หากท่านเป็นผู้ที่ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ก็คงจะเคยผ่านตามาบ้างเกี่ยวกับข่าวคราวในเรื่องของการเพิ่มบทลงโทษต่อผู้หลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นมาตรการของกรมสรรพากรที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทั้งยังได้มีการแก้ไขประมวลรัษฎากรพร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งมีผลบังคับใช้จริงแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 ที่ผ่านมา สำหรับบทความชิ้นนี้ นอกจากจะเป็นการนำเสนอเพื่อทบทวนรายละเอียดเกี่ยวกับบทลง โทษหลีกเลี่ยงภาษี ที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ยังควบรวมถึงการตั้งคำถาม ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ต่อมาตรการดังกล่าว โดยจะไล่เรียงไปตามหัวข้อดังต่อไปนี้
อ่านเพิ่มเติม : คำถามคาใจ รายได้ไม่ถึง ไม่ยื่นภาษีได้ไหม ?
ทำไมต้องเพิ่มบทลงโทษผู้หลีกเลี่ยงภาษี
การกำหนดมาตรการเพิ่มบทลงโทษต่อผู้หลีกเลี่ยงภาษีของกรมสรรพกรนั้น มีมูลเหตุที่มาจากอัตราการหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งพบว่ามีอยู่ค่อนข้างสูงมาก ทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่คำนวณไว้ ประกอบกับการมีแนวคิดพื้นฐานที่ว่าการเพิ่มบทลงโทษนั้นจะทำให้ผู้ที่อยู่ภายใต้กฎหมายรู้สึกเกรงกลัว และหันมายื่นแบบชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกระบวนการมากยิ่งขึ้น จึงนำมาสู่การกำหนดมาตรการดังกล่าวในที่สุด
บทลงโทษมีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
สำหรับบทลงโทษที่กำหนดเพิ่มขึ้นนั้น สามารถกล่าวโดยสรุปคือ มีการเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ที่เจตนาหลีกเลี่ยงการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทุกประเภทให้เป็นโทษเดียวกับมาตรา 37 (แห่งประมวลรัษฎากร) ซึ่งมีใจความระบุว่า
- ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 7 ปี
- มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาทไปจนถึง 200,000 บาท
ซึ่งจากเดิมบทลงโทษคือต้องระวางโทษจำคุกเพียงไม่เกิน 6 เดือน และมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมถึงกรณีการยื่นเอกสารคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นเท็จอีกด้วย
การเพิ่มโทษผู้หลีกเลี่ยงภาษีเป็นมาตรการที่สามารถแก้ปัญหาอย่างได้ผลจริงหรือไม่
อาจฟังดูสมเหตุสมผลสำหรับข้อเสนอที่ชี้ว่าการเพิ่มบทลงโทษต่อผู้หลีกเลี่ยงภาษีนั้นจะเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรู้สึกเกรงกลัวต่อบทลงโทษมากยิ่งขึ้นจนเลือกชำระตามกระบวนการ แต่หากวิเคราะห์เทียบเคียงกับกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น ข้อเสนอดังกล่าวก็อาจไม่ใช่วิธีการที่ได้ผล หรือลดอัตราการหลีกเลี่ยงภาษีได้ดีเท่าใดนัก กล่าวคือ ในทางปฏิบัติไม่มีผู้หลีกเลี่ยงภาษีคนใดที่เจตนาหลีกเลี่ยงทั้งที่รู้ว่าจะถูกจับได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือขณะที่เขาคิดจะหลีกเลี่ยงภาษีนั้น เขาคิดว่าจะสามารถปิดบังหลักฐานได้อย่างแนบเนียนและไม่ถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นไม่ว่าบทลงโทษจะหนักสักเท่าใดก็อาจไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้
