สถานการณ์ภัยแล้งตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 ดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสเอาการ เพราะในปี 2558 ประเทศไทยประสบกับภาวะภัยแล้งมาโดยตลอด จนส่งผลถึงปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมต้องพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร เมื่อขาดน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญในผลิต การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไทยจึงชะงักลง
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) ให้ความคิดเห็นถึงภาวะภัยแล้งว่า จากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญในประเทศไทยที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเซีย อาจส่งผลทำให้ปี 2559 จะเกิดภัยแล้งรุนแรงเท่ากับปี 2540 ที่เคยเป็นปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา การผันแปรของมวลน้ำจากมหาสมุทรอินเดีย อาจจะบรรเทาภัยแล้งไปได้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่พอจะช่วยได้ เพราะสถานการณ์น้ำฝนตามฤดูในปี 2558 มีจำนวนน้อยมาก
โดยปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน รวมถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของฤดูฝน มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นเพียง 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าในปี 2556 และปี 2557 ซึ่งขณะนั้นมีถึง 8,153 และ 6,777 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับจึงทำให้ ปริมาณน้ำมีน้อยที่สุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว ดังนั้นน้ำมาทำการเกษตรจึงไม่เพียงพออย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำนำมาปลูกข้าว ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอให้เกษตรกรร่วมมืองดการปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้ง เพราะน้ำ 4,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรนั้น แค่อุปโภค บริโภค และใช้รักษาระบบนิเวศ หรือเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว
และยิ่งหนักไปกว่านั้น นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนิโญครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เพราะขนาด ปี พ.ศ. 2540-2541 อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกมีค่า 2.8 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยแล้วแต่ ในวันที่ 4 พฤศจิกายนปีที่แล้ววัดได้2.8 องศาเซลเซียสไปแล้ว และเพิ่มเป็น 3.1 องศาเซลเซียส ในวันที่ 18 พฤศจิกายนอีก จึงมีแนวโน้มว่าภัยแล้งในปีนี้จะหนักหน่วงมาก
นอกจากนี้นายธารายังกล่าวอีกว่า ในปี 2540 เอลนิโญ ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว มีคนเสียชีวิต 20,000 ราย และเกิดความเสียหายจากภัยแล้งที่ยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น ไฟป่า พายุหมุน อุทกภัย ดินถล่ม คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 9.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แล้วในปี 2559 ปรากฏการณ์เอลนิโญรุนแรงกว่าเท่าตัว จะมีความเสียหายขนาดไหน
สำหรับการเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงนี้ ในทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน และทุกกระทรวงร่วมกันจับมือแก้ไขปัญหา และใช้งบประมาณไม่น่าจะต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดแต่ละหน่วยงานจะมีดังต่อไปนี้คือ
- กระทรวงแรงงาน มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ให้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อในการสร้าง 4 โครงการ โดยใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ร่วมมือกับ กพร.ในการฝึกอบรมอาชีพให้กับเกษตรกรและครอบครัว มากกว่า 1,350 หลักสูตร และเกษตรกรที่ผ่านฝึกอบรมอาชีพของ กพร. มีใบรับรองการฝึก จะสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอกู้เงินได้อีกด้วย โดย ธ.ก.ส.กำหนดให้เกษตรกรกู้ได้ไม่เกินครัวเรือนละ 50,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี และมีระยะเวลาผ่อนชำระ 5 ปี โดยตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรประมาณ 50,000 ครัวเรือน
ผลกระทบภัยแล้งด้านสุขภาพ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง ว่ามีแน่นอน โดยจะเรียกว่าภาวการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว ซึ่งก็คือ โซนหนึ่งอากาศร้อน แต่อีกโซนอาจเกิดฝนตกหนัก จึงมีผลต่อระบบนิเวศวิทยา และทำให้สัตว์เกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน อาจมีการกระจายโรคมากขึ้น เช่นโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี ที่เกิดจากยุงลาย โรคลิชมาเนีย ที่เกิดจากการกัดของตัวริ้นฝอยทราย ซึ่งก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ได้อีกหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ม้า หนู วัว กระรอก เป็นต้น
ภัยแล้งอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด ?
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้มีการรายงานสถานการณ์ภูมิอากาศเกิดขึ้นในปี 2559 ว่า ประมาณเดือนเมษายนเป็นต้นไป ปรากฏการณ์ของเอลนิโญ หรือเอนโซ อาจจะเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นกลางเหมือนเดิมก็ได้ และอาจทำให้ทวีปเอเชียกลับมามีฝนตกมากขึ้น นอกจากนี้นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สสนก. ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมในทิศทางเดียวกันอีกว่า ประเทศไทย หลังจากเดือนเมษายนเป็นต้นไป สถานการณ์ภัยแล้งอาจจะไม่เลวร้ายเหมือนที่มีผู้คาดการณ์ไว้ ฝนอาจจะตกตามปกติ เพียงแต่ช่วงก่อนถึงเดือนเมษายน ประเทศไทยอาจคงยังต้องรับมือกับสถานการณ์ภาวะภัยแล้งที่ค่อนข้างหนักและรุนแรงพอสมควร จึงยังไม่อยากให้ทุกคนชะล่าใจ อีกทั้งขอให้ทุกหน่วยงานและทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำอยู่เช่นเดิม
ซึ่งก็ถือว่าเป็นข่าวดีอยู่ไม่ใช่น้อยที่ ผลกระทบจากภัยแล้ง อาจจะไม่รุนแรงเหมือนอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ แต่ใช่ว่าจะให้ทุกคนประมาท เพราะอนาคตข้างหน้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ก็ไม่มีใครรู้ ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการเตรียมรับมือให้ดีที่สุดนั่นเอง