สำหรับวงการเงินและการลงทุนแล้ว บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด หรือที่เรียกย่อ ๆ กันว่า บลจ. กสิกรไทย ถือว่าเป็นชื่อที่คุ้นหูกันดีไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่ในช่วงเดือนกุมพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทย ได้เปิดตัวเสนอกองทุนหุ้นทุน “K ASEAN Community” หรือที่เรียกย่อ ๆ กันว่า ” กองทุน K-AEC “ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เน้นไปที่นโยบายการลงทุนในหุ้นส่วนของภูมิภาค กลายเป็นหัวข้อสนทนากันอย่างกว้างขวางทำให้อาจเคยผ่านหูนักลงทุนกันมาตลอดเดือนสำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินหรือได้ยินแต่ไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง วันนี้จึงขอเสนอข้อมูลให้ทุกท่านได้ทราบกัน
“เค อาเซียน อีโคโนมิค คอมมูนิตี หุ้นทุน” หรือ “K-AEC” มีจุดมุ่งหมายสมชื่อซึ่งก็คือการลงทุนในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีนโยบายที่เน้นลงทุนในตราสารทุนที่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในภูมิภาค รวมไปถึงตราสารทุนในประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น หรือ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ได้มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนี้ โดยยึดตามคำประกาศของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกข้อกำหนดไว้ โดยเฉลี่ยแล้วในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสิทธิของกองทุน
ในเมื่อเป็นการลงทุนที่อาจได้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินระหว่างประเทศจึงต้องมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทาง K-AEC มีนโยบายป้องกันตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน สำหรับการลงทุนส่วนที่เหลือ กองทุนอาจนำไปลงทุนในตราสารทุน นอกจากที่ระบุไว้ข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นตราสารแห่งหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เงินฝากและ/หรือหลักทรัพย์ ทรัพย์สินอื่น ๆ หรือการหาดอกผลอื่น ๆ ที่ไม่ขัดตามกฎหมาย ก.ล.ต. ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ กองทุนอาจมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการการลงทุนหรือที่เรียกว่า Efficient Portfolio Management ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้และ/หรือตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ นอกเหนือไปจากนั้นอาจลงทุนในหลักทรัพย์ที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย
ในระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปิดเสนอกองทุนเป็นครั้งแรก นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทย ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการลงทุนในเบื้องต้นว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีการวิเคราะห์สภาพคล่องและมีศักยภาพในการเติบโตสูง จำนวนไม่เกิน 30 ตัว ภายใน 4 ประเทศหลัก ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์
หากพิจารณาถึงช่วงจังหวะการเปิดตัวการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนในช่วงนี้นั้นถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพมากขึ้น ซ้ำยังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย สำหรับตัวเลขคร่าว ๆ ที่ได้จากการคาดการณ์ของ IMF พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 4.9 มากกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.8 สหภาพยุโรปร้อยละ 1.6 รวมทั้งญี่ปุ่นที่มีเพียงร้อยละ 1 ในปีนี้ ทั้งนี้ ประโยชน์จากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทำให้ขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วมากกว่า 2.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจาก อันดับหนึ่ง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ตามลำดับ
อ่านเพิ่มเติม : ต่างชาติแห่ ซื้อพันธบัตร ไทยสวนกระแสประเทศยักษ์ใหญ่
สำหรับมูลค่าปัจจุบันนับเป็นร้อยละ 3 ของตลาดโลก โดยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านบวกจากการดำเนินการของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของแต่ละประเทศ กล่าวได้ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นการช่วยกระจายการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าจากข้อมูลที่ได้ทำการศึกษาใน 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ดัชนีการลงทุนของประเทศ 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทยของเรานั้นมีสัดส่วนที่เท่ากัน
จากสัดส่วนที่เท่ากันของทั้ง 4 ประเทศ มีการให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 14.71 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียวกว่าร้อยละ 4 นอกจากนี้การลงทุนในส่วนภูมิภาคนี้ยังเพิ่มโอกาสในการลงทุนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ประเทศไทยของเราอาจยังไม่มีศักยภาพในการแข่งขันด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศ หรือทักษะของแรงงานภายในประเทศ
ทั้งนี้ทั้งนั้น บลจ. กสิกรไทย มีการกล่าวถึงหลักการในพิจารณาคัดเลือกหุ้นว่าเป็นการเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในระดับบริษัททั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งยังมีการประเมินมูลค่าหุ้น โดยพิจารณาเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขัน โครงสร้างการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง ซึ่งในปัจจุบันจะเน้นกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและการบริโภคภายในประเทศ
โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า กองทุน K-AEC ยังถือว่าใหม่สำหรับผู้ลงทุน โดยอาจเหมาะกับการลงทุนสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนแล้วเท่านั้น เพราะทิศทางอาจคาดเดาได้ยากกว่าการลงทุนภายในประเทศ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนสามารถลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 5,000 บาท ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถขอหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือติดต่อ K Asser Contact Center โดยข้อระมัดระวังที่สูงสุดคืออัตราแลกเปลี่ยนเงินที่อาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้กำไรจากจุดนี้ได้โดยง่าย ขอให้ทุกท่านพิจารณาให้รอบด้านก่อนการลงทุน