สำหรับช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีการรายงานถึงเงินทุนที่เรียกได้ว่าไหลมาเทมากันเลยทีเดียว เพราะแค่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็มีเงินทุนเกินดุลสุทธิกว่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท แตกต่างจากแนวโน้ม ซื้อพันธบัตร ในเศรษฐกิจระดับโลกโดยเฉพาะพันธบัตรของสหรัฐและญี่ปุ่นซึ่งเรียกได้ว่ามีการขายทิ้งและให้ผลตอบแทนน้อยจนน่าใจหาย
การเกินดุลสุทธิครั้งนี้นับได้ว่า เป็นการเกินดุลครั้งแรกหลังจากการขาดดุลต่อเนื่องมากว่า 6 เดือน สาเหตุหนึ่งเป็นผลพวงจากการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ในธุรกิจการผลิตน้ำมัน–ไขมันจากพืชและสัตว์ ตัวกลางทางการเงินและอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รวมทั้งการชำระคืนสินเชื่อทางการค้าของคู่ค้าในต่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออกไทยและการซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยยังคงมีกระแสการลงทุนในต่างประเทศ หรือ TDI อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ อุตสาหกรรมแปรรูปและถนอมอาหาร ทางด้านมูลค่าการนำเข้ายังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุลจากรายรับภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของโลกในช่วงต้นปียังทรงตัวในระดับต่ำ อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวสอดคล้องกับการส่งออกส่วนภูมิภาค มูลค่าการส่งออกสินค้ามีการหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ซึ่งเรียกได้ว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน หลังจากหักปริมาณทองคำแล้วการส่งออกจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.1 การหดตัวในส่วนนี้เป็นผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชะลอตัวลง ปริมาณการส่งออกจึงลดลงตามไปด้วย
ในขณะที่การส่งออกหดตัวลง การนำเข้าสินค้าของไทยก็หดตัวเช่นเดียวกัน โดยประมาณการที่ร้อยละ 17.8 หากไม่รวมค่าทองคำ การหดตัวจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.6 ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า เฉพาะอย่างยิ่งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวจากน้ำมันดิบและโลหะตามทิศทางราคาและระบบเศรษฐกิจโลก กลุ่มของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการหดตัวตามการส่งออกที่ลดลง ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกากลับมีสถานการณ์ที่แตกต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง เมื่อมีการออกมารายงานของ CNN Money ที่ได้รายงานว่า มีการขายพันธบัตรรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาทิ้งออกไปเป็นจำนวนมาก สามารถประเมินมูลค่าออกมาได้มากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณได้มากกว่า 5 แสนล้านบาท โดยการเทขายดังกล่าวได้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการเทขายจากประเทศจีนและญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งหากมองในภาพรวมของปี 2558 พันธบัตรของสหรัฐอเมริกาถูกขายไปมากกว่า 255 พันล้านดอลลาร์
จากจำนวนกว่า 255 พันล้านดอลลาร์ ที่ถูกเทขายไปเรียกได้ว่าเป็นตัวเลขหนี้สหรัฐอเมริกาในรูปแบบของพันธบัตรที่มีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่ปี 2521 โดยอย่างที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นประเทศ 2 ประเทศหลักที่ส่งผลเป็นอย่างมากในการเทขายครั้งนี้ คือ ญี่ปุ่นและจีน โดยญี่ปุ่นมีการขายทิ้งมากถึง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าอยู่ในสภาพฝืดเคืองอย่างหนัก
ประเทศญี่ปุ่นถือว่ามีการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากการเทขายพันธบัตรแล้วทางธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นยังมีการออกนโยบายดอกเบี้ยติดลบ โดยเริ่มที่ร้อยละ -0.01 และจะลบมากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากจำเป็น ทางทฤษฏีแล้วมีไปเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินออกมาใช้จ่ายแทนการเก็บออมเอาไว้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันเริ่มมีกระแสที่ดีในตลาดหุ้นและตลาดปริวรรตเงินตรา
ส่วนด้านประเทศจีนนั้นทางสื่อสหรัฐอเมริกาคาดว่า การเทขายพันธบัตรเกิดจากความต้องการหาเงินเพื่อนำกลับเข้าไปพยุงค่าเงินของประเทศตัวเอง หลังจากค่าเงินมีการอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยนาย วินธิน (Win Thin) หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์สกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Currency Strategy) ประจำมหาวิทยาลัยบราวน์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นการแทรกแซงที่พยายามอัดอากาศเข้าไปในลูกโป่งเพื่อให้ค่าเงินกลับมาสูงในระดับปกติอีกครั้ง
หากมองแค่ประเทศไทยอาจเหมือนกำลังจะกลับเข้าที่เข้าทาง อย่างไรก็ตาม ในส่วนทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ถึงแม้ว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมีอุปสงค์ในการบริโภคค่อนข้างมาก โดยมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ต่ำลงและการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ทางด้านการผลิตยังต้องระวังเพราะมีสัญญาณชะลอตัวลง เห็นได้จากดัชนีผู้จัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่มีการปรับลดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือน ที่ผ่านมา
ในภาพรวมสำหรับแนวโน้มในอนาคตอาจบอกได้ค่อนข้างยากว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพราะถึงแม้จะมีการชะลอตัวในกลุ่มประเทศใหญ่ ๆ แต่ในส่วนภูมิภาคกลับค่อนข้างไปได้ดี มีการขยายตัว อาจเป็นเพราะยังถือได้ว่าเป็นตลาดเปิดใหม่สำหรับผู้ลงทุน ทำให้มีความน่าสนใจ สิ่งที่ต้องคิดคือเรื่องของความไม่แน่ไม่นอนของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลกระทบมายังประเทศของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม