ครั้งหนึ่งเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของผู้คนจะได้รับการบันทึกและบอกเล่าจังหวะชีวิตแต่ละช่วงผ่านรูปถ่ายที่บันทึกไว้ด้วยกล้องถ่ายภาพแบบฟิล์ม ซึ่งเป็นผลทำให้กิจการร้านถ่ายรูปและบริการอัดขยายรูปเฟื่องฟูกันมาก นึกย้อนกลับไปช่วง 20 กว่าปีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพลูกรักวัยแรกเกิด, ภาพตอนลูก ๆ ไปงานโรงเรียนสมัยเด็ก, ภาพการไปเที่ยวต่างจังหวัดของครอบครัว และที่หลาย ๆ คนน่าจะจดจำกันได้เป็นอย่างดีก็คือการถ่ายภาพวันรับปริญญาที่หนุ่มสาวสมัยนั้นหมดฟิล์มกันไปมากกว่า 20 ม้วนเพื่อกดชัตเตอร์บันทึกความทรงจำ
ความคลาสสิคของการใช้กล้องถ่ายรูปแบบฟิล์มก็คือเราไม่สามารถเช็คภาพได้ ณ โมเม้นท์ที่เราถ่ายรูป เราต้องรอไปที่ร้านและล้างอัดรูปออกมาก่อน ถึงจะรู้ว่าภาพที่ถ่ายออกมานั้น ย้อนแสงจนหน้ามืดไปหมด หรือว่ามีใครหลับตาตอนถ่ายรูปมั๊ย หรือว่าช่างภาพมือสั่นไหวบ้างหรือเปล่าค่ะ เป็นอารมณ์ลุ้น ๆ ระคนตื่นเต้นที่หาไม่ได้อีกแล้วจากการถ่ายรูปแบบดิจิตัลในสมัยนี้ ที่เราสามารถเลือกฟังก์ชั่นบันทึกภาพแบบรัว ๆ หลาย ๆ แอค, ยกมือเซลฟี่ หรือแค่ออกเสียงก็เป็นการกดชัตเตอร์เก็บภาพกันไปเรียบร้อยแล้ว
เรื่องราวของแบรนด์ดังในตำนานเจ้าตลาดแห่งวงการแผ่นฟิล์มและเป็นรายแรกที่ตัดสายสะดือให้กับการถ่ายรูปแบบฟิล์มก็คือ นาย George Eastman เขาคือผู้คิดค้นการถ่ายรูปสุดคลาสสิคนี้ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1884 และต่อจากนั้นมาอีก 8 ปีหรือราว ๆ ปีค.ศ. 1892 เขาก็ได้ก่อตั้งบริษัท Eastman Kodak ขึ้น ซึ่งนับว่าบริษัท Kodak เป็นยอดตำนานที่ผ่านกาลเวลามาได้นานกว่า 120 ปี และเป็นบริษัทที่มีความเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งค่ะ แต่แล้วความเก๋าของโกดักนั้นมาพลาดท่าให้กับอะไรกัน?
ครั้งหนึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1975 นาย Steven Sasson ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิศวกรให้กับบริษัท Kodak อยู่ในขณะนั้นได้นำไอเดียกล้องถ่ายรูปดิจิตอลที่เขาเป็นผู้คิดค้นขึ้นเป็นคนแรกมานำเสนอ ตอนนั้นตัวเครื่องยังมีขนาดใหญ่ประมาณเครื่องปิ้งขนมปังอยู่เลยค่ะ และก็สามารถเก็บภาพได้เป็นสีขาวดำเท่านั้น ความละเอียดของภาพประมาณ 10,000 พิกเซล แต่ไอเดียล้ำ ๆ นี้ กลับถูกบริษัทต้นสังกัดอย่าง Kodak ปฏิเสธที่จะต่อยอดธุรกิจดิจิตอล อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงปี 1970 – 1990 เป็นจังหวะที่ Kodak ประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยส่วนแบ่งการตลาดในประเทศสหรัฐมากกว่า 90% เรียกได้ว่าเกือบ ๆ จะผูกขาดอยู่แล้ว จนกระทั่งปี 1995 เมื่อ Fujifilm ซามูไรจากแดนอาทิตย์อุทัยลงมาขอท้าชน ทำให้สัดส่วนการตลาดของ Kodak หล่นมาอยู่ที่ 44% ในขณะที่ Fuji นั้นตามมาติด ๆ ที่ 33% ทั้งในภาคตลาดสหรัฐและการแข่งทางธุรกิจในระดับโลกค่ะ จุดพลิกสู่วิกฤตครั้งแรกของ Kodak ก็คือการทำสัญญา Exclusive Partnership กับบริษัท Costco ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐที่จะขายเฉพาะฟิล์มของโกดักเท่านั้น เจอหมัดนี้เข้าไปฟูจิจึงจำเป็นต้องสวนกลับด้วยการเปิดสงครามทะเลแดงยอมหั่นราคาขายลงกว่า 15% เพื่อระบายสต็อกสินค้าก่อนที่ฟิล์มจะหมดอายุใช้การอะไรไม่ได้ และผลการสู้ในครั้งนั้นกลับทำให้ฟูจิสามารถครองตลาดมากขึ้นเป็น 60% ในช่วงแรก ๆ Kodak ก็ยังคงวาง positioning ของตัวเองด้านราคาเอาไว้เท่าเดิมแต่สุดท้ายก็ทนกระแสความแรงของสงครามราคาไม่ไหว ต้องยอมลดราคาตามฟูจิลงมา จากผู้นำในตลาดก็กลายเป็นผู้ตามขึ้นมาซะงั้น แต่ความพยายามในครั้งนั้นก็เหมือนจะช้าเกินไปเพราะยังไม่สามารถกู้วิกฤตของบริษัทไว้ได้ จนถึงคราวที่ Kodak ต้องปลดพนักงานจำนวนกว่า 19,000 คนออกจากงานเพื่อพยุงกิจการเอาไว้ และเป็นประวัติศาสตร์การปลดพนักงานที่สูงที่สุดในยุคนั้นเลยค่ะ
ในขณะที่โลกไม่หยุดหมุน แต่ Kodak กลับหยุดนิ่ง ทำให้เทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบดิจิตอลรุกฆาตเข้ามาในช่วงปี 2000 ด้วยคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง HP และ SONY ทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมถ่ายภาพพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที เมื่อเข้าสู่ปี 2002 ยอดขายกล้องถ่ายรูปดิจิตัลก็ดีดตัวสูงขึ้นเป็น 12.7 ล้านเครื่องในประเทศสหรัฐอเมริกา กลายเป็นผู้ชนะยอดขายกล้องถ่ายรูปชนิดฟิล์มเป็นปีแรกและเรื่อยมา แม้ว่าในช่วงเวลาต่อมา Kodak จะพยายามเปลี่ยนผันตัวเองมาเปิดตลาดใหม่ ๆ อย่างผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์เพื่อกู้วิกฤตของบริษัท แต่ก็เหมือนทุกอย่างจะช้าเกินไปหมดแล้ว ทำให้ Kodak เดินเข้าสู่ภาวะขาดสภาพคล่องด้วยก้อนหนี้สูงถึง 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐและต้องเทขายสิทธิบัตรต่าง ๆ ของตนออกกว่า 1,100 รายการ ส่งผลให้ราคาหุ้นที่เคยแตะ 0.90 เหรียญสหรัฐในช่วงปี 1997 ตกลงมาอยู่ที่ 0.76 เหรียญ เป็นเครื่องชี้วัดบาดแผลทางกลยุทธ์ของโกดักได้เป็นอย่างดี
เพราะอะไรบริษัทที่มั่นคงยาวนานกว่า 131 ปีถึงต้องมาล่มสลายลง บทเรียนธุรกิจ ครั้งนี้สะท้อนและสอนให้เห็นถึงความสัญทางวิสัยทัศน์ของผู้นำ ถ้า Kodak ซึ่งเป็นผู้คิดค้นกล้องดิจิตัลได้เป็นรายแรกในตอนนั้น กล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ และยอมรับว่าโลกจะมีแต่การเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน โดยไม่ยึดติดว่าการคิดค้นกล้องดิจิตอลจะเป็นตัวมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของฟิล์มซึ่งเป็นสินค้าหลักของแบรนด์ในขณะนั้น ในทางกลับกัน น่าจะมองว่าคือเงินในกระเป๋าซ้ายและกระเป๋าขวาของ Kodak เอง Kodak ก็คงไม่สะดุดขาตัวเองจนล้มและอาจจะยังคงโลดแล่นอยู่ในตลาดได้จนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