ปีใหม่มาถึงอีกแล้ว… และมีหลายๆ คนที่กำลังเริ่มวางแผนการออมและการลงทุนกันตั้งแต่ต้นปี อาจจะเป็นไปด้วยต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องการออมเงินให้ตัวเองมากขึ้น หรืออาจจะเรียนรู้เรื่องการลงทุน เพราะฉะนั้นกองทุนรวม LTF และ RMF จึงเป็นทางเลือกของกลุ่มคนที่เริ่มการออมและการลงทุน เพราะนอกจากจะได้เรื่องการออมและการลงทุนแล้ว ยังได้รับผลประโยชน์ในการไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
แต่ก็มักจะมีคำถามมาถามอยู่เสมอว่าจะเลือกลงกองทุน LTF หรือ กองทุน RMF ดี ซึ่งก่อนที่เราจะเลือกลงทุนในกองทุน LTF หรือ กองทุน RMF นั้น เราต้องสำรวจตัวเราเองก่อนว่า รายได้เราเมื่อหักค่าใช้จ่าย หักรายการลดหย่อนที่มีอยู่แล้ว มีรายได้ถึงเกณฑ์หักภาษีหรือเกิน 150,000 บาทหรือเปล่า ถ้าไม่ถึงเกณฑ์การเสียภาษีการซื้อกองทุน LTF หรือกองทุน RMF ก็ไม่ใช่คำตอบสำหรับการออมหรือการลงทุนของเรา ถ้าอยากออมหรือลงทุนจริงๆ ก็น่าจะลองศึกษากองทุนแบบอื่นๆ ดู แต่ถ้ารายได้สุทธิของเราถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะจะได้ออมและได้สิทธิลดหย่อนภาษีในคร่าวเดียวกัน
สำหรับเหตุผลที่ไม่แนะนำให้กับคนที่รายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีลงทุนในกองทุน LTF หรือ RMF ก็เพราะว่ากองทุนทั้งสองมีเงื่อนไขในการถือครองกองทุนที่นานกว่ากองทุนอื่นๆ และถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดก็ต้องถูกปรับจากกรมสรรพากรด้วยจำนวนเงินที่สูงด้วย อย่างเช่น ถ้าเราลงทุนในกองทุน LTF เราจะต้องถือครองไปจนถึง 5 ปี ตามเงื่อนไขของกองทุน ถึงจะขายเพื่อนำเงินที่ลงทุนออกมาใช้ได้ หรือจะเป็นกองทุน RMF เราจะต้องซื้อกองทุนนี้ทุกปี หรือจะเป็นปีเว้นปี ไปจนถึงอายุ 55 ปี แต่เราสามารถสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันได้ หากไม่ทำตามเงื่อนไขเราก็จะโดนปรับตามที่สรรพากรกำหนดไว้
แต่ถ้าหากเรามีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์การเสียภาษีแล้วกองทุน LTF และ RMF ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอยู่ แต่ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่าจะเลือกกองทุน LTF และ RMF ที่มีปันผลหรือไม่มีปันผลดี ซึ่งไม่มีคำตอบว่าดีหรือไม่ดี อยู่ที่การหาข้อมูลและมาวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต เพราะการจ่ายเงินปันผลของกองทุนนั้นเราต้องดูย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี ว่ากองทุนสามารถจ่ายได้อย่างสม่ำเสมอหรือเปล่าและด้วยจำนวนเงินที่เราพอใจ เพราะก็มีบางกองทุนที่ไม่ได้จ่ายเงินปันผลทุกปี เนื่องจากบางกองทุนก็จะมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม เช่น จะไม่จ่ายเงินปันผลหากทำให้กองทุนมีขาดทุนสะสม หรือจะไม่จ่ายเงินปันผลหากคำนวณแล้วอัตราการจ่ายเงินปันผลน้อยกว่า 0.5 บาท เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเพิ่งเริ่มทำงานหรืออายุยังไม่มากเท่าไร
- มีเงินเดือนและโบนัสในปี 2558 เท่ากับ 420,000 บาท
- หักลดหย่อนตามกฎหมายได้แก่ ลดหย่อนส่วนตัวและหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด 90,000 บาท มีหักลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 36,000 บาท
- เพราะฉะนั้นจะเหลือเป็นรายได้สุทธิในการคำนวณภาษีที่ 294,000 บาท
เพราะฉะนั้นถ้าปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ซื้อกองทุน LTF และ RMF ไว้เลยเราจะเสียภาษีถึง 7,200 บาท แต่ถ้าเราซื้อเพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษีเลย เราสามารถซื้อกองทุน LTF ได้ 63,000 บาท และ RMF ได้อีก 63,000 บาท
เพราะฉะนั้นถ้าเราวางแผนตั้งแต่ต้นปี 2559 เลยว่าจะออมและลงทุนในกองทุน LTF และ RMF เราก็ลองประมาณตัวเองคร่าวๆ ว่าปี 2559 เราจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 7% โบนัสน่าจะเท่าเดิม เพราะรายได้ของเราน่าจะอยู่ที่ 450,000 บาท รายการลดหย่อนก็เหมือนเดิมอาจจะมีเพียงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เพิ่มขึ้นตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อคำนวณเรียบร้อยแล้วเราจะเหลือรายได้สุทธิในการเสียภาษีประมาณ 322,000 บาท มีภาษีเกิดขึ้น 9,700 บาท เมื่อคำนวณสิทธิในการลงทุนกองทุน LTF และ RMF แล้วจะได้อย่างละ 67,500 บาท เพื่อที่จะประหยัดภาษีได้เต็มจำนวน
ดังนั้นถ้าเราเริ่มวางแผนตั้งแต่ต้นปีเราอาจจะเริ่มซื้อกองทุน LTF และ RMF เดือนละ 5,000 บาทต่อกองทุน หรือเดือนละ 10,000 บาท แต่บางคนมองว่าอาจจะเป็นจำนวนเงินที่หนักไปในแต่ละเดือนก็อาจจะลดจำนวนลงก็ได้ แล้วค่อยไปซื้อเพิ่มทีหลังตอนเกือบสิ้นปีก็ไม่ว่ากัน ขึ้นอยู่กลยุทธ์การลงทุนของแต่ละคน
สรุปว่าเราจะ เลือกซื้อกองทุน LTF หรือ RMF ดีนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเองมากกว่า เพราะ LTF ซื้อครั้งเดียวแต่ถือยาว 5 ปี ถึงจะขายได้ ส่วน RMF ซื้อทุกปีหรือจะเป็นปีเว้นปีก็ได้ ต้องซื้อถึงอายุ 55 ปี ถึงจะเริ่มขายกองทุนได้ แต่ระหว่างที่ถือ RMF นั้น หากไม่ถูกใจกองที่ถือก็สามารถสับเปลี่ยนไปเป็น RMF นโยบายอื่นๆ ได้ เพื่อปรับพอร์ตของตัวเองให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงก็ได้ ส่วนจะซื้อกองทุนแบบมีเงินปันผลหรือไม่มีเงินปันผล ก็ลองดูประวัติการจ่ายปันผลของแต่ละกองดูว่าจ่ายได้อย่างสม่ำเสมอหรือเปล่า อย่างที่เคยบอกตลอดว่าจะลงทุนอะไร เราต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างเพียงพอ ก่อนที่จะทำการลงทุน และเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง