อาจจะมีบ้างสำหรับคนเป็นหนี้ที่เริ่มรู้ตัวแล้วว่ามีหนี้สินเกินตัวจ่ายไม่ไหวแล้ว และก็มีอีกหลายคนที่อยู่ในสภาวะการณ์แบบนี้อาจจะลืมนึกถึงตัวช่วยปลดหนี้ที่สำคัญไปอีกตัวหนึ่ง นั่นก็คือ การขอ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือการเจรจาประนอมหนี้กับเจ้าหนี้โดยตรง โดยที่เราไม่ต้องรอให้หนี้ที่เรามีอยู่กลายเป็นหนี้เสียกันเสียก่อน อีกทั้งการแจ้งความประสงค์ในการขอปรับโครงสร้างหนี้ยังเป็นการแสดงความตั้งใจในการชำระหนี้ของเราอีกต่างหากด้วย
โดยรูปแบบของการเจรจาประนอมหนี้หรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีได้หลายรูปแบบ เช่น ขอลดยอดหนี้ลงบางส่วน การขอขยายเวลาการชำระหนี้ ขอลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละงวด มีการขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติที่ไม่ผิดนัด ขอหยุดดอกเบี้ยและไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างที่ผ่อนชำระ ขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับกรณีผิดนัดชำระ หรืออาจจะเป็นการขอโอนหลักประกันเพื่อชำระหนี้
อ่านเพิ่มเติม : หมดกังวลเรื่องหนี้!! สินเชื่อปิดหนี้นอกระบบ ช่วยคุณได้
จริงๆ แล้วการขอประนอมหนี้กับธนาคารก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เรามาดูข้อดีของการปรับโครงสร้างหนี้หรือการประนอมหนี้
ก็คือ ช่วยลดแรงกดดันในการชำระหนี้และการถูกทวงหนี้ และบางครั้งอาจจะทำให้เราได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลงก็เป็นได้ และอย่างที่บอกเมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียด้วยเหมือนกัน ซึ่งข้อเสียก็คือ มูลค่าหนี้หลังจากการปรับโครงสร้างหนี้อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าหนี้บางรายอาจจะนำดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าทวงถาม ไปต่อยอดหนี้เดิมมารวมเป็นยอดหนี้ใหม่ที่สูงขึ้นก็เป็นได้ อีกทั้งประวัติทางการเงินที่แสดงอยู่ที่เครดิตบูโรก็อาจจะไม่ใช่บัญชีปกติ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขออนุมัติสินเชื่อในครั้งต่อๆ ไปได้ หากเรามองโลกในแง่ดีสักหน่อยก็ขอให้คิดเสียว่าเราจะได้ไม่ต้องไปก่อหนี้สินอีก
และก่อนที่จะทำเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือขอประนอมหนี้นั้น เราในฐานะลูกหนี้ก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลและอ่านสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เข้าใจเสียก่อน เพราะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อาจทำให้เราในฐานะที่เป็นลูกหนี้เสียเปรียบได้ เพราะถ้าหากไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาใหม่จนนำไปสู่กระบวนการฟ้องร้องได้ เนื่องจากสัญญาฉบับใหม่ที่ทำขึ้นเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้นได้มีปรับดอกเบี้ยลดลงแล้ว จึงทำให้ธนาคารมองว่าสัญญานี้มีความเป็นธรรมและปรับลดการผ่อนชำระให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ โดยที่ไม่เป็นหนี้เสีย
ดังนั้นลูกหนี้ที่เหมาะสำหรับการขอทำเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้น ควรจะเป็นลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สินไม่มาก หรือทำธุรกิจส่วนตัวที่จำเป็นต้องรักษาประวัติเครดิตที่ดีเอาไว้ สำหรับการขออนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจจากธนาคาร และเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้วเงินที่จะจ่ายคืนหนี้ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ รวมทั้งจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายได้ตลอดโดยไม่หยุดจ่ายกลางคัน
แต่ถ้าหากทำเรื่องขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้ไปแล้วแต่ก็ยังมีปัญหาในการจ่ายคืนเงินให้ธนาคารอีก เราก็ต้องยอมรับและทำใจว่าเรากำลังจะกลายเป็นหนี้เสียของธนาคาร เพราะเราไม่มีความสามารถในการชำระได้อีก ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องเจอก็คือ ธนาคารจะฟ้องร้องเพื่อให้ลูกหนี้มีการชำระหนี้ ซึ่งถ้าเราต้องอยู่ในสภาพแบบนี้อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งถอย เพราะเป็นหนี้ก็ต้องชำระหนี้ ดังนั้นเราก็ต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการตามธนาคารกันต่อไป ซึ่งถ้าในอนาคตข้างหน้าเรามีเงินเข้ามาจนเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ ก็ให้ติดต่อกลับไปยังธนาคารเจ้าของหนี้นั้นเพื่อขอชำระหนี้ที่ค้างอยู่ เพราะเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วธนาคารก็ไม่ได้ใจร้ายอะไรแถมยังใจดีอีกต่างหาก เพราะอาจจะมีการปรับลดมูลค่าหนี้ลงมาบ้าง สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เข้าไปเจรจาเพื่อขอลดหนี้ค้างชำระและทำการปิดบัญชีนั้นซะ ซึ่งทางธนาคารจะเรียกวิธีนี้ว่าการแฮร์คัต (Hair Cut) นั่นเอง