หลังจากที่ได้มีโอกาสดูหนังเรื่อง The big short ไปเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม บอกได้เลยว่าประทับใจมากๆ ช่างเป็นหนังการเงินยุคใหม่ที่เข้าใจวัยรุ่นเป็นที่สุด แม้เนื้อหาจะเกี่ยวกับวิกฤติการเงินที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก แต่วิธีการนำเสนอทำให้ดูได้อย่างเพลิดเพลิน ได้ทั้งความรู้ แถมยังฮาน้ำตาไหลกับมุขจิกกัดที่สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง และยิ่งได้รู้ว่าเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลออสการ์ ในสาขา บทภาพยนต์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (WRITING ADAPTED SCREENPLAY) ยิ่งตอกย้ำความประทับใจเข้าไปอีก
… บทความนี้จึงเกิดขึ้นจากความอินต่อเนื่อง โดยจะขอหยิบยกเอาเรื่องราวเกี่ยวกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ของโลกในช่วงปี 2550-2551 หรือที่เรารู้จักกันในนาม ” วิกฤติการเงิน Hamburger crisis “ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหนัง มาแชร์ มาเม้าท์กันต่อ แบบเบาๆ ชิวๆ นะคะ
… เดี๋ยวๆ เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็เห็นจะเป็นเราๆ ท่าน ๆ นี่แหละค่ะ ดังนั้นรู้ไว้ใช่ว่า ถึงเวลาจะได้บาดเจ็บกันน้อยหน่อยนะคะ
จุดเริ่มต้น
ในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤติการเงินปี 2550-2551 นั้น ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัฐบาลในสมัยนั้นยังสนับสนุนให้คนมีที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านกันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่ Demand มีมากเรื่อย ๆ ทางธนาคารเองก็เริ่มขยายฐานลูกค้าไปสู่ผู้มีรายได้น้อย โดยสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกกันว่า Subprime mortgage นั่นเอง สินเชื่อประเภทนี้มักจะมีการล่อใจผู้กู้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การไม่เรียกดูเอกสารทางการเงินที่สำคัญ การคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมาก ๆ ในช่วงแรกและเป็นแบบ Fixed rate เช่น ร้อยละ 3 แต่จะถูกปรับสูงขึ้นมากในช่วงหลังและเป็นแบบ Float rate เช่น MRR+5, MLR+6 (โหดกว่าสินเชื่อกู้บ้านปกติ) เป็นต้น
ในมุมของผู้กู้ : ไม่กลัวดอกเบี้ยแพงช่วงหลังเพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงก็ค่อย Refinance ยอมเสียค่าดำเนินการเล็กน้อย เพื่อรับอัตราดอกเบี้ยให้ถูกขึ้น และด้วยราคาบ้านที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ การ Refinance ก็จะทำให้ได้เงินส่วนเพิ่มมาใช้จ่ายหรือลงทุนเพิ่มได้อีก
ธนาคาร : ไม่กลัวหนี้สูญ(NPL) เพราะด้วยราคาบ้านที่ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ ก็ยึดบ้านขายทอดตลาด ได้ราคาสูงกว่าที่ปล่อยกู้เสียอีก นอกจากนี้ Bank ยัง มีกลไกในการโอนย้ายความเสี่ยงด้วยวิธีการออก MBS ขาย … เดี๋ยวมาดูกันค่ะ ว่า MBS คืออะไร
*** ในสมัยนั้นมีสินเชื่อบ้านแบบ Subprime mortgage ประเภทหนึ่งที่มีหลักเกณฑ์การพิจาณาหละหลวมมาก ๆ ถึงขนาดว่า ผู้ไม่มีรายได้ ไม่มีงาน และไม่มีสินทรัพย์ ก็ยังสามารถกู้ได้ สินเชื่อประเภทนี้เรียกกันว่าสินเชื่อนินจา (NINJA : No Income, No Job, and no Assets) ***
Mortgage Backed Securities (MBS)
MBS เป็นตราสารการเงินประเภทหนึ่ง โดยเกิดขึ้นจากแนวคิดของนักธนาคารกลุ่มหนึ่งที่ว่า ปกติคนกู้เงินเพื่อซื้อบ้านยังไงก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารทุกปีอย่างสม่ำเสมอ หากเอาสัญญาเงินกู้เหล่านั้นมัดรวมกันก็จะทำให้เกิดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เช่นรวมสัญญาเงินกู้นาย ก. ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 กับสัญญาเงินกู้นาย ข. ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เมื่อรวมกันแล้วก็จะทำให้สัญญาก้อนใหม่นี้ได้ดอกเบี้ยถึง7% … หลังจากนั้นก็ออกตราสาร MBS ขึ้นมาแล้วใช้ก้อนดอกเบี้ยบ้านที่มัดรวมกันเมื่อกี้นี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตัว MBS อีกที แล้วจึงขาย MBS นี้ให้กับนักลงทุนอื่นต่อไป โดยจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนที่ 5% และมีข้อแม้กับนักลงทุนว่า ถ้าเกิดมีสินทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันส่วนใดส่วนหนึ่ง เกิดเป็นหนี้ศูนย์ (NPL) แบงค์จะจ่ายดอกเบี้ยให้เฉพาะ ส่วนที่ยังไม่เกิด NPL นะจ๊ะ
