ตามที่เป็นข่าวกันครึกโครม พูดถึงเรื่อง “การเซ็นค้ำประกัน ” ที่เป็นเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่สร้างปัญหาให้กับคนเซ็นค้ำมาแล้วนับไม่ถ้วน ฉะนั้น เราจึงควรรู้ถึงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็นค้ำประกันให้ดีเสียก่อน
อ่านเพิ่มเติม : หนีหนี้ หนีทุน เมื่อจริยธรรมไม่สูงตามการศึกษา
ก่อนที่จะค้ำประกันให้ใคร
การค้ำประกัน พูดตามตัวอักษรเลยคือการยืนยันว่ามีผู้มารับผิดชอบแทน โดยส่วนมากแล้วจะเอามาใช้กับการกู้หนี้ ยืมสินกัน ซึ่งในขณะที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เงินที่มีนั้นไม่มากพอ จึงจำเป็นต้องกู้เพื่อเป็นลูกหนี้ ทั้งนี้ทางเจ้าหนี้เองก็ต้องมั่นใจว่า เมื่อปล่อยเงินกู้ จะต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเข้าจะได้รับการชำระหนี้คืน
“ค้ำประกันก็เป็นหลักประกันอันหนึ่ง ที่ใครคนหนึ่งทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้”
การที่จะฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้นั้น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญมิใช่ตกลงกันด้วยปากเปล่าซึ่งฟ้องไม่ได้ ตามธรรมดาถ้าทำสัญญาค้ำประกันตามแบบซึ่งมีขายอยู่ทั่วไป ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเป็นแบบซึ่งทำโดยผู้รู้กฎหมาย แต่ถ้าทำกันเองก็อาจเกิดปัญหาได้ ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ก็ต้องระมัดระวังในข้อนี้ ในเอกสารนั้นต้องมีข้อความอันเป็นสาระสำคัญว่า ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทน มิฉะนั้นอาจฟ้องผู้ค้ำประกันไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นสัญญาค้ำประกันตามกฎหมาย
ขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน จะไม่จำกัดความรับผิดหรือจะจำกัดความรับผิดชอบของตนไว้ในสัญญาค้ำประกันด้วยก็ได้ ถ้าไม่ต้องการรับผิดอะไรบ้าง หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใด ก็ต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน
ตัวอย่างที่เป็นอุทาหรณ์ เช่น นายหนึ่งกับนายสองเป็นเพื่อนสนิทที่คบหากันมานาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นายหนึ่งเช่าซื้อรถยนต์กระบะ ๑ คัน ราคา ๗๐๐,๐๐๐ บาทเศษ โดยวางเงินดาวน์ จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือน จำนวน ๗๒ งวด ซึ่งฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อกำหนดว่าจะต้องมีผู้ค้ำประกันอย่างน้อย ๒ คน นายหนึ่ง จึงขอให้นายสอง กับนายสาม ญาติของนายหนึ่ง เป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถคันดังกล่าว เมื่อได้รับรถยนต์กระบะมาแล้ว นายหนึ่งไม่เคยชำระค่าเช่าซื้ออีก จนเวลาผ่านไป ๑ ปี ผู้ให้เช่าซื้อจึงติดตามยึดรถยนต์กลับคืน โดยรถเสื่อมสภาพมาก ต่อมาผู้ให้เช่าซื้อฟ้องให้นายหนึ่ง นายสอง และนายสามชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ นายสองเข้าใจว่าตนเป็นเพียงผู้ค้ำประกันคงไม่ต้องรับผิดและไม่ไปศาลตามนัด ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดบ้านและที่ดินของนายสอง ซึ่งมีเพียงแปลงเดียวออกขายทอดตลาด
การพ้นความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
เมื่อเซ็นชื่อในสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันก็มีภาระจะต้องรับผิดต่อเจ้าหน้าที่จนกว่าหนี้ของลูกหนี้ จะระงับไป ตราบใดที่หนี้ของลูกหนี้ยังมีอยู่ผู้ค้ำประกันก็ไม่พ้นความรับผิด แต่มีพฤติการณ์บางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิด
(๑) เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ คือถ้าได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว เจ้าหนี้ยืดเวลา ต่อไปอีกผู้ค้ำประกันก็พ้นความรับผิด
(๒) เมื่อหนี้ของลูกหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว ผู้ค้ำประกันเอาเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ไว้แน่นอนแล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับโดยไม่มีเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิดเช่นเดียวกัน