เมื่อไรก็ตามที่พูดถึงคำว่า “ วางแผนการเงิน ” มีคนจำนวนไม่น้อยส่ายหน้าและอาจจะไม่สนใจเลย ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดอยู่มาก และบางคนอาจคิดว่า “การวางแผนทางการเงิน” ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับตัวเองเลย ถ้าตนเองหรือครอบครัวไม่ได้มีเงินมากแบบมหาเศรษฐีจะต้องวางแผนการเงินไปเพื่ออะไร บางคนเห็นว่าแค่รู้ว่าวันนี้ใช้จ่ายเท่าไรมีเหลือใช้สำหรับวันพรุ่งนี้หรือไม่และจะเหลือเท่าไหร่ก็น่าจะเพียงพอแล้วแต่แท้จริงแล้วการวางแผนทางการเงินเป็นหนึ่งในวิชาสำคัญในชีวิต การไม่เข้าใจการวางแผนทางการเงินอาจสร้างผลกระทบกับชีวิตและครอบครัวได้หากหัวหน้าครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัวยังขาดความเข้าใจเรื่องนี้อยู่ การวางแผนการเงินสำคัญอย่างไร และทำไมต้องวางแผนด้วย
-
เศรษฐกิจโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน :
เพราะชีวิตไม่ใช่สิ่งที่แน่นอน การไม่ทราบอนาคตว่าจะเกิดอุปัทวเหตุอะไรกับชีวิตขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดีนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทเริ่มชะลอการเติบโตยอดจำหน่ายสินค้าลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย หลายบริษัทมีการปิดกิจการลง ซึ่งหากมนุษย์เงินเดือนทั่วไปไม่มีการวางแผนสำรองไว้ ไม่มีการเก็บออมเงินหรือหาช่องทางการให้เงินงอกเงย เมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ อาจจะไม่สามารถจัดการตนเองได้ ในทางตรงกันข้ามกับผู้ที่วางแผนการเงินไว้ แม้ว่าในยามฉุกเฉินก็ยังเอาตัวรอดได้ไม่เดือดร้อนต้องกู้หนี้ยืมสินคนรอบตัว
ซึ่งผลการสำรวจการวางแผนการเงินครัวเรือนอเมริกัน (Household Financial Planning Survey) ที่ลงไว้ในนิตยสาร Forbes ปี ค.ศ. 2012 พบมีชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 35 เท่านั้นที่มีการวางแผนทางการเงินไว้ หรือมีการออมไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน สำหรับในประเทศไทยเป็นที่น่ายินดีว่า ในปี พ.ศ. 2552 ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าเหลือครัวเรือนไทยที่ไม่มีเงินออมเลยเพียง ¼ ของครัวเรือนทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีการสำรวจมูลค่าเงินออมในยามฉุกเฉินว่าแท้จริงแล้วคนไทยมีการเก็บออมสม่ำเสมอหรือไม่และแบ่งไว้สำหรับยามฉุกเฉินในสัดส่วนเท่าไร และงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการจัดการทางการเงิน ไม่รู้จักแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีรายได้น้อยและการศึกษาน้อย เป็นต้น ซึ่งหลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนก็เริ่มแล้วมองหาแหล่งรายได้เสริมอีกทางหนึ่งเพิ่มเติมความมั่นคงทางการเงินของตนเอง
-
พายุความเสี่ยงมีอยู่ทุกทาง :
การวางแผนทางการเงินไม่ได้หมายความว่าเป็นการบริหารจัดการเงินให้งอกเงยเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายความรวมไปถึงการกระจายความเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิตด้วย ดังภาษิตที่มีการกล่าวไว้ว่า “อย่าใส่ไข่ลงในตะกร้าใบเดียว” เพราะหากวันหนึ่งเจอกับปัญหาอย่างน้อยก็ยังมีทางออกอื่น ๆ เหลือไว้ การวางแผนการเงินก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งคำว่า การวางแผนทางการเงินนั้นนับรวมตั้งแต่การออมและการลงทุนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่ง ได้แก่ การวางแผนสำหรับยามเกษียณอายุ การวางแผนด้านการศึกษา การวางแผนกรณีฉุกเฉิน การวางแผนสำหรับการลงทุน การทำประกันสุขภาพและประกันชีวิต เป็นต้น
ซึ่งสถานการณ์ที่ใกล้ตัวที่สุดคือ จะทำอย่างไรในอนาคตหากราคาสินค้าแพงขึ้นจากราคาอาหารจานละ 40 บาทเป็นเฉลี่ยจานละ 60-70 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้า เงินเก็บที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเพียงพอใช้จ่ายไปจนแก่เฒ่าหรือไม่ หรือสำหรับครอบครัวที่กำลังมีลูกเรียนหนังสืออยู่ จะทำอย่างไรหากมีสถานการณ์ที่หัวหน้าครอบครัวประสบอุบัติเหตุ โดนให้ออกจากงาน เจ็บป่วยเรื้อรังหรือแม้แต่เสียชีวิตลง ลูกที่ต้องเรียนหนังสือทำอย่างไรเขาจึงจะมีค่าใช้จ่ายเพียงพอจนบรรลุนิติภาวะ ความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้มีอยู่ทั่วไป การบริหารจัดการและการวางแผนการเงินในวันนี้จะช่วยปิดความเสี่ยงต่าง ๆ เกิดขึ้นได้
-
ประเทศไทยเดินเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว :
หลายคนอาจจะทราบแล้วว่า ไม่ถึง 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยในทุก ๆ 100 คนจะพบผู้สูงวัยที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 14 คน หมายความว่าด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าและการดูแลสุขภาพของตนอง ทำให้คนไทยมีแนวโน้มอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวขึ้นแต่ เนื่องจากพฤติกรรมการเก็บออมหรือการลงทุนยังมีน้อย ดังนั้นมีความเป็นไปได้อย่างมาก ว่าอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมคนสูงวัยที่ยากจนและต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ตามมา เช่น รายจ่ายในการดูแลสุขภาพของตนเองในยามแก่ชรา ซึ่งหากไม่มีการเก็บออมหรือวางแผนทางการเงินไว้ตั้งแต่ปัจจุบัน เมื่อแก่ชราแล้วจะไม่มีเงินเหลือไว้ใช้บริโภคหรือในยามชรา
นอกเหนือจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราการมีบุตรของสตรีลดต่ำลง สังคมไทยมีแนวโน้มอยู่คนเดียวหรือเป็นโสดมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงว่าอาจไม่มีบุตรหลานมาคอยเลี้ยงดูตนเองในยามชรา นักวางแผนการเงินหลายคนแนะนำว่าหากคาดว่าจะมีอายุหลังเกษียณไปอีก 20 ปี ด้วยรายจ่ายต่อเดือนหลังเกษียณที่เดือนละ 30,000 บาทอย่างน้อยก่อนเกษียณจะต้องมีเงินออมไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมเงินกรณีฉุกเฉินหากต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยร้ายแรง
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่าการ วางแผนทางการเงิน เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ ผู้ที่วางแผนทางการเงินไว้อย่างรอบคอบจะทำให้สถานการณ์ทางการเงินในอนาคตของครัวเรือนมั่นคงปลอดภัยขึ้น และยังทำให้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาจากพายุความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือแม้แต่การเข้ามาของสังคมสูงวัยก็อาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้ที่วางแผนการเงินไว้เป็นอย่างดี