ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่าสถานการณ์โลกร้อนอย่างเอลณิโญ่ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดภาวะภัยแล้งขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณภัยแล้งมาแล้วจากปริมาณน้ำฝนที่ตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2558 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้แจ้งให้ทราบถึงสถานการณ์อ่างเก็บน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ พบว่าปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียง 4,647 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลองมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้เหลืออยู่เพียง 4,676 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ดังนั้นด้วยเหตุข้างต้นจึงมีข้อเสนอให้มีการสำรองน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค ผลักดันน้ำเค็ม และรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น ขณะที่การใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกอาจจะต้องชะลอไว้ก่อน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจำเป็นต้องยืดระยะเวลาการใช้น้ำให้ออกไปจนถึงช่วงฤดูฝนหรือช่วงเดือนกรกฎาคมถึงนี้
ทางออกของประชาชนและเกษตรกรอยู่ที่ไหน ท่ามกลางภัยแล้ง
แนวทางการบริหารจัดการเบื้องต้นสำหรับประชาชนและผู้ใช้น้ำในสาขาอาชีพต่าง ๆ นั้นมีการประกาศให้ทราบแล้วโดยทั่วกันโดยรัฐบาลตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศเพื่อลดการใช้น้ำในชุมชนเมือง ไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำต่าง ๆ หรือในส่วนของเกษตรกรที่ขอความร่วมมืองดสูบน้ำและงดการปิดกั้นลำน้ำ รวมถึงการลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง และงดการปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก เช่น การงดการปลูกพืชนาปรัง ทั้งนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการแจกจ่ายน้ำเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้งให้ประชาชนแล้วกว่า 66,000 ลิตร ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่แจกจ่ายประชาชนทั้งหมดคือ แจกจ่ายไปแล้วกว่า 1.8 ล้านลิตร
สำหรับประชาชนและชุมชนเมืองนั้น มาตรการประหยัดน้ำสามารถกระทำได้และไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนมากเท่ากับกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรที่มีอาชีพเพาะปลูกข้าว หรือพืชที่ต้องใช้น้ำมาก ดังนั้นจะมีทางออกใดบ้างที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับเกษตรกรไทย ในที่นี้ภาครัฐมีการเสนอแนะไว้หลายวิธีการ อาทิเช่น การเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรืองดการเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วง 2-3 เดือนนี้ไปก่อน
สำหรับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยการสร้างรายได้จากแหล่งอื่นทดแทน ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะให้การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเดิมเคยอาศัยรายได้จากการปลูกข้าวเป็นหลัก อาทิเช่น จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครนายก นครสวรรค์ เป็นต้น โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ธกส.ออกไปอีก 1 ปี รวมถึงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ร้อยละ 3 และยังช่วยสนับสนุนการสร้างงานอื่น ๆ ในชุมชนด้วยวงเงินกู้คนละไม่เกิน 50,000 บาทในการทำอาชีพเสริมที่จัดอบรมโดยกระทรวงแรงงาน รวมถึงโครงการสุดท้ายคือ โครงการให้สินเชื่อกับเศรษฐกิจชุมชน โดยปล่อยวงเงินให้กู้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม : กูรู คาดการณ์ ผลกระทบจากภัยแล้ง 2559
ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน
ในเบื้องต้นหลายส่วนกังวลว่าปริมาณน้ำที่ลดลงอาจมีผลต่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศ เนื่องจากพลังงานไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แต่อย่างไรก็ตามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแจ้งว่าไม่ต้องกังวลในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากสัดส่วนการใช้น้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศคิดเป็นร้อยละ 3 เท่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักเช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตากเหลือน้ำอยู่เพียงร้อยละ 34 ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำเหลือร้อยละ 45 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นผลกระทบประการสำคัญกว่าด้านการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ การปรับขึ้นของราคาผลผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศ เนื่องจากภาวะขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก กลุ่มหลักได้รับผลกระทบคือ ราคาข้าวปีนี้คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ด้วย ซึ่งอาจจะส่งต่อเนื่องถึงดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วย เพราะต้นทุนราคาพืชผลทางการเกษตรต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบหลักในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและทำให้ค่าครองชีพของประชาชนในเมืองได้รับผลตามมาด้วย ดังนั้นสิ่งที่คาดว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ ราคาสินค้าและอาหารต่าง ๆ จะปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นหากมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยอาจเริ่มจับจ่ายซื้อข้าวสาร อาหารและเครื่องกระป๋องเก็บไว้ล่วงหน้าได้อาจจะทำให้ประหยัดได้มากกว่ารอจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงหลังกลางปีเป็นต้นไป
ยิ่งกว่านั้นสำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการเพาะปลูกพืชที่อาศัยน้ำมาก การปรับเปลี่ยนอาชีพและสร้างอาชีพเสริมชั่วคราวแม้จะเป็นทางออกที่น่าจะมีโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ากลุ่มเกษตรกรหลักของประเทศไทยมักมีอายุเกินวัยกลางคนแล้ว ดังนั้นการเรียนรู้อาชีพใหม่ในระยะเวลาอันสั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ง่ายสำหรับเกษตรกรที่คุ้นชินกับการเกษตรแบบดั้งเดิม จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าแม้รัฐจะจัดโครงการอบรมต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกร แต่หากเกษตรกรไม่มีความชำนาญพื้นฐานหรือมีความถนัดเฉพาะด้านนั้น ๆ การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอาจไม่เกิดประโยชน์สูงสุดดังเช่นที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ แนวทางการอบรมที่เป็นไปได้และให้ผลได้ อาจเป็นการอาศัยทรัพยากรดั้งเดิมที่มีอยู่ในชุมชนหรือการส่งเสริมจุดเด่นของทรัพยากรท้องถิ่นที่เกษตรกรมีความชำนาญอยู่แล้วอาจเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากกว่า
ทางออก : แนวคิดเศรษฐกิจ เกษตรน้ำน้อย ทำไมเมืองไทยไม่นิยม
สถานการณ์ ภัยแล้ง 2559 นี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบเกี่ยวพันกันทั้งโลกจากปรากฏการณ์โลกร้อนที่ส่งผลทำให้อุณหภูมิและสภาพภูมิอากาศทั่วโลกผิดปกติ และส่งผลต่อเนื่องถึงภาคเกษตรกรรมและความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในชุมชนท้องถิ่น ในเบื้องต้นนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นควรอยู่ที่การส่งเสริมและประหยัดการใช้น้ำรวมถึงการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่สำหรับในระยะยาวแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุดสำหรับทุกคนในสังคม