เมื่อไม่นานมานี้วิถีชีวิตติดกระแสที่ฮิตๆกัน ถูกพูดถึงกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น คำว่า ใช้ชีวิตแบบ สไลว์ไลฟ์ (Slow Life) ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตสบายๆตามใจฉันมาก อยากทำอะไรก็ทำ อยากไปไหนก็ไป ไม่อยากทำอะไรก็ไม่ต้องทำ อะไรทำนองนั้น เรียกได้ว่า เป็นอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง ใครๆต่างก็มองว่า การใช้ชีวิตแบบนี้ล่ะ มีความสุขที่สุดแล้ว มีอิสรเสรี ไม่ต้องมาคอยเข้างาน 8 โมงเช้า แล้วรอเลิกงาน 4 โมงเย็น ไม่ต้องกดดัน ไม่ต้องเครียด กับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน มีวันหยุดเป็นของตัวเอง อยากหยุดเมื่อไหร่ก็ทำได้ ไม่ต้องไปกังวลหรือวุ่นวายกับใคร ก็อยู่ด้วยตนเองได้ สันโดษสุด ๆ
จะว่าไปการสไลว์ไลฟ์ที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่การที่ไปนั่งดื่มกาแฟแก้วแพง ๆ กินอาหารหรู ๆ เอามือรูดจิ้มมือถือไปมา หรือการไปเที่ยวทั้งปีทั้งชาติ แล้วอัพรูปลงสื่อโซเซียลต่างๆให้คนมากดไลค์หรอกค่ะ อันนี้มันเป็นแค่เปลือก ที่เอาไว้โชว์เท่ห์เท่านั้น แต่การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ที่แท้จริงก็คือการที่เราพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ทำอยู่ อย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีสาระ เน้นว่ามีสาระนะคะ ไม่ใช่ใช้ชีวิตแบบไร้สาระไม่เกิดประโยชน์ไปวันวัน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างบุคคลที่ดำเนินชีวิตประมาณนี้ ก็อย่างเช่น
คุณวิกรม ประดิษฐ์ ผู้บริหาร (CEO) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หลายคนก็คงเคยอ่านหนังสือที่คุณวิกรมได้เขียนขึ้น กันมาบ้างแล้ว (มีจำหน่ายใน 7-11 หนังสือ “ กินอยู่ง่ายสไตล์วิกรม”) จะพบว่า ชีวิตที่ผ่านมาของคุณวิกรมนั้น ไม่ได้สวยงามเลย เริ่มตั้งแต่ครอบครัวที่ยังไม่ได้มีฐานะอะไร แถมยังมีพี่น้องหลายคน แต่โชคดีที่ความลำบากเหล่านั้นทำให้ คุณวิกรม ฝ่าฟันสร้างเนื้อสร้างตัวมาจนถึงทุกวันนี้ ลูกหลานก็ได้พึ่งพา ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้ ก็เป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นและมั่นคง เพราะฉะนั้น แล้วการใช้ชีวิตแบบสไลว์ไลฟ์ที่แท้จริง ก็คือ การทำให้ชีวิตนั้นมีความหมายมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่ทำอะไรเลย แล้วบอกว่า ข้ากำลังใช้ชีวิตแบบสไลว์ไลฟ์ ไม่แคร์สังคม แบบนี้ก็ไม่ใช่ค่ะ และเหตุนี้เองจึงก่อให้เกิดค่านิยมตามกระแส แล้วก็ให้เกิดความเข้าใจที่ผิด ๆ จึงทำให้คนอื่นมองชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ในแง่ลบ เพราะคนที่นำคำนี้มาใช้ ก็เพราะว่ามันเท่ห์ มันแนว มันดูเด่น แตกต่าง แต่ไม่ได้รู้ความหมายที่แท้จริง
เนื่องจากชีวิตแบบ สไลว์ไลฟ์ เป็นวิถีชีวิตที่หลายคนไม่น้อยเลยใฝ่ฝันหา เพราะฉะนั้น การที่ใครสักคนจะไปยืนอยู่ในจุดนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ ขอแค่ให้มีพรในใจหนึ่งข้อ คือ ความพยายาม ก่อนอื่นต้องวางแผนทั้งชีวิตและการเงินควบคู่กันเป็นสิ่งที่สำคัญ คิดไว้เลยค่ะ ว่าอยากให้อนาคตของเราเป็นแบบไหน มีเงินเก็บเลี้ยงดูครอบครัว พ่อแม่ และตัวเองยามชรา มีเงินเก็บเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเงินสำรองยามเจ็บไข้ได้ป่วย จะเริ่มเก็บตั้งแต่อายุเท่าไหร่ หรืออายุเท่านี้เรียนจบ จะไปทำงานอะไร รายได้เท่าไหร่ เก็บกี่ปีถึงจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อันนี้เป็นการคิดวางแผนการเงินออกมาอย่างหยาบๆ ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิตแบบสบายๆในอนาคต จึงควรค่าที่จะวางแผนการเงินเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ใครหลายตอนนี้กำลังเข้าสู่วัยทำงาน หรือทำงานมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว อยากมีเงินเก็บไว้ใช้ในอนาคต ให้เริ่มคิดก่อนเลยว่า ในหนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี จะเก็บให้ได้เท่าไหร่ อย่ามองว่ามันเป็นเรื่องตลก
ไร้สาระ อย่าเพิ่งคิดว่าหามาแล้วต้องรีบใช้ ชีวิตมีครั้งเดียว ยิ่งชีวิตมีครั้งเดียวนี่ล่ะค่ะ เราถึงต้องคิดเผื่อในอนาคตยาวๆ ไม่แน่ว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น โดนไล่ออกจากงาน บริษัทล้มละลาย เป็นหนี้ท่วมหัว หาเงินมาใช้ไม่ทันและอื่นๆ ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะแน่นอน ถึงแม้คุณจะบอก ผมทำงานข้าราชการไม่มีทางที่จะตกงาน ถึงจะไม่ตกงาน แต่ถ้าลองใช้ชีวิตไปสักพักหนึ่งแล้วเกิดอยากลาออกไปทำอย่างอื่นที่คิดว่าจะก้าวหน้ากว่าล่ะ มันก็เป็นไปได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นแล้ว การวางแผนเก็บเงินสำรองไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การวางแผนการเงิน เปรียบเสมือนการวางแผนชีวิต เพราะชีวิตที่อยู่ได้ จำเป็นต้องใช้เงิน ในวัยที่เรากำลังมีทั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างเต็มเปี่ยม ควรรอบคอบเรื่องเงินให้มากค่ะ อย่าเพิ่งคิดว่า เงินไม่มี ก็หาใหม่ได้ อนาคตไม่แน่นอน ที่สำคัญนอกจากจะเก็บออมแล้ว ควรหาทางให้เงินมันงอกเงยขึ้นมาด้วยค่ะ ด้วยการวางแผนเงินออมไว้สองทางคือ เงินส่วนที่เก็บออมไว้ใช้ยามชรา เงินส่วนนี้จะไม่ไปแตะต้อง เก็บคือเก็บ อาจจะนำไปฝากธนาคารแบบประจำก็ได้ค่ะ ส่วนอีกก้อนหนึ่งให้เป็นเงินออมที่เอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจำเป็น หรือเอาไว้ใช้เวลาที่ต้องการนำไปลงทุนทำธุรกิจอื่นๆ ควรแบ่งให้เป็นสัดส่วนตามความเหมาะสม