หลายท่านคงคุ้นเคยกันดีกับ โครงการสร้าง รถไฟฟ้าความเร็วสูง ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลผ่านมากี่สมัยแล้ว ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการผลักดันเพื่อดำเนินงานก่อสร้าง รถไฟฟ้าความเร็วสูง ให้แล้วเสร็จ ล่าสุดหลังจากเมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีการลงนามในสัญญาระหว่างไทย-จีน เป็นที่เรียบร้อย ในการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วปานกลาง 160-180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเส้นทางที่จะก่อสร้างนั้นคือ หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ซึ่งรวมระยะทางทั้งหมด 867 กิโลเมตร การลงนามมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (พ.ศ.2558) ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion-GMS Summit)
หลังจากที่เรามองย้อนกลับไป ก็พอจะมองเห็นความเป็นไปได้ในอนาคตว่า ประเทศไทยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นศูนย์ของการคมนาคมขนส่งสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ถึงแม้จะมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าออกมาในรูปแบบของรถไฟความเร็วปานกลางนั้น ก็เป็นเพราะว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงไม่เอื้อต่อบริบทสภาพแวดล้อมของไทย ทั้งปัจจัยทางด้านเงินลงทุนที่ต้องใช้ในจำนวนมากและประโยชน์ของการใช้สอย ถ้าเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูง คือวิ่งตั้งแต่ 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น จะใช้ในการขนส่งเดินทางของผู้โดยสารเป็นหลัก ส่วนในระดับปานกลาง เงินลงทุนก็จะลดลงมาและจะรองรับในส่วนของผู้โดยสารเดินทางและขนส่งสินค้าไปในตัวด้วย ไทยเองก็ยังมีเงินลงทุนสนับสนุนในส่วนนี้ที่ไม่เพียงพอ ต้องอาศัยจากจีนช่วยด้วยเสียส่วนใหญ่ และข้อเจรจาในครั้งล่าสุด ก็คือ จีนจะช่วยอนุมัติงบประมาณในส่วนของการก่อสร้าง 10 % (ที่มาข่าว : จากไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ) ซึ่งสัดส่วนที่เหลือจีนต้องการให้ไทยลงทุนเอง แต่ไทยเองก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุนสูงเช่นกัน เมื่อเทียบกับจีนที่ลงทุนแค่ 10 % แต่ผลประโยชน์ที่ได้ ย่อมได้มากกว่านั้นแน่นอน ในขณะที่ไทยต้องแบกรับภาระการก่อสร้างในสัดส่วนที่มากกว่ารายได้ของการใช้บริการเมื่อลองมาคาดการณ์เทียบระหว่างการใช้รถไฟฟ้าในอนาคตและเงินลงทุน ผลตอบแทนอาจจะได้ไม่เท่ากับที่ลงทุนไปด้วยซ้ำ
นั่นแหละค่ะ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องมาคิดกันว่า การลงทุนที่ใช้งบประมาณแผ่นดินมากขนาดนี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่
ในด้านของเศรษฐกิจ ถ้าโครงการได้รับการสนับสนุนจากหลายๆฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันจนสำเร็จ ข้อดีที่จะเกิดขึ้นก็คือ ทำให้ประเทศไทยมีระบบการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและรวดเร็ว การกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหรือแม้แต่เข้าไปในจีนก็จะสะดวกสบายมากขึ้น เพราะปัจจุบันการขนส่งสินค้าก็ยังเป็นการขนส่งผ่านทางอากาศและทางเรือกันอยู่ โดยเฉพาะทางน้ำผ่านเรือสินค้า นั้นอาจจะใช้ระยะเวลานาน กว่าจะเดินทางมาถึง ซึ่งมีความล่าช้า แต่ถ้ามีรถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้เข้ามา ก็จะช่วยให้ประหยัดเวลามากขึ้น สินค้าของจีนที่มีราคาถูกก็จะถูกลำเลียงมาขายในประเทศมากขึ้นนั่นเอง แต่ถ้ามองในแง่ของข้อเสียนั้น แน่นอนว่าถ้าโครงการสำเร็จลุล่วง ช่วงแรกๆอาจจะมีผู้ใช้บริการน้อยเพราะยังไม่มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของรถไฟ ไทยอาจจะต้องแบกรับภาระความเสี่ยงต่อการขาดทุน ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูและกระตุ้นให้ผู้คนมาใช้บริการให้มากขึ้น ซึ่งค่าบริการเริ่มแรกอาจจะไม่เก็บในจำนวนที่มากเพราะต้องการดึงดูดผู้คนนั้นเอง
ส่วนในเรื่องของการส่งออกและนำเข้าสินค้า หากเป็นการส่งออก ไทยอาจจะเสียเปรียบจีนตรงที่ส่งออกไปจีนน้อยกว่าที่นำเข้าสินค้าจากจีน เพราะสินค้าจากจีนส่วนใหญ่จะมีราคาถูกกว่า อย่างเช่น ในตลาดของเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย ที่ตอนนี้การพรีออเดอร์จากจีนก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าคุณภาพจะไม่ค่อยดี แต่มีรูปแบบที่สวยงามบวกกับราคาถูก ก็สามารถตอบโจทย์ในกลุ่มของลูกค้าที่มีรายได้น้อยก็สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ราคาที่ต่ำกว่าเหล่านี้ได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ไทยหวั่นใจอยู่เหมือนกันว่า สินค้าจากจีนจะเข้ามาในไทยเยอะมากเกินไป เว้นเสียจากว่าไทยจะมีการจัดทำนโยบายข้อกำจัดของสินค้านำเข้ากันใหม่
การสร้างรถไฟฟ้าจากจีนนั้น คาดว่าจะเดินหน้าเริ่มก่อสร้างภายในปี 2559 นี้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตา คอยฟังข่าวคราวกันต่อไป เพราะเนื่องจากต้องนำเอาประเด็นปัญหาที่เป็นด้านงบประมาณนั้น อาจจะยังต้องนำมาถกประเด็นกันอีกสักนิด เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน ระหว่างไทย-จีน
แต่ถ้ามองในมุมของการเปิดโอกาสเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเป็นสากลมากขึ้นนั้น รถไฟฟ้าความเร็วสูงก็มีส่วนที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจในไทยได้ มันก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง ถึงแม้ว่าจะมีหวั่นๆเรื่องขาดทุนอยู่บ้างก็ตาม แต่ถ้าใช้รถไฟฟ้าเป็นตัวกลางขนส่งกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ไทยอาจจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆที่มีรถไฟฟ้าผ่าน สนับสนุน ส่งเสริม ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม เพราะในปัจจุบันนี่เอง สัดส่วนปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น พบว่าเป็นคนจีนซะส่วนใหญ่ ดังนั้นแล้วถ้าไทยไม่สามารถสู้ในเรื่องของนำสินค้าส่งออกไปยังจีนได้ แต่ไทยเน้นการให้บริการในด้านของท่องเที่ยวแทน ก็จะเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
ไม่ว่าในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือไม่ ประเทศของเราก็ยังคงต้องมีการเดินหน้าและก้าวต่อไป ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทย ก็ต้องคอยดูต่อไปว่าส่วนกลางของรัฐจะมีท่าทีอย่างไร เพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการประกอบกับการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆด้วย ทั้งนี้หากมีอะไรคืบหน้า เราจะมาร่วมกันรายงานและวิเคราะห์ข่าวกันในโอกาสต่อไปนะคะ สวัสดีค่ะ.
ขอบคุณแหล่งที่มา :
- http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9570000145528
- https://www.thairath.co.th/content/554599