พิสิษฐ์ วีระไวทยะ จากเด็กหนุ่มผู้รักในเสียงเพลงมาถึงพนักงานธนาคารกับครอบครัวที่ไม่มีพื้นฐานทางธุรกิจใด ๆ เลย เขาสามารถก้าวมาเป็นเจ้าของธุรกิจน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นได้อย่างไร จากเพียงแค่ประกายความคิดเล็ก ๆ “ทำงานไม่ประจำทำเงินมากกว่า” เท่านั้นเอง
ประวัติชีวิตก่อนจะมาจับธุรกิจใหญ่
ย้อนไปเมื่อ พิสิษฐ์ วีระไวทยะ หรือ จั้ง อายุได้ 20 ปีเศษ เขาเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการขายซีดีเพลงออนไลน์ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เพราะเพลงคือสิ่งเดียวที่เขาชอบมาก พิสิษฐ์ กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งของชีวิตว่า “ผมชอบฟังเพลงภาษาอังกฤษตั้งแต่ช่วงเรียน ม.ปลาย เลยทำให้เก่งภาษาและเรียนได้ดี ผมจึงมีแผ่นซีดีเพลงฝรั่งเยอะมากหลายพันแผ่น จนเมื่อเรียนปี 4 จึงคิดจะนำเข้าแผ่นเพลงฝรั่งเอง เพราะที่เมืองไทยบางแผ่นมันไม่มีขาย จากนั้นก็เริ่มมาขายทางเว็บไซต์ ผมทำเล่น ๆ กับเพื่อนอีกคนนึง” พิสิษฐ์ เล่าถึงก้าวแรกของการทำธุรกิจแบบไม่ตั้งใจก่อนจะกลายเป็นนักธุรกิจในวันนี้
ร้านค้าออนไลน์ของ พิสิษฐ์ ไม่มีอะไรมาก แค่ซื้อมาเพราะความชอบเหมือนซื้อมาเก็บไว้เอง หากมีคนชอบก็ขายไป ถ้าเหลือก็เก็บไว้เอง ส่วนบัญชีก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ง่าย ๆ ธุรกิจเริ่มแรกของเขาจึงไม่มีรูปแบบหรือเป็นบริษัทเต็มตัว ทำให้เริ่มง่ายเพราะมันไม่ซับซ้อนมาก และสิ่งนี้เองเป็นพื้นฐานให้เขาเอาแพลตฟอร์มนี้ไปเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทในภายหลัง
หลังจากเรียนจบ พิสิษฐ์ สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งวิเคราะห์สินเชื่อในธนาคารชื่อดัง แต่ทำได้ไม่นานก็เบื่อกับกรอบกฎเกณฑ์ในการทำงาน และเงินเดือนที่น้อย สู้ไม่ได้กับการขายเพลงออนไลน์เลยด้วยซ้ำ จึงคิดว่า “ทำงานไม่ประจำทำเงินมากกว่า” เขาจึงจึงตัดสินใจลาออกจากงานและไปเปิดร้านขายซีดีนำเข้าที่สยามสแควร์แทนแต่ธุรกิจขายซีดีและแผ่นเสียงของเขาก็รุ่งเรืองอยู่ได้ไม่นานก็ต้องมาเจอกับปัญหาศิลปินที่เขานำซีดีมาขายเริ่มมีชื่อเสียง ค่ายเพลงใหญ่ จึงเริ่มหันมาซื้อลิขสิทธิ์และนำเข้ามาขายเอง ธุรกิจของเขาจึงต้องหยุดชะงักลง พิสิษฐ์ จึงเริ่มมองหาอนาคตใหม่กับสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ซึ่งก็คือ “มะพร้าว” นั่นเอง
จากพ่อค้าเพลงมาจับธุรกิจน้ำมันมะพร้าว
พ่อของพิสิษฐ์เป็นคนสมุทรสงคราม และมีพื้นที่เป็นโรงกลึงเก่า ๆ ที่เขากำลังจะเลิกเช่า พิสิษฐ์จึงมองหาวัตถุดิบแถวนั้น และมองว่าน่าจะเป็น “มะพร้าว” ที่เขาจะทำธุรกิจได้ เนื่องจากมีการปลูกมะพร้าวกันมาก จึงไปค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วก็เจอการทำน้ำมันมะพร้าว จึงเริ่มทำธุรกิจนี้ควบคู่ไปกับการขายซีดี แต่มาช่วงหลังมีปัญหาก็เลยเลิกขายซีดีหันมาจับธุรกิจมะพร้าวอย่างเต็มตัวแทน
