เริ่มต้นปี พ.ศ. 2559 แล้วหลายคนที่ตั้งเป้าหมายชีวิตในปีนี้ว่าตนเองและครอบครัวจะต้องมีความมั่นคงและความก้าวหน้ามากขึ้นทั้งในหน้าที่การงานและการเงินก็คงจะเคยนึกถึงการวางแผนบริหารจัดการการเงินอยู่บ้าง แต่หลายคนเมื่อได้ยินคำว่า “การวางแผนทางการเงิน” หรือคำว่า “อนาคตทางการเงินที่สดใส” มักจะทำให้นึกไปถึงกลุ่มโฆษณา หรือกลุ่มขายสินค้าที่บางส่วนมักใช้คำนี้เป็นวลีสำคัญในการหาสมาชิก ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่าการวางแผนทางการเงินมักจะถูกให้ภาพในด้านลบเสียมากกว่า แต่แท้จริงแล้วการวางแผนทางการเงินมีความหมายที่กว้างและลึกซึ้งกว่ากิจกรรมเหล่านั้นมาก และหากมีการวางแผนที่ดีอนาคตก็จะมีเงินเก็บได้ วันนี้มีตัวอย่างประโยชน์ของการวางแผนทางการเงินที่ทำให้ มีเงินเหลือเก็บ แบบเงินในกระเป๋าอยู่ครบแถมงอกเงย
แค่จด ๆ เขียน ๆ ก็เรียนรู้จุดอ่อน :
หลายครั้งที่การใช้จ่ายในแต่ละวันของเรามักจะถูกหลอกล่อด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ และบางครั้งก็ต้องมานั่งเสียใจว่าการซื้อสิ่งต่าง ๆ นั้นแม้จะจำนวนเงินไม่มากแต่หากซื้อบ่อย ๆ รวมกันแล้วก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว ซึ่งหากไม่มีการบันทึกรายจ่ายของแต่ละวัน เราอาจไม่ทราบเลยว่า รายจ่ายสิ้นเปลืองหรือฟุ่มเฟือยนั้นสูงเป็นสัดส่วนเท่าใดของเงินรายได้แต่ละเดือนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สำหรับผู้ที่นิยมซื้อกาแฟแบรนด์ดัง แม้จะเป็นเพียงวันละ 1 แก้ว (แก้วละประมาณ 100 บาท) แต่หากซื้อทุกวันอย่างน้อยเดือนหนึ่งก็จ่ายเป็นเงินถึง 3,000 บาท ถ้าทราบแบบนี้แล้ว หากลองเปลี่ยนเป็นกาแฟสดร้านอื่น ที่มีราคาย่อมเยากว่า ราคาต่อแก้วอาจลดลงเหลือเพียงแก้วละ 40 บาท เฉลี่ยรวมจ่ายค่ากาแฟไปเดือนละ 1,200 บาท
ถ้าเปรียบเทียบกับพฤติกรรมการบริโภคแบบเดิม เท่ากับว่าสามารถประหยัดเงินได้ถึง 1,800 บาทเลยทีเดียว หรือถ้าบางคนชอบสังสรรค์ทานอาหารนอกบ้าน อาจจะคิดว่าเงินค่าอาหารต่อมื้อจำนวนไม่ถึง 1,000 บาทในตามใบเสร็จรับเงินบัตรเครดิตแต่ละครั้งอาจเป็นจำนวนที่ไม่สูงมาก แต่ถ้ามานับรวม ๆ กันในแต่ละเดือนแล้ว หากทานอาหารนอกบ้านหรือนัดทานอาหารกับเพื่อนฝูงมากถึง 4-5 ครั้ง อาจเป็นรายจ่ายรวมกว่า 3,000-4,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว หากลองเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หลายคนอาจจะประหยัดเงินปาร์ตี้และค่า Service charge 10% ที่จ่ายให้แก่ร้านอาหารหรูได้แค่ลองเปลี่ยนแผนมาจัดปาร์ตี้ค็อกเทลเล็ก ๆ ที่คอนโด รวมแล้วก็อาจจะประหยัดเงินได้มากกว่าและสนุกสนานได้มากกว่าอีกด้วย
วางแผนการเงินดี ประหยัดภาษีได้มาก:
สำหรับคอภาพยนตร์โรแมนติกอาจจำบทสนทนาขำขันของแบรต พิทต์จากเรื่อง Meet Joe Black ได้ว่า “ความตายและภาษี” เป็นสิ่งที่แน่นอนอย่างที่สุด ซึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายการจ่ายภาษีปลายปี หมายความว่าเงินก้อนอีกจำนวนหนึ่งจะต้องถูกดึงออกจากกระเป๋าไป สำหรับหลายคนที่มีการวางแผนทางการเงินดีเยี่ยม จะเตรียมพร้อมด้วยการคำนวณเงินรายรับสุทธิไว้เรียบร้อยพร้อมทั้งจำนวนเงินภาษีต้องจ่ายเพิ่มเติมให้รัฐ ซึ่งหากสามารถวางแผนการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ เช่น การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่ตนเองและบิดามารดา การจ่ายเงินเข้ากองทุน การเก็บใบเสร็จการบริจาคเงินเพื่อองค์กรการกุศล การหักค่าลดหย่อนดูแลบิดามารดา เป็นต้น ในส่วนนี้การวางแผนการเงินที่ดีอาจไม่ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และที่น่าสนใจคือ บางครั้งอาจมีเงินคืนกลับจากรัฐที่มาจากภาษีที่เสียไปแล้วอีกด้วย
จ่ายเพื่อสุขภาพวันนี้ ไม่ต้องจ่ายอีกในวันหน้า:
หลายคนที่มีปัญหาสุขภาพส่วนตัวอาจรู้สึกไม่สบายใจกับการรับสายพนักงานหรือเซลล์ขายประกันสุขภาพและประกันชีวิตที่มักจะโทรศัพท์มาสอบถามและชี้ชวนให้สมัครประกันในลักษณะต่าง ๆ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า บางครั้งการเลือกแผนประกันสุขภาพที่เหมาะกับฐานะทางการเงินก็ช่วยให้ประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้มากทีเดียว ซึ่งการซื้อแบบประกันคือการยอมจ่ายค่าความเสี่ยงในกรณีเจ็บป่วยและผลักภาระให้แก่บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบภายใต้ความตกลงร่วมกันตามเงื่อนไขต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพไว้ปีละ 20,000 บาท แต่หากมีกรณีฉุกเฉินที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนครั้งหนึ่ง รายจ่ายรักษาตัวรวมทั้งหมดอยู่ที่ 30,000 บาท หมายความว่า คุณสามารถประหยัดเงินที่ต้องจ่ายไปได้ถึง 10,000 บาท หรือในอีกนัยหนึ่งคือ มีเงินเก็บในกระเป๋าที่รักษาไว้ได้อีก 10,000 บาทนั่นเอง โดยทั้งหมดบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น แต่อย่างไรก็ตามต้องระวังว่าจะต้องแถลงปัญหาสุขภาพทั้งหมดที่มีอยู่อย่างตรงไปตรงมาก่อนทำประกัน รวมถึงต้องอ่านสัญญากรมธรรม์ก่อนทุกครั้งเสมอเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการรับประกันสุขภาพ
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่วางแผนทางการเงินไว้อย่างดี สามารถสร้างความมั่นคงและลดภาระรายจ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งการวางแผนทางการเงินที่ดีควรจะเริ่มต้นจากการเริ่มจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันเพื่อทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน รายจ่ายประจำ รายจ่ายที่สามารถประหยัดได้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินในที่สุด หรือการวางแผนทางการเงินประจำปี โดยการคำนวณการวางแผนคาดการณ์รายได้และการเงินส่วนบุคคลล่วงหน้าทั้งปีและจัดการวางแผนลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงการวางแผนรายจ่ายเพื่อป้องกันเหตุกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น ป้องกันรายจ่ายฉุกเฉินหากต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลผ่านการซื้อประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุจากบริษัทประกันภัย ซึ่งทางเลือกต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ท่านมีเงินเหลือเก็บออมได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม >> 3 เคล็ดลับกินอยู่อย่างพอดี แค่นี้ก็ มีเงินเหลือ <<