การลอกเลียนแบบ มีทั้งในแง่มุมอันเป็นที่ยอมรับ และไม่เป็นที่ยอมรับ สามารถเป็นได้ทั้งสิ่งที่ดีงามในกรณีที่เราพบเห็นสิ่งอันดีงาม แล้วเรียนรู้น้อมนำเอามาปฏิบัติ แต่ในทางกลับกัน หากมันนำมาซึ่งความเสียหายต่อทั้งตัวเราเองหรือบุคคลรอบข้าง การลอกเลียนแบบนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่มิชอบและไม่สมควรกระทำ สำหรับวันนี้ ขอนำเสนอสาระ ได้แก่ ข้อคิดเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบ การลอกเลียนแบบจะนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ การลอกเลียนแบบควรกระทำอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นอันน่าขบคิด และถ้าหากสนใจละก็ขอเชิญติดตามไปพร้อมกันครับ
ลอกให้ถูกที่ เลียนให้ถูกทาง
ข้อความ “ลอกให้ถูกที่ เลียนให้ถูกทาง” สื่อถึงเรื่องของลอกเลียนแบบ ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างถูกที่ถูกทาง และควรอยู่ในกรอบกติกาอันเป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ หากกระทำด้วยสติปัญญาและเหตุผลบนพื้นฐานความเคารพกติกาของสังคมเสียแล้ว การลอกเลียนแบบก็ย่อมเป็นแนวทางที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในแง่ของการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิต
เริ่มจากส่วนของธุรกิจนั้น การลอกเลียนแบบเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ภายใต้ข้อจำกัด ซึ่งจะต้องไม่เป็นการลอกเลียนจนเป็นเหตุให้ผู้ที่เป็นต้นแบบนั้นเกิดความเสียหาย เช่น ลอกเลียนลิขสิทธิ์ ความเป็นเอกลักษณ์ หากแต่สามารถทำได้โดยการศึกษาถึงปัจจัยของความสำเร็จ เราอาจจะเริ่มจากพิจารณาบริษัทแห่งหนึ่งแห่งใดที่ประสบความสำเร็จ แสวงหาคำตอบว่าเหตุใดเขาจึงประสบความสำเร็จ เขาใช้แนวคิดอย่างไร มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร เลือกสรรบุคลากร ตลอดจนมีการบริหารจัดการอย่างไร เมื่อทราบถึงปัจจัยดังกล่าวแล้วก็สามารถลอกเลียนเอามาประยุกต์ใช้กับหน้าที่การงานของเราได้
ในส่วนของการดำเนินชีวิตนั้นก็คล้ายคลึงกัน หลายท่านเองอาจจะมีบุคคลต้นแบบผู้เป็นที่ชื่นชอบ เคารพยกย่อง และต้องการมีชีวิตตามแนวทางเดียวกันนั้น แต่ทั้งนี้ก็มิใช่เพียงการลอกเลียนแบบเอาเสียทุกเรื่อง หากยังต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นประกอบด้วย ต้องพิจารณาให้เห็นชัดว่าระหว่างตัวเรากับบุคคลต้นแบบนั้นมีความแตกต่างกันพิจารณาถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ และประเมินว่าสิ่งใดบ้างที่หากลอกเลียนมาใช้แล้วจะเป็นประโยชน์ เช่น อาจจะเป็นวิธีคิด ทัศนคติ แนวทางในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ก็เสมือนเป็นเพียงการเรียนรู้สิ่งดี ๆ และนำมาประยุกต์ปฏิบัติในชีวิตของเราบ้างเท่านั้น มิใช่การจำลองตนเองให้กลายเป็นบุคคลต้นแบบขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ซึ่งในความจริงคงเป็นไปไม่ได้
ไม่ว่าจะลอกเลียนแบบอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมีข้อแตกต่าง