พิสิษฐ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจครั้งนี้เขาไม่มีความรู้อะไรเลย ไม่ได้ชอบด้วยซ้ำ แต่ที่เลือกเป็นมะพร้าวเพราะเริ่มต้นได้ง่าย คนเราจะทำอะไรต้องมีพื้นฐาน เขามีพื้นที่และมีมะพร้าว เขาจึงไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แต่ถ้าทำธุรกิจอื่นต้องหาวัตถุดิบใหม่ก็จะใช้เงินทุนมาก และทำให้เริ่มต้นไม่ได้ เขาจึงต้องยอมตัดความชอบส่วนตัวแล้วใช้พื้นฐานที่มีในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งก็เหมือนบังคับไปในตัวนั่นเอง แต่ในความเป็นจริงมันคือสิ่งจำเป็นของคนทำธุรกิจ เพราะเมื่อทุกอย่างพร้อมตั้งแต่ต้นก็จะสามารถทำธุรกิจได้เร็วและเมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นน้ำมันมะพร้าว เขาคิดว่า virgin coconut oilสมัยก่อนเมืองไทยยังไม่มีขาย แล้วเป็นไปได้ไหมขายแล้วมีกำไร และหากมันเป็นไปได้ นี่เองคือโอกาส
เมื่อคิดได้ว่าจะผลิตอะไร พิสิษฐ์เริ่มหาข้อมูลด้วยตัวเอง ไปเรียนรู้และขอซื้อสูตรจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในการผลิตน้ำมันมะพร้าวแล้วนำสูตรนั้นมาทดลองผลิตเอง จนได้ตัวอย่างสินค้าจำนวนหนึ่ง เขาใช้อินเทอร์เน็ตเหมือนเดิมในการหาลูกค้ารายแรก ๆ สมัยก่อนไม่มีใครรู้จักน้ำมันมะพร้าว เขาจึงต้องเริ่มที่ตลาดเมืองนอกด้วยการไปโพสต์สินค้าในเว็บไซต์ธุรกิจดัง ๆ หากมีคนสนใจก็ทำตัวอย่าง แล้วส่งไปให้ลองใช้ฟรีจนได้ลูกค้ารายแรกจากแคนาดา ทั้งที่ยังไม่ได้มีการผลิตเลย แต่ก็ตอบลูกค้าไปว่าได้ แต่ขอให้รอหน่อย แล้วหุ้นกับเพื่อน ทำห้องผลิตเล็ก ๆ ที่บ้านเพื่อน ในเดือนแรก ๆ เขาผลิตเอง โดยต้องไปทำหน้าที่ขูดมะพร้าวอยู่ 2 เดือน จนได้สินค้าล็อตแรกออกขาย
จากโอกาสที่มองเห็นตั้งแต่แรก ประกอบกับกระแสสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ พิสิษฐ์ตัดสินใจลงทุนเบื้องต้นกว่า 2 ล้านบาท สร้างผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าว จากการศึกษางานวิจัยและขอคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนได้มาเป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์โดยกระบวนการสกัดเย็น ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ถึงกว่า 2 ปี ซึ่งปัจจุบันได้เน้นตลาดส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก ในลักษณะผู้รับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งได้การตอบรับสูงมาก สามารถส่งออกได้กว่า 10 ประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย จนบริษัทเป็นผู้ผลิตที่มียอดส่งออกสูงติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศเลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงที่ผ่านมา บริษัทยังมุ่งต่อยอดกิจการโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารนานาชนิด ในแบรนด์ “AgriLife” ของตัวเอง สำหรับสัดส่วนการตลาดระหว่างรับจ้างผลิตส่งออกอยู่ที่ 70% และขายในแบรนด์ตัวเอง อยู่ที่ 30% โดยมีช่องทางการตลาดภายในประเทศ วางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป มาถึงวันนี้จึงนับว่าพิสิษฐ์เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเพราะการมองเห็นโอกาสและความไม่เคยหยุดนิ่งของเขานั่นเอง