หาเงินเท่าไหร่ ก็ใช้หมด ไม่พอจ่ายอีก ?
พูดกันติดปากตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยเกษียณ ว่าหาเงินมาจ่ายออกหมด หาเงินได้เท่าไหร่ก็ไม่พอจ่าย หาเงินมาไม่ทันได้ใช้ หาเงินมาได้ก็ไม่เคยมีเงินเก็บคนทำงานทุกคนต่างต้องการเงินเดือนสูงๆ รายได้เยอะๆ กันทั้งนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้เงินเดือนที่พอใช้จ่ายตลอดเดือน เหลือเก็บบ้างเล็กน้อยก็ยังดี
แต่สภาพสังคมปัจจุบัน ชีวิตของคนทำงานมีสิ่งที่ทำให้ต้องเสียเงิน เสียค่าใช้จ่ายค่ามากขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นรายจ่ายที่สำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนแปลง หรือลดรายจ่ายไม่ได้ เช่น ค่าผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำในแต่ละเดือน ค่าผ่อนสินค้า ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเสริมสวย-ซื้อเครื่องสำอาง ค่าใช้บริการฟิตเนส ค่าน้ำมันรถ
รายจ่ายเหล่านี้ เป็นการจ่ายเพื่อสิ่งที่ ‘อาจไม่จำเป็นต้องมี ต้องทำ หรือต้องเป็น’ แต่ก็ยังดีกว่ารายจ่ายในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เช่น ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ ค่าหวย หรือค่าใช้จ่ายสำหรับอบายมุขต่างๆ
เงินเดือนเท่าไหร่จึงจะพอกับความต้องการจึงเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับคนทำงาน หลายคนมีรายได้มากกว่าตอนเริ่มต้นทำงาน แต่ก็ยังไม่พอใช้จ่าย ไม่พอใช้หนี้ ลองมองย้อนกลับไปในอดีต หากเราไม่ก่อหนี้ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต เพื่อซื้อสิ่งที่ต้องการอย่างง่ายๆ ป่านนี้คงมีเงินเก็บมากมาย
หากคนทำงานอย่างคุณ จ่ายค่าเหล้า ค่าบุหรี่ในแต่ละวัน เท่าค่าใช้จ่ายประจำวันโดยเฉพาะค่าข้าว ถ้างดเหล้า งดบุหรี่ในแต่ละเดือน จะเหลือเงินค่าข้าวเป็นสองเท่าเลยทีเดียว!
หากคุณมีรายได้หลักพัน หรือหลักหมื่นต้นๆ แต่ซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับราคาแพงใส่ไปทำงาน ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องละหลายหมื่นที่ยังต้องผ่อน ดื่มกาแฟแก้วละเกือบร้อย แม้จะเป็นความสุขของคนทำงานที่ถือเป็นการให้รางวัลตัวเองจากการทำงานที่เหน็ดเหนื่อย แต่ความทุกข์ที่ต้องจ่ายหรือเป็นหนี้จะตามมาในภายหลัง
พฤติกรรมและการใช้ชีวิตเช่นนี้ ส่งผลให้คนทำงานส่วนใหญ่มีหนี้สิน แม้แต่คนที่ทำงานได้เงินเดือนสูงแต่บริหารรายได้ของตนเองไม่ดี ก็ไม่เหลือเงินเก็บเพราะส่วนมากได้เงินเยอะก็ใช้เยอะตามไปด้วย
นี่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความอยากได้อยากมีของคน ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนเป็นเด็กคุณอาจจะคิดว่า มีเงินแค่ 1 ล้านบาท ก็ถือว่ารวยแล้ว แต่เมื่อโตขึ้นมาเงิน 1 ล้านบาทอาจจะเป็นเงินจำนวนที่น้อยมากในสายตาคุณ
นั่นก็เพราะกิเลสไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งคนเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตาม ‘สภาพและฐานะนุรูปที่คุณต้องสร้างภาพให้ปรากฏแก่สังคม’ ดังนั้นถึงจะมีเท่าไรก็ไม่พอใช้ เพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ลองพิจารณาดูว่าในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน คุณอาจมีรายได้แค่หลักพัน หรือหลักหมื่นต้นๆ จากรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในหนึ่งหนึ่งเดือน เมื่อคุณมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ รายได้ก็เกิดการไม่พอใช้ ต้องหมุนเงินเดือนชนเดือน หลังจากนั้นคุณก็จะเริ่มคิดว่าถ้ามีเงินเดือนสามหมื่นบาทก็คงพอค่าใช้จ่าย อยู่ได้สบายๆ แต่เมื่อเงินเดือนคุณถึงสามหมื่นเมื่อไหร่ก็กลับเข้าสู่พฤติกรรมเดิม เงินสามหมื่นที่คิดว่าพอ สุดท้ายก็ไม่พออยู่ดี
อ่านเพิ่มเติม >> คำนวณ รูรั่วค่าใช้จ่าย อุดให้ดีแล้วเก็บมาเป็นเงินทุน! <<
- จากที่เคยคิดว่า ‘ใช้เท่าไหร่ก็ยังไม่พอ’ พยายามเปลี่ยนมาเป็น ‘อยากเก็บออมให้ได้เยอะที่สุด จนรู้สึกว่าออมเท่าไหร่ก็ยังออมไม่พอ’ หรือ สร้างหนี้ได้ แต่ต้องเป็น ‘หนี้เพื่ออนาคต’ ออมเงินกับประกันชีวิต และฝากเงินกับธนาคาร จะได้สบายตอนแก่ หรือมีเงินเก็บไว้ใช้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
- ประเมินรายจ่ายจากเงินเดือนหรือรายรับอื่นๆ ก่อนเสมอ เพื่อจัดสรรเงินเดือนเป็นส่วนๆ คิดว่าควรจ่ายอะไรเท่าไหร่บ้าง จะได้รู้ว่าที่จ่ายไปแต่ละเดือนจนไม่เหลือกินเหลือเก็บนั้น รายจ่ายส่วนใดที่ไม่มีความจำเป็น ก็ค่อยๆ ตัดออกไป เรียกง่ายๆว่า ใช้จ่ายอย่างประหยัด
หากเก็บออม 1 ปี ได้ สัก 8 หมื่น เก็บออมได้ 3 ปี เป็น 2 แสน 4 หมื่น ระหว่างนั่นอาจจะไปฝากธนาคาร ลงทุน ก็จะมีเงินเก็บเพิ่มได้ แม้ในอนาคตข้าวของเครื่องใช้จะขึ้นราคา คุณก็ไม่เดือดร้อนอะไร ถ้าเทียบกับคนที่ทำงานมา 3 ปีเท่ากัน แต่ไม่มีเงินเก็บแม้แต่บาทเดียว ที่สำคัญคุณจะมีเงินสำรองนอนนิ่งๆ ไว้ใช้ได้ยามฉุกเฉิน เช่น ยามเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้คุณไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป!