 3.5) เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนหน้า และในสิ้นปี 2559 คาดการณ์ว่าจะปิดที่ 1,707 จุด หรือลดลง 97 จุด (ร้อยละ 5.4) จากประมาณการครั้งก่อนหน้า ใกล้เคียงกับความเห็นของคุณก้องเกียรติ โอภาสวงการที่คาดการณ์เช่นกันว่าภาพรวมแล้วดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) คาดว่าจะอยู่ที่ราว ๆ 1,450 จุด ณ สิ้นปี พ.ศ. 2558
เงินลงทุนภาครัฐ เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า :
แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงมีความเป็นไปได้ว่าจะเติบโตในทางบวกอยู่บ้าง จากอิทธิผลของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกันกับความเห็นของกูรูหลายท่าน เช่น คุณภรณี ทองเย็น อุปนายกนักวิเคราะห์การลงทุน ที่เห็นว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดทุนไทยในทางบวก ได้แก่ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ที่ชี้ให้เห็นว่า ในปีหน้าแรงผลักดันจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ที่ได้รับการอนุมัติในช่วงปลายปีนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะมีการก่อสร้างในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 จะเป็นแรงผลักที่สำคัญ นอกจากนี้แล้ว เงื่อนไขและมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และสิทธิพิเศษด้านการลงทุนและการลงทุนในระบบโลจีสติกส์ต่าง ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่รัฐบาลกำลังเร่งจะช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น
เศรษฐกิจชายแดนอาจเป็นลู่ทางใหม่ที่สดใส :
กูรูอีกหลายกระแสยังเห็นว่าผลต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐส่วนหนึ่งจะสร้างโอกาสและอนาคตให้ประเทศไทยได้ในปีหน้า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนธันวาคมนี้ ด้วยประชากรรวมของอาเซียนรวม 600 ล้านคนจะกลายเป็นตลาดและโอกาสสำหรับนักลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยหลายรายการได้รับความนิยมและไว้วางใจในคุณภาพมากกว่าผลผลิตจากประเทศอื่น ๆ ดังนั้นในปีหน้า หากกลุ่ม SMEs ไทยสามารถก้าวกระโดดด้วยการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงส์จากการเปิด AECอย่างแน่นอน
ดังนั้นสถานการณ์และการพยากรณ์จากกูรูหลายท่านได้สะท้อนโอกาสและความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทยในปีลิงที่กำลังจะเข้ามา ด้วยเหตุนี้ การปรับตัวเพื่อรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับเหล่านักลงทุนและนักธุรกิจที่ชาญฉลาด
เพิ่มเติม : สินเชื่อส่วนบุคคล ซิตี้แบงก์ อนุมัติไว วงเงินสูง