หลังจากครั้งที่แล้วเราได้ทดลองลองคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมกันอย่างสนุกสนาน (หรอ?) กันไปเป็นที่เรียบร้อย หลายๆคนคงจะเตรียมเงินที่ต้องชำระภาษีกันได้อย่างสบายใจ แต่!! อย่างที่เราทิ้งท้ายกันไว้จากบทความที่แล้ว ถึงการ ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเลยทีเดียว เพื่อเป็นรักษาสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี ของผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และในวันนี้ทางทีมงาน Moneyhub ก็ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากทุกคน กันครับ
หลายคนมาถึงตรงนี้อาจจะยังสงสัยอยู่ว่า การลดหย่อนภาษีคืออะไร
จากที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “ภาษี” คือ รายได้ภาครัฐ เพื่อสร้างสวัสดิการ ชีวิตดี๊ดี คืนกลับมาให้พวกเราทุกคน และแน่นอนอยู่แล้วว่า ถึงกฎหมายจะได้กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ทั้งนี้ ทางภาครัฐตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้าอกเข้าใจบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ดีว่า แต่ละคนนั้นต่างมีภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ต้องแบกรับแตกต่างกันไป เลยได้มีการผ่อนปรนให้ทุกคนสามารถขอลดหย่อนภาษีได้สำหรับสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
หลายๆคนคงสงสัยใช่ไหมครับว่าค่าใช้จ่ายและช่องทางไหนบ้างที่สามารถนำมายื่นขอลดภาษีได้บ้างนะ บอกเลยว่าทีมงานของเราไม่พลาดที่จะนำข้อมูลมาฝากอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราไปดูกันเลย !!
ค่าใช้จ่ายที่สามารถลดหย่อนภาษีได้
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกท่านจะได้รับ สามารถลดหย่อนได้ 30,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายคู่สมรส เป็นค่าลดหย่อนสำหรับท่านที่มีคู่สมรส“ซึ่งไม่มีรายได้”สามารถลดหย่อนได้ 30,000 บาท งานนี้บอกเลยว่าแม่บ้านยังสาว หรือพ่อบ้านใจกล้าทั้งหลายสบายใจได้เลย
- ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร เป็นค่าลดหย่อนสำหรับท่านที่มีบุตร ทั้งบุตรแท้ที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม โดยสามารถลดหย่อนได้ท่านละ 15,000 บาท และเฉพาะสำหรับบุตรที่กำลังศึกษาสามารถลดหย่อนได้ท่านละ 17,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นค่าลดหย่อนสำหรับท่านที่มีบิดามารดาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ “เฉพาะบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ตลอดปีไม่เกิน 30,000 บาทและอยู่ในอุปการะของท่าน”สามารถลดหย่อนได้ท่านละ 30,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตทั่วไปเป็นค่าลดหย่อนสำหรับท่านที่ทำประกันชีวิต สามารถนำมาคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวณเบี้ยประกันที่ท่านจ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000บาท (กรุณาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากตัวแทนประกันชีวิต)
- ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัยเป็นค่าลดหย่อนสำหรับท่านที่กู้ยืมสินเชื่อเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินต่างๆ โดนสามารถนำยอดดอกเบี้ยที่ท่านจ่ายจริงมาคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องไม่เกิน 100,000 บาท หลายๆน่าจะผ่อนบ้านกันต่อได้อย่างสบายใจไปเลย
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม สำหรับท่านที่ทำประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่ท่านส่งเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีข้อกำหนดว่าต้องไม่เกิน 9,000 บาท
- ค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)สำหรับท่านที่ซื้อกองทุน LTFสามารถขอลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่ท่านจ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทนะครับ
- ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)เช่นเดียวกันกับกรณี LTF สำหรับท่านที่ซื้อกองทุน RMFก็สามารถขอลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่ท่านจ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทครับ
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษาสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ท่านได้จ่ายจริง
- เงินบริจาคทั่วไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่ท่านได้จ่ายจริง เพราะฉะนั้นใครๆที่เดินทางสายบุญ จิตอาสา ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์สังคมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ตอบแทนกลับมาอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้นนะครับ
แต่เดี๋ยวก่อน !!! ถ้าคุณอ่านข้อความด้านล่างในขณะนี้ !!!!