สำหรับหัวข้อนี้สามารถกล่าวได้ 2 ความหมาย ประการแรกกล่าวถึงความพยายามลอกเลียนแบบที่ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนประการที่สองกล่าวถึงความจริงที่ว่า แม้จะพยายามลอกเลียนแบบตามอย่างใครก็ตามแต่หากหวังจะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ก็จำเป็นต้องแสวงหาข้อแตกต่างอยู่ดี อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเด็นยืนยันข้อสรุปเดียวกันที่ว่า “ไม่ว่าจะลอกเลียนแบบอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมีข้อแตกต่าง” ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
- “ความพยายามลอกเลียนแบบที่ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์”
เป็นข้อความซึ่งสะท้อนความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ต่อให้เราพยายามเลียนแบบใครก็ตาม สุดท้ายเราก็ไม่สามารถทำได้โดยสมบูรณ์ทั้งหมด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแต่ละคนล้วนประกอบไปด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งพื้นฐานในตัวเอง ตลอดจนปัจจัยแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ยากต่อการอธิบายแต่อย่างใด
- “แม้จะพยายามลอกเลียนแบบตามอย่างใครก็ตามแต่หากหวังจะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ก็จำเป็นต้องแสวงหาข้อแตกต่างอยู่ดี”
กำลังมุ่งชี้ความจริงอีกประการที่ว่า ต่อให้เราลอกเลียนแบบใครได้อย่างสมบูรณ์ แต่การจะหยัดยืนอย่างโดดเด่นไม่ว่าในแวดวงใดนั้นก็จำเป็นต้องอาศัยข้อแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์ ตัวอย่างที่สามารถเข้าใจได้ง่ายเช่น หากเราลอกเลียนแบบโดยการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาสักชิ้น โดยที่ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติเสมือนกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทคู่แข่งทุกประการ อะไรจะเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าผู้ซื้อจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทของเรา แทนซื้อจากบริษัทคู่แข่ง และอะไรจะการันตีได้ว่าวันหนึ่งวันหน้าจะไม่มีบริษัทอื่น ๆ ที่ลอกเลียนผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเหมือนกับเรานอกเสียจากว่าเราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นจนโดดเด่น แตกต่างไปจากผู้อื่น หรืออาจจะเป็นในแง่ของการบริการก็ได้
ทั้งหมดนี้คงพอเป็นเหตุผลอธิบายได้ว่าทำไมบริษัทที่ประสบความสำเร็จและทำกำไรมหาศาลอย่าง Facebook หรือ Youtube จึงมีความแตกต่างไปจากผู้ให้บริการเจ้าอื่น นั่นก็เพราะพวกเขาล้วนเล็งเห็นถึงพลังของความแตกต่าง และเลือกไม่เลียนแบบตัวตนของใคร จึงหลุดพ้นและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทุกวันนี้ทั้ง Facebook หรือ Youtube มีระบบเฉพาะอันโดดเด่นในแบบของตนเองที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาอย่างจริงจัง จึงได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นตามที่เห็นได้ แทนที่จะเป็นเพียงเว็บไซต์ผู้ให้บริการเสมือนเว็บบอร์ดโดยทั่วไป
จากเนื้อหาทั้งหมด ตลอดจนตัวอย่างที่ยกมานำเสนอนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางไม่ว่าจะในแง่ของการดำเนินชีวิต หรือแม้แต่การประกอบหน้าที่การงาน อันจะเป็นหนทางที่นำมาซึ่งความสำเร็จให้กับทุกท่านได้โดยถ้วนหน้า และสุดท้ายนี้ก็คงต้องฝากทิ้งท้ายเป็นทั้งข้อสรุปและข้อคิดเอาไว้ว่า
“การเลียนแบบนั้นสามารถทำได้ หากแต่จะต้องทำอย่างมีสติ เลือกเรียนรู้เพื่อนำมาประยุกต์ปฏิบัติโดยใช้ปัญญา และที่สำคัญคือจะต้องไม่ละทิ้งซึ่งความเป็นตัวตนของท่านเอง”