ใกล้วันวาเลนไทน์แล้ว เป็นที่คึกคักของคู่รักที่มีความยินดีร่วมกันในการใช้ชีวิตคู่ ในแต่ละเขตอำเภอก็จะมีการ “จดทะเบียนสมรส” เพื่อเป็นการยืนยันว่า เราทั้งสองจะใช้ชีวิตร่วมกันเมื่อใดที่มีการลงน้ำหมึกลงในกระดาษเมื่อไหร่นั่นจะมีผลต่อกฏหมายทันที ว่าแต่แค่เรารักกัน ต้องมีกฏหมายด้วยหรอ แน่นอนทุกคู่ควรรู้ในเรื่องนี้ ส่วนใครที่แม้จะแต่งงานกันเป็นที่รับรู้ของสังคมแต่ “ไม่ได้จดทะเบียนสมรส” ก็อ่านไว้เป็นความรู้รอบตัว เพราะว่าความไม่เข้าใจเรื่อง “กฎหมายสินสมรส” นี่เองที่ทำให้สามีภรรยาที่จดทะเบียน สมรสต้องมีเรื่องราวกันมานักต่อนักแล้วเพราะยามรักกันดีมักไม่มีปัญหา แต่ปัญหาก็จะเกิดก็ต่อเมื่อชีวิตคู่เริ่มไม่ลงรอยกันและต้องการหย่านั่นเอง หรือไม่เรื่องทรัพย์สินก็กลายเป็นประเด็นให้เกิดการหย่าด้วยซ้ำไป
“ สินสมรส ” ก็คือ “ทรัพย์สินที่มีความเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างสามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรส” โดยกฎหมายได้กำหนดให้สิ่งต่อไปนี้เป็นสินสมรส
– ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือนของสามีที่ได้มาในแต่ละเดือนก็เป็นของภรรยาด้วยครึ่งหนึ่ง ทรัพย์สินใดๆ ก็ตามที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีและภรรยาคนละครึ่ง เช่น คนใดคนหนึ่งซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ไม่ว่าใครจะเป็นคนจ่ายเงินหรือใส่ซื้อของใครเป็นเจ้าของก็ถือเป็นทรัพย์สินร่วมกันของสามีภรรยา เว้นแต่ที่ดิน บ้าน หรือรถดังกล่าว ซื้อมาโดยเงินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภรรยาที่มีมา “ก่อนจดทะเบียนสมรส” เช่น ภรรยามีเงินฝากอยู่ในธนาคาร 3 ล้านบาท จึงนำเงินดังกล่าวไปซื้อคอนโดมิเนียม คอนโดฯ นั้นย่อมเป็นของภรรยาแต่เพียงผู้เดียว สามีไม่มีเอี่ยว
– สามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งได้รับมรดกมาแม้จะ “หลังจดทะเบียนสมรส” ถือเป็น “สินส่วนตัว” แต่หากมรดกที่ได้มาถูกระบุในพินัยกรรมว่า “ให้เป็นสินสมรส” มรดกนั้นก็ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของสามีและภรรยาคนละครึ่ง
– “ดอกผลของสินส่วนตัว” ก็เป็นสินสมรส เช่น ภรรยามีเงินฝากธนาคาร 1 ล้านบาทก่อนจะจดทะเบียนสมรส เงินต้นถือเป็นสินส่วนตัวของภรรยา แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับหลังจากจดทะเบียนสมรสถือเป็นสินสมรส ซึ่งสามีจะเป็นเจ้าของด้วยครึ่งหนึ่ง
หากสามีภรรยาประสงค์ให้ทรัพย์สินของตนที่หามาได้หลังจดทะเบียนสมรส “ไม่ต้องเป็นสินสมรส” จะทำได้หรือไม่และอย่างไร หากวันหนึ่งต้องการหย่าขาดกันจะได้ไม่มีปัญหาให้ปวดหัว
สามารถทำได้เพราะกฎหมายได้เปิดโอกาสให้สามีภรรยาตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยสามีทำเป็น “สัญญาก่อนสมรส” โดยจดข้อตกลงต่างๆ ให้ชัดเจนไว้ในทะเบียนสมรสหรือทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสพร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน แล้วแนบไว้กับทะเบียนสมรสโดยระบุไว้ในทะเบียนสมรสว่ามีสัญญาก่อนสมรส “เรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส” ซึ่งขอบอกว่าการทำหนังสือสัญญาก่อนสมรสเป็นที่นิยมทำกันมากในประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นทุกท่านที่กำลังจะจดทะเบียนสมรสจึงควรพิจารณาเรื่องการทำสัญญาก่อนสมรสไว้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แล้วรวมหรือแยกกระเป๋าดีละหลังแต่งงาน
คำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นอยู่กับความพอใจ ความสามารถในการหาเงิน ฐานะการเงิน การใช้ชีวิตของแต่ละคู่แต่ละคน ครอบครัวที่สามีหาเงินภรรยาทำงานที่บ้านก็ไม่มีปัญหา บางคู่ละที่ต่างคนต่างมีรายได้ แต่ต้องเทเงินมาลงกองกลางแล้วใช้จ่ายด้วยกันก็มีอยู่มาก แต่บางคู่อาจจะใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว ไม่สะดวกที่จะนำเงินมารวมกันทั้งหมดด้วยกัน ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหา สามารถหารครึ่งค่าใช้จ่ายของครอบครัวในแต่ละเดือนได้ อย่างไรก็ตามให้ตกลงกันให้ดี เงินส่วนที่เหลือก็แล้วแต่คู่ว่าจะเอาเงินนี้ไปลงทุนหรือใช้จ่ายส่วนตัวแบบไหนก็ได้ตามใจ แค่นี้ถึงเราแต่งงานมีครอบครัวเราก็จะมีอิสระในการใช้เงินด้วย