ยังมีค่าใช้จ่ายประเภทอื่นอีกมากมายที่ท่านสามารถนำมาใช้ลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีกครับ เช่น ลดหย่อนกรณีผู้ทุพพลภาพ ลดหย่อนจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ลดหย่อนจากค่าใช้จ่ายที่ท่านจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือลดหย่อนจากค่าใช้จ่ายที่ท่านใช้ในการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายจากปัญหาอุทกภัย เป็นต้นแต่บางกรณีก็ไม่ได้เป็นสิทธิการลดหย่อนที่คงอยู่อย่างถาวรตราบชั่วฟ้าดินสลายเสมอไปนะครับ แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น ในส่วนนี้ก็ขอให้ ทุกท่านคอยติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข้อกำหนดและนโยบายจากทางภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วนนะครับ
หลังจากที่เราทำความเข้าใจถึงช่องทางในการ ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กันไปแล้ว เมื่อเราตรวจสอบคุณสมบัติในการลดหย่อนภาษีเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็คือการยื่นเอกสารขอ ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นเอง บอกเลยว่าง่ายซะยิ่งกว่าง่ายอีกครับ เนื่องจากทางกรมสรรพากรผู้รับผิดชอบโดยตรง ได้จัดแบบฟอร์มสำเร็จรูปให้ท่านสามารถกรอกบัญชีการขอลดหย่อนภาษีได้เลย แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้เรียบร้อยนะครับ
อ่านเพิ่มเติม >> ขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ พร้อมคำแนะนำ <<
ซึ่งเอกสารดังกล่าวก็ได้แก่หลักฐานการใช้จ่ายที่สามารถขอลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง อาทิเช่น หากท่านใดที่ต้องการ ขอลดหย่อนภาษีในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร ก็จะต้องจัดเตรียมทะเบียนบ้านและใบแจ้งเกิดของบุตรเพื่อมายืนยันสถานะการเป็นบุตร หากท่านใดที่ต้องการขอลดหย่อนภาษีในส่วนของค่าสมทบกองทุนประกันสังคมก็ต้องมีหนังสือรับรองจากทางบริษัท พร้อมอัตราเบี้ยสมทบทุนมาใช้เป็นหลักฐานประกอบ หรือหากท่านใดต้องการขอลดหย่อนภาษี ในส่วนของเงินบริจาคเพื่อการศึกษา ก็ต้องนำใบเสร็จที่ได้รับจากหน่วยงานที่ท่านบริจาคมายื่นประกอบเป็นหลักฐาน เพื่อขอลดหย่อนภาษีนั่นเองครับ
เห็นแล้วใช่ไหมล่ะครับว่าในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมนั้นสามารถขอลดหย่อนได้หลากหลายช่องทางเลย แต่ขอย้ำกันอีกสักนิดนะครับว่า ค่าลดหย่อนแต่ละประเภททั้งหมดนี้ไม่ได้นำไปลดหย่อนหลังจากที่ท่านคำนวณออกมาเป็นยอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนะครับ แต่จะนำไปลดหย่อนหรือหักลบจากเงินได้พึงประเมินของท่านเพื่อออกมาเป็นยอดเงินได้สุทธิ แล้วจึงนำไปคำนวณตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (หากท่านใดยังคงสับสนหรือไม่เก็ทล่ะ หรืออาจจะยังไม่ได้บทความของเราก่อนหน้านี้ล่ะก็ ย้อนกลับไปอ่านทำความเข้าใจได้ครับ ไม่ว่ากัน ในเรื่อง “การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ครับ) เมื่อเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันดีแล้ว ก็ขอให้ทุกท่านร่วมกันรักษาสิทธิ์ประโยชน์ของตัวท่านเองนะครับและสุดท้าย
อย่าลืมพบกันในบทความหน้านะครับ กับการกลับมาอีกครั้งของการทดลองคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ครั้งนี้กลับมาในรูปแบบของโปรแกรมช่วยคำนวณ โดยเรานำมาฝากแบบละเอียดทุกขั้นตอน บอกเลยว่าห้ามพลาดเด็ดขาด ! สวัสดีครับ