ดังกล่าวมานี้ จึงอาจได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มบทลงโทษ (แต่เพียงอย่างเดียว) นั้นอาจมิใช่ทางออกสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบ หากแต่เป็นเพียงข้อเสนอหรือแนวทางที่ควรจะต้องพิจารณากันอย่างถ้วนถี่อีกครั้งว่าจะเกิดผลในทางที่ดีจริงหรือไม่ ทั้งยังควรจะต้องพิจารณาถึงความคุ้มได้คุ้มเสียและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย
เพิ่มบทลงโทษผู้หลีกเลี่ยงภาษี หรือนี่จะเป็นเพียงคำขู่
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องกันคือ ถึงแม้จะมีการเพิ่มบทลงโทษ แต่คำถามสำคัญซึ่งควรพิจารณาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีศักยภาพเพียงพอบังคับใช้บทลงโทษนั้นมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบ การแจ้งเตือน หรือแม้แต่การฟ้องดำเนินคดี ซึ่งหากพบว่าการบังคับใช้บทลงโทษเป็นไปได้ไม่ทั่วถึงอย่างสมบูรณ์ ก็คล้ายเท่ากับว่าเป็นการทวีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กรณีตัวอย่างพื้นฐานเช่น หากมีผู้หลีกเลี่ยงภาษีสองคน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินคดีได้เพียงคนเดียว (ขณะที่อีกคนตกหล่นจากระบบการตรวจสอบ) ก็เท่ากับว่าบทลงโทษมีผลบังคับใช้อย่างสองมาตรฐาน และยิ่งบทลงโทษมีความรุนแรงมากเท่าไร ช่องว่างระหว่างสองมาตรฐานดังกล่าวนั้นก็ย่อมขยายออกไปมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
มาตรการที่ควรใช้ควบคู่กับการเพิ่มบทลงโทษ
อย่างไรก็ตามถึงแม้การเพิ่มโทษอาจช่วยลดอัตราการโกงภาษีได้จริงในระดับหนึ่ง (?) แต่หากจะหวังผลที่ดียิ่งกว่านั้นก็คงจะต้องดำเนินไปควบคู่กับมาตรการอื่น ทั้งนี้อาจเริ่มจากการศึกษาว่าการหลีกเลี่ยงภาษีนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร มีปัจจัยใดบ้างที่เอื้ออำนวยให้เกิดการโกงภาษี เช่น มีสาเหตุมาจากมาตรการการตรวจสอบที่หละหลวมหรือไม่ มีสาเหตุมาจากจำนวนสถานประกอบการ ตลอดจนแรงงานที่ผันตัวไปอยู่นอกระบบมากยิ่งขึ้นหรือไม่ มีสาเหตุมาจากกระบวนการทางด้านภาษีที่ซับซ้อนเกินไปหรือไม่ การพยายามทำความเข้าใจถึงต้นเหตุที่แท้จริงเช่นนี้นอกจากจะนำมาสู่การสร้างมาตรการที่สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนแล้ว ยังช่วยให้ระบบโดยภาพรวมมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แทนทำแต่เพียงการเพิ่มบทลงโทษ หรือมองแต่เพียงว่ากลุ่มบุคคลที่ไม่เข้ามาสู่กระบวนการทางด้านภาษีนั้นเป็นกลุ่มคนที่คิดคดฉ้อโกง โดยไม่ทบทวนถึงปัญหาในเชิงระบบเลย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวก็เป็นประเด็นสาธารณะซึ่งเราทุกคนล้วนมีความเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นประชาชนภายใต้ระบบรัฐผู้มีหน้าที่ต้องชำระภาษีคนหนึ่ง คำถามสำคัญต้องทิ้งท้ายเอาไว้คือ พวกเราแต่ละคนนั้นเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวหรือไม่ หรือมีความคิดเห็น ตลอดจนแนวทางในอุดมคติอย่างไร และที่สำคัญคือข้อคิดเห็นเหล่านั้นเคยได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนมาตรการหรือทิศทางของนโยบายอย่างแท้จริงหรือไม่ คงจะไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเท่าใดนักหากในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีอำนาจเต็มในการขับเคลื่อนนโยบายของเราเองจะทำได้เพียงคอยรับผลพวงของกฎเกณฑ์ที่คนเพียงไม่กี่คนเขียนขึ้นในห้องสี่เหลี่ยมโดยที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย