เปิดศักราชปี พ.ศ. 2559 มาด้วยสถานการณ์ทางการเงินของประเทศไทยที่ผ่านมา โดยพบว่าสืบ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่มีกำลังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีและต้นปี และต่อเนื่องกับสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ไม่สู้ดีนัก และการประกาศปรับลดค่าเงินหยวนของธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ลงมาอยู่ที่ระดับ 6.50 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง สถานการณ์ค่าเงินบาท ของไทยที่อ่อนค่าลงอย่างเป็นประวัติการณ์
ในช่วงต้นสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม พบว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทเปิดศักราชมาด้วยการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 เดือน
โดยอยู่ที่ระดับ 36.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ปัญหาค่าเงินหยวนที่ประกาศอ่อนค่าลงอีกครั้งที่ 6.58 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในตะวันออกกลางและปัญหาราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่น่าพอใจได้ และส่งผลทำให้ค่าเงินบาทปิดตลาดของสัปดาห์แรก (วันศุกร์ที่ 8 มกราคม) ที่ 36.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ต่อเนื่องมายังสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยยังคงทำสถิติใหม่โดยอ่อนค่ามากที่สุดอีกครั้งที่ระดับ 36.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าเป็นระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์ค่าเงินในกลุ่มประเทศเอเชียที่ต่างอ่อนค่าลงเช่นเดียวกันทั้งหมด และสถานการณ์ทางการเงินของประเทศจีนยังไม่เป็นที่น่าวางใจนัก เมื่อเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะผันผวน เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 36.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นักวิเคราะห์เห็นว่าส่วนหนึ่งของการอ่อนค่าของเงินบาทมาจากปัจจัยภายในประเทศ อาทิเช่น สถานะของตลาดหุ้นไทยด้วย ทั้งนี้ส่งผลทำให้ปิดตลาดของสัปดาห์ที่สองของมกราคมที่ 36.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าสถานการณ์ค่าเงินในช่วงต่อไปอาจต้องพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐประกอบด้วย เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค การจำหน่ายบ้าน และดัชนี PMI ภาคการผลิต ที่อาจส่งผลต่อค่าเงินในช่วงสัปดาห์ต่อไปได้
ในที่นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทของไทย ส่วนหนึ่งจากบทวิเคราะห์ของ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัตต์ ชี้ว่า
การอ่อนค่าของเงินหยวนนั้นจะส่งผลทำให้การค้าระหว่างประเทศไทยและจีนดำเนินการยากขึ้น ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าจะมีผลเสียต่อการส่งออกเพราะจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันจำหน่ายสินค้ากับประเทศอื่นได้ ถ้าค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าลงตามแต่ขณะเดียวกันสถานการณ์ค่าเงินบาทยังจำเป็นต้องอ่อนค่าตามเงินสกุลอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญกับประเทศไทยทั้งสิ้น ดังนั้นหากต้องการพยุงระดับการค้าไว้ได้อาจจำเป็นต้องอ่อนค่าเงินบาทลงตามสกุลเงินหลักเหล่านี้ ซึ่งหากหันไปพิจารณาด้านการส่งออกจะพบว่า ภาคการส่งออกของไทยไม่สามารถชี้นำเศรษฐกิจได้เช่นเดิม โดยสถิติย้อนหลัง 3 ปีชี้ว่า สถานการณ์การส่งออกไทยติดลบมาต่อเนื่องแล้วนับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2556-2558 ดังนั้นจัดว่าสถานการณ์ยังคงน่ากังวลในด้านการส่งออก
นักวิเคราะห์ชี้ว่าสิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือ ด้วยรูปแบบการค้าของประเทศไทยที่ปัจจุบันอิงตลาดการส่งออกเป็นสำคัญ สถานการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเผชิญกับสงครามค่าเงิน โดยแต่ละประเทศแข่งกันลดค่าเงินลงเพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้าส่งออก และสำหรับในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เปิดตัวไปไม่นานนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินหยวนเช่นกัน โดยความสำคัญของการค้าขายระหว่างจีนและอาเซียนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา และจีน-ยุโรป หากค่าเงินหยวนมีความผันผวนก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของอาเซียนลดต่ำลงด้วยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และในกลุ่มนั้นประเทศไทยเองก็จะได้รับผลกระทบตามมาด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเห็นอีกกระแสหนึ่งว่า การปรับลดค่าเงินหยวนของจีนอาจจะส่งผลกระทบไม่รุนแรงมากนักอย่างที่คาด โดย นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยธนาคาร CIMB เห็นว่า
แม้ธนาคารกลางจีนจะปรับลดค่าเงินหยวน แต่คาดว่าปัจจุบันในระยะสั้นจะยังไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาทไทยมากนัก เนื่องจากยังมีประเด็นของราคาน้ำมันดิบที่ต่ำ ซึ่งจะเป็นอานิสงส์สำคัญสำหรับเงินบาทไทย แต่ทั้งนี้ประเทศไทยอาจต้องเรียนรู้ปรับตัวในภาคการส่งออก เนื่องจากประเทศจีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญของไทยในเวทีอาเซียน ดังนั้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างน้อยที่สุดควรลดค่าเงินบาทตามลงไปและมีความเป็นไปได้ว่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2559 นี้ค่าเงินบาทอาจลงไปที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้
ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุป สถานการณ์ค่าเงินบาท ของไทยในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ค่าเงินหยวนและสถานการณ์การเมืองในต่างประเทศ ซึ่งสำหรับอนาคตในช่วงใกล้นี้ ซึ่งเพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกยังต่างประเทศ โดยเฉพาะการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ภาครัฐอาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงมาตรการการสนับสนุนการส่งออกของเอกชนให้มากขึ้น อาทิเช่น สิทธิพิเศษต่าง ๆ ทางการค้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของการส่งออกไทย รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบการส่งออกให้มีความรวดเร็วสะดวกมากขึ้น และยังพึงต้องเฝ้าระวังจับตาดูการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ค่าเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง