การออมเงินตามเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต่างก็มีเครื่องมือที่เหมาะสมในการออมที่แตกต่างกันออกไป การจะออมให้ประสบความสำเร็จจึงต้องรู้จักการจัดสรรและใช้ผลิตภัณฑ์ในการออมให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพราะหากมองการออมเงินระยะสั้นก็มีทางเลือกหลากหลายและไม่ซับซ้อนมากมายเท่าใดนัก แต่สำหรับการ ออมระยะยาว หลายคนยังมองไม่ออกว่า เงินส่วนนี้ของคุณน่าจะไปอยู่ตรงไหน หากใครยังไม่ทราบว่าควรจะบริหารจัดการอย่างไร ก็ควรจะต้องลองมาทำความรู้จักกับเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้สำหรับการออมรวมไปถึงการลงทุนในระยะยาวกันดู เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเงินออมในอนาคต ที่เป็นการต่อยอดการเก็บเงินแบบระยะยาว
อ่านเพิ่มเติม : วางแผนออมเงิน เพื่ออนาคตระยะยาวแบบ ปอ ทฤษฎี
กองทุนประกันสังคม
สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่เป็นลูกจ้างตามบริษัทไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ จะมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่แต่ละบริษัทจะต้องมี คือ กองทุนประกันสังคม ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล และยังสามารถสะสมเป็นเงินออมเพื่อวัยเกษียณ โดยเงินส่วนนี้จะได้มาจากการที่คุณและนายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุน ในช่วงระยะเวลาที่คุณทำงาน
เนื่องจากประกันสังคม ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ที่จะทำให้เงินส่วนที่ถูกแบ่งออกมาเป็นเงินออมสำหรับวัยเกษียณจึงมีจำนวนไม่มาก หากเทียบกับความเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ในรูปแบบที่คุณคาดหวัง จึงต้องมีเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้การออมระยะยาวมีประสิทธิภาพ และทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หลายคนที่มีการวางแผนระยะยาว และคิดว่า เงินออมที่มาจากกองทุนประกันสังคมดูแล้วไม่น่าจะเพียงพอ ทำให้หลายคนหันมาพึ่ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถือเป็นตัวช่วยที่สองสำหรับมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทเอกชน ส่วนคนที่ทำงานข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือที่เรียกว่า กบข.ซึ่งทั้ง 2 กองทุนมีเป้าหมายเหมือนกัน คือเป็นการออมเพื่อวัยเกษียณเหมือนกัน ซึ่งนอกเหนือจากการที่คุณออมด้วยตัวเองแล้วยังมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่นายจ้างช่วยสมทบด้วย ซึ่งในส่วนของ กบข.จะต้องมีการสะสมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 3 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง และรัฐบาลจะทำการสมทบให้อีก3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสมาชิกของ กบข.จะสามารถออมเงินสะสมส่วนเพิ่มได้อีก 1 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
- ข้อดีของการทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ด้านสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะสามารถออมเงินไว้ในกองทุนเดือนได้ 2 ถึง15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนายจ้างจะช่วยสมทบเงินให้ด้วย ปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมายให้ลูกจ้างสามารถทำการออมเงินสะสมเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่านายจ้างสมทบ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ได้การออมมากขึ้นและนายจ้างเองก็ไม่ต้องจ่ายในอัตราที่เท่ากันเหมือนในอดีต
ซึ่งตามกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ไม่ได้เป็นสวัสดิการที่มีทุกบริษัท เพราะจะขึ้นอยู่กับนายจ้างด้วยว่าเล็งเห็นความสำคัญของของกองทุนนี้มากน้อยแค่ไหน หากใครที่บริษัทมีกองทุนนี้ก็อย่างลังเลที่จะสมัครเป็นสมาชิก และควรจ่ายเงินสะสมในอัตราสูงที่สุดหากคุณมีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องนโยบายการลงทุนของกองทุน เพราะหากเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ อาจทำให้ผลตอบแทนที่คุณควรจะได้ทำให้ไม่มากพอเพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายในการเกษียณได้อย่างมีความสุข ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทมีทางเลือกให้กับลูกจ้าง คุณสามารถเลือกแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมได้ว่าอยากเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย ซึ่งต่างก็จะส่งผลต่อการตอบแทนในอนาคตเช่นกัน
การทำกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งจะมีการลงทุนตั้งแต่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้เพื่อเป็นการจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมของแต่ละช่วงวัย ซึ่งสามารถนำปรับสัดส่วนหรือสับเปลี่ยนกองทุนได้ สำหรับผู้ที่บริษัทไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ยังมีทางเลือกการออมและการลงทุนระยะยาวผ่าน RMF ถือว่าน่าสนใจ เพราะเป็นกองทุนที่จูงใจทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการวางแผนเพื่อชีวิตเกษียณ ซึ่งการลงทุนในกองทุนนี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย ส่วนเงื่อนไขอาจจะต้องเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
โดยซื้อไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง เป็นการลงทุนขั้นต่ำ 3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้แต่ละปี หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท โดยที่ไม่หยุดการลงทุนเกินกว่า 1 ปี ยกเว้นในปีที่ไม่มีเงินได้ แต่คุณจะต้องลงทุนไปจนอายุครบ 55 ปี และจะต้องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ที่นับตั้งแต่การซื้อครั้งแรก ส่วนเงินที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF คุณจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบสูงสุดไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
แต่เมื่อนำมารวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. บวกกับประกันบำนาญต้องไม่เกิน 5 แสนบาทแล้ว ซึ่งจะมีกำไรจากการขายในหน่วยลงทุน RMF ที่ครบกำหนดตามเงื่อนไข และยังสามารถได้รับการยกเว้นแบบไม่ต้องนำไปคำนวณโดยมีการรวมกับเงินได้อีกด้วย
การทำประกันแบบบำนาญ
การทำประกันแบบบำนาญยังเป็นการสร้างความคุ้มครองให้กับวัยเกษียณ จากการทำประกันแบบบำนาญ โดยจะมีการจ่ายเงินคืนผู้ถือกรมธรรม์เป็นรายปี หรือรายงวด ตามแบบกรมธรรม์จะกำหนด ข้อดีคือ เงินที่คุณจ่ายเบี้ยประกันจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และการประกันบำนาญยังทำให้คุณทราบจำนวนเงินที่จะได้ค่อนข้างแน่นอน รวมถึงสามารถซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมได้ด้วย
เห็นภาพชัดเจนว่าเงินออมระยะยาวสามารถไปอยู่ในส่วนต่างๆ ที่จะทำให้คุณสามารถจัดลำดับความสำคัญและประเมินสัดส่วนของเครื่องมือแต่ละประเภทได้ตรงตามลักษณะของตัวเราเองได้ดีขึ้น เมื่อทราบหลักการของแต่ละเครื่องมือแล้ว คุณสามารถวางแผนการออมระยะยาวได้ดีมากขึ้น