จะเรียกได้ว่า ทุกวันนี้ สังคมไทยไทยเรามีพัฒนาการและมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สิบมานี้ อาจจะเริ่มนับตั้งแต่ช่วงที่มี Facebook เข้ามาใหม่ๆเลยก็ว่าได้ ถ้าในตอนนั้น พูดถึงสื่อโซเซียลมิเดียที่มีไว้สื่อสารติดต่อกันหลักๆ ก็จะมี ไม่กี่ช่องทาง เช่น อีเมล์,MSN,Hi5(ที่นิยมในเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น) แต่พอมามองภาพใน สังคมยุคดิจิตอล ปัจจุบันนี้ ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะ เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ทำอะไร เราก็จะพบเจอแต่สังคมก้มหน้าซะส่วนใหญ่ และไม่ได้นิยมแค่เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง เด็กวัยประถม ผู้ใหญ่วัยทำงานหรือแม้แต่ผู้ใหญ่วัยเกษียณบางท่าน โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักๆที่ทุกคนต้องมี ยิ่งถ้าเป็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองแล้ว ยิ่งต้องพกติดตัวแทบตลอดเวลา ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ใครจะคิดล่ะคะว่า แค่โทรศัพท์เครื่องเดียวจะมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนเราได้มากมายขนาดนี้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน นั่นก็เพราะว่า มันมีทุกอย่างครบจบภายในเครื่องเดียวนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูปคุณภาพระดับHD เป็นMp3ฟังเพลงได้เป็นพันๆเพลงหรือมากกว่านั้น เป็นเครื่องเล่นวิดิโอ เป็นเครื่องบันทึกเสียง เป็นเครื่องมือเช็คอีเมลล์/ค้นหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นเครื่องแปลภาษา เป็นเครื่องเล่นเกมส์คลายเครียดในวันหยุด เป็นเครื่องมือสื่อสารโทรเข้า-โทรออก-ส่งข้อความ-ประสานงาน เป็นหน้าต่างเว็บไซต์ขนาดย่อ เป็นเครื่องมือตกแต่งภาพให้สวยงาม เป็นคลังเก็บความทรงจำดีดีและประโยชน์การใช้งานอีกมากมายที่รวมอยู่นั้น(ตามพื้นที่ความจุหน่วยความจำมากน้อยแตกต่างกัน) มากไปกว่าขึ้นคือการเกิดใหม่ของตลาดขายสินค้าที่เรียกว่า “ตลาดออนไลน์” ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อหรือคนขาย ก็สามารถใช้พื้นที่บนอินเตอร์เน็ต เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและสร้างรายได้เป็นอาชีพติดเทรนท์ของคนยุคใหม่ไปเสียแล้ว
สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการใช้งานของผู้คนในยุคปัจจุบัน จากที่เคยสื่อสารกันด้วยการเขียนจดหมายหรือการยกหูโทรศัพท์คุยกัน ก็เปลี่ยนมาเป็นการแชทในโปรแกรม Messenger /Line ที่ล้ำไปกว่าเดิมก็คือ สื่อสารแบบเห็นหน้ากันด้วยการ Video call ผ่านโปรแกรม Skype เมื่อการสื่อสารนั้นง่ายขึ้น สังคมโลกก็เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เราสามารถรับรู้ข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลกผ่านสื่อต่างๆมากมาย คนพัฒนาก็พยายามคิดค้นไอเดียใหม่ๆมาให้ได้ทดลองใช้กันอยู่เสมอ จนเกิดเป็นการแข่งขันที่ไม่มีวันรู้ผลแพ้ผลชนะ ใครเจ๋งกว่าในขณะนั้นก็เอารางวัลPopular ไปเลยค่ะ
ผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆนี้ ทำให้เกิดสังคมในโลกเสมือนจริงขึ้นมา
กล่าวคือ เราได้มีการสร้างตัวตนเสมือนจริงอีกคนเพิ่มมา และได้ประกาศตัวตนนั้นออกสู่สาธารณะชนมากขึ้น ผู้คนได้รู้จักเราและเราเองก็ได้รู้จักผู้คนใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ บางคนก็ได้เปิดโอกาสช่องทางในการทำธุรกิจ บางคนก็ได้เจอเนื้อคู่คนรู้ใจ หรือบางคนก็ได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆและคนรักแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม หรือบางคนก็ได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถให้ผู้คนได้รับรู้ นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้อีกหนึ่งช่องทาง แต่ข้อเสียก็คือ ด้วยความที่ทุกอย่างเข้าถึงง่ายไปซะหมด พวกมิจฉาชีพ/ผู้ไม่หวังดีก็ใช้ช่องทางเหล่านี้กระทำความผิด ดังที่ปรากฏให้เห็นในข่าวกันอยู่บ่อยๆ อย่าง ลวงเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีไปข่มขืน,คดีหลอกลวงข่มขู่ให้โอนเงิน,หรือแม้แต่การแฝงตัวมาขายสินค้าหลอกให้โอนเงินไปให้แล้วก็ชิ่งหนี และกรณีอื่นๆอีกมากมาย การสื่อสารที่ว่าสะดวกรวดเร็วนี้ จึงง่ายที่จะมีผู้คนหลากหลายประเภททั้งผู้ที่ไม่หวังดี ฉกฉวยโอกาสเข้ามา จึงเป็นปัญหาของสังคมที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป
แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังเป็นปรากฏการณ์ที่น่าห่วงสำหรับตอนนี้ก็คือ การเสพสื่อ เสพข้อมูลข่าวสารที่ขาดการพิจารณาให้ละเอียดรอบด้าน
ด้วยจำนวนของข้อมูลนั้นมีมากมาย และคอยอัพเดตอยู่ตลอดเวลา จำนวนเว็บไซต์ต่างๆก็พยายามสร้างข่าว นำข้อมูลมาลงเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเข้าชมของผู้คนจากทั่วโลก เว็บไซต์ที่มีการเข้าชมสูงสุดก็จะได้รับรายได้จากการโฆษณาที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ข้อมูลข่าวสารอาจจะมีหรือไม่มีคุณภาพ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ข้อมูลขยะ เกิดขึ้นเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด บางอย่างก็เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นสาระ ยิ่งถ้าเราไม่พิจารณากันให้ดีดีแล้ว ก็จะทำให้เรากลายเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เชื่อตามๆกันอย่างง่ายดาย เห็นเขาเอาลงในเว็บไซต์ก็แชร์ต่อๆมา บางอย่างสื่อก็ชอบทำให้เป็นกระแส เช่น ข่าวดราม่าบันเทิงต่างๆที่เห็นตามเว็บบอร์ดทั่วไป จนบางทีคนดูสื่อ คนเสพสื่ออย่างเราๆก็รู้สึกรับไม่ไหว เพราะมันเยอะเกินไปนั่นเอง ดังนั้นแล้ว เราจะควรฟังหูไว้หู คิดตามโดยยึดหลักของเหตุผล และอย่าเพิ่งเชื่อโดยขาดการไตร่ตรอง เพราะนั่นอาจจะทำให้เราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้
แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรกันล่ะ ถึงจะรู้เท่าทันสื่อทั้งหลายนี้ วิธีก็คือการหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอนั่นเอง การได้คิดอย่างละเอียดรอบคอบ รู้เท่าทันกระแส ที่มีมาก็มีไป มาไว ไปเร็ว ถ้าเริ่มเบื่อก็ควรปิดมันไว้ซะ แล้วหาเวลาออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ออกเดินทางท่องเที่ยวชมธรรมชาติ,เข้าอบรมเสริมความรู้,ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น อยู่ดูแลคนที่เรารักมากขึ้น ใช้เวลาทำประโยชน์ให้คนอื่นมากขึ้น อย่างที่บอกว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นตัวเราควรเสพสื่อแต่พอดี ไม่ยึดติดสิ่งเสมือนจริงหรือตัวตนที่สร้างขึ้นในโลกออนไลน์มากเกินไป ใช้สื่ออย่างมีสติและรู้คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเราเองและกับคนรอบข้าง เพื่อที่จะสามารถสร้างสังคมใหม่ต่อไปในทางที่ดีขึ้นได้.