หากใครติดตามข่าวช่วงนี้ข่าวดังคงไม่พ้น ข่าวหนีทุนของอาจารย์สาวทันตแพทย์ที่กำลังโด่งดังระดับประเทศในขณะนี้ หากเรามาวิเคราะห์กันดูถึงเรื่องนี้นั้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจกันพอสมควร ใครจะเชื่อว่าระดับอาจารย์แพทย์จะกล้าทำเรื่องแบบนี้ ทั้งๆที่เงินที่ไปเรียนต่อนั้นก็เป็นเงินทุนของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดหาทุนให้กับผู้ที่มีความรู้ความสามารถไปเรียนต่อเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ โดยมีเงื่อนไขระยะเวลาในการใช้ทุนแตกต่างกันไปตามแต่ละโครงการ ซึ่งในกรณีนี้ระบุไว้ว่าต้องชดใช้ทุนเป็นระยะเวลา 3 เท่า ซึ่งทันตแพทย์สาวรายนี้มองว่าเป็นการเอาเปรียบกันเกินไปทั้งด้านตัวเงินและระยะเวลาที่ต้องใช้ทุน
หากคิดกันตามหลักแล้วเงื่อนไขต่างในการขอทุนก็เหมือนกับทำสัญญากู้ยืมเงินที่จะระบุไว้ว่า กู้ยืมไปเป็นจำนวนเท่าไหร่ ดอกเบื้ยเท่าไหร่ มีเงื่อนไขในการใช้คืนอย่างไร ซึ่งผู้ที่ขอทุนต้องรู้อยู่แล้วว่าในอนาคตจะต้องใช้คืนเท่าไหร่และอย่างไร หากไม่ใช้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้คงเป็นคำถามให้กับคนที่ติดตามข่าวกันพอสมควร เพราะไม่คิดว่าผู้ที่มีความรู้ความสามารถถึงระดับนี้จะกล้าทำ การศึกษาวัดอะไรไม่ได้จริงๆในแง่ของความรับผิดชอบและคุณธรรม
ทีนี้มามองกันถึงเรื่องที่เป็นข่าวคราวกันมามากพอสมควรในของเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่อง ทุน กยศ.ที่มีปัญหาหนีทุนกันมากมาย คือไม่จ่ายคืน ทั้งที่บางคนนั้นมีรายได้สูง แต่กลับไม่ยอมใช้หนี้ ซึ่งมีการสำรวจกันมาว่า นักศึกษาสายสุขภาพหรือกลุ่มหมอ พยาบาล เภสัช เป็นกลุ่มที่ไม่ชำระหนี้ กยศ.มากกว่าสายอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจกันพอสมควร เพราะคนส่วนใหญ่มองว่ากลุ่มอาชีพนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถ มีรายได้ดีกว่าสายอาชีพอื่นๆ แต่ทำไมกลับกลายเป็นกลุ่มที่ค้างหนี้การศึกษามากที่สุด ทั้งที่หนี้ กยศ.เป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่ำ มีระยะเวลาพักหนี้หลังเรียนจบ สามารถผ่อนชำระขั้นต่ำได้แค่หลักร้อย นี่จึงทำให้มองได้ว่าการศึกษาสูงก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบหรือคุณธรรมสูงตามไปด้วย
ยิ่งมีกรณีค้างหนี้ กยศ.เป็นจำนวนมาก และมีข่าวอาจารย์หนีทุน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเยาวชนในประเทศของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต เงินกองทุน กยศ.จะยังมีให้รุ่นน้องกู้ยืมเพื่อศึกษาเล่าเรียนในอนาคตหรือไม่ เพราะรุ่นพี่เบี้ยวหนี้กัน ระดับอาจารย์ยังหนีทุน จะมีนักศึกษารุ่นใหม่ๆเอาแบบอย่างหรือไม่
หนีหนี้ หนีทุน สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้ถึงจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมหย่อนยาน ซึ่งหากใครเคยติดตามข่าวการศึกษาคงเคยได้ยินว่าการสอนวิชาจริยธรรมเป็นเรื่องน่าเบื่อ และเคยเกือบจะถูกถอดออกจาการเรียนการสอน ทั้งๆที่ปัจจุบันการอบรมเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในวิชาสังคมและศาสนาแล้วเท่านั้น ไม่ได้มีคาบเรียนอย่างจริงจัง เป็นแค่กิจกรรมเสริมเท่านั้น ระดับจริยธรรมที่ตกต่ำลงทำให้เชื่อว่าในอนาคตคงต้องมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ด้วยปัญหาเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ ได้แต่หวังว่าเด็กรุ่นใหม่ๆจะมีแนวคิดเอาทุนไปเรียนแล้วต้องคืน รุ่นพี่และอาจารย์ควรปลูกฝัง และทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กรุ่นหลังต่อไปว่า
เป็นหนี้ก็ต้องใช้ อย่าหนีหนี้ให้เป็นภาระของคนอื่นๆ เหมือนอย่างกรณีหนีหนี้สะท้านแผ่นดินที่คนที่ต้องชดใช้นั้นก็ต้องลำบากกัดฟันใช้หนี้กันเป็นสิบๆปี ส่วนคนที่หนีไปก็ลอยนวลได้แต่หวังว่ากรณีนี้คงเป็นอุทธาหรณ์ได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม : ค้ำประกันเงินกู้ กระดูกแขวนคอที่อาจจะแขวนทั้งชีวิต