จากลักษณะดังกล่าว ทำให้ธนาคารได้รับ Premium หรือกำไรมาแน่ ๆ 2% และในขณะเดียวกันจากเงื่อนไขดังกล่าว หากเมื่อไหร่ เจ้าหนี้มีการเบี้ยวไม่จ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร ธนาคารก็ไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดจากสินทรัพย์ที่เกิด NPL ให้กับนักลงทุน
คำถามคือ แล้วทำไมนักลงทุนถึงยอมรับกับเงื่อนไขนี้ สิ่งที่จูงใจอันดับแรกคือ ผลตอบแทนที่สูง แถมยังเป็นผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ (ดอกเบี้ย) แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่มองแล้วก็ยังต่ำเมื่อเทียบกับตราสารทุน และเนื่องจากสินทรัพย์ค้ำประกันคือก้อนสินเชื่อระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัยมัดรวมกัน นักลงทุนมองว่าสินเชื่อบ้านเป็นสัญญาระยะยาว อีกทั้งไม่ว่ายังไงคนก็ไม่มีทางทิ้งบ้านกันง่าย ๆ ไม่น่าจะเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้… ดูเผินๆแล้ว ความเสี่ยงก็ต่ำ ผลตอบแทนก็สูง เป็นใครก็ต้องสนใจจริงมั้ยคะ
Collateralized Debt Obligation (CDO)
นอกเหนือไปจากนั้น นักธนาคารหัวใส ได้มีการจัดกลุ่ม MBS เพื่อให้สามารถขายได้ราคาดีขึ้น โดยการมัดรวม MBS ที่มี rate เดียวกันเป็นก้อนๆ แล้วขายในราคาที่ต่างกันตามระดับความเสี่ยง โดยเรียกก้อน MBS ที่มัดรวมกันนี้ว่า Collateralized Debt Obligation (CDO) เช่นCDO เกรด AAA ก็จะมีราคาที่สูงกว่า CDO เกรด BBB เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า (และผลตอบแทนก็จะต่ำกว่าเช่นกัน) เป็นต้น
และก็เหมือนเดิม นักลงทุนที่แสวงหากำไรสูง ๆ ก็จะสนใจตัว CDO ที่ได้เกรดต่ำลงมา อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ CDO เกรดต่ำ มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้ จึงป้องกันความเสี่ยงโดยการซื้อ Credit Default Swap (CDS) เพิ่มเติม
Credit Default Swap (CDS)
CDS คืออะไร พูดง่าย ๆ ก็คือประกันอย่างหนึ่ง สมมตินักลงทุน ซื้อ CDO ที่ให้ผลตอบแทน 10% โดย CDO ตัวนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเบี้ยวหนี้ (Default) สูงมาก จึงไปซื้อ CDS ซึ่งรับประกันว่า ถ้าเกิด CDO เกิดปัญหาไม่จ่ายดอกเบี้ย 10% ออกมาให้ ผู้ขาย CDS ตัวนี้ จะจ่ายผลตอบแทน 10% แทนให้ แต่ในระหว่างนั้น ตราบใดที่ CDO ยังไม่เกิดปัญหา นักลงทุนจะต้องจ่ายค่า Premium หรือก็คือเบี้ยประกัน ให้กับบริษัทผู้ขาย CDS ต่อไปเรื่อย ๆ ในอัตรา 2% เป็นต้น
จุดพลิกผัน
- เมื่อตลาดบ้านมีการขยายตัวไม่หยุด ก็มีการเร่งสร้างบ้านเพื่อออกขายกันมากขึ้น เมื่อ supply มากกว่า demand ราคาบ้านก็เริ่มตก
- ในขณะที่ราคาบ้านเริ่มตก ดอกเบี้ยกลับเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยกู้บ้านในช่วงหลังซึ่งเป็นแบบลอยตัว ทำให้ผู้กู้เริ่มจ่ายไม่ไหว
- เมื่อเวลาผ่านไป ดอกเบี้ยยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยอดหนี้สะสมสูงกว่ามูลค่าตลาดของบ้าน คนจึงทิ้งบ้านกันง่ายๆ หนี้สูญ(NPL) ของสถาบันการเงินจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- เมื่อ NPL เพิ่มขึ้น ธนาคารเริ่มเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้มากขึ้น การ Refinance ก็ทำได้ยาก NPL ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก
ตัวเร่งปฏิกิริยา
เมื่อคนกู้เบี้ยวไม่จ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร ก็ส่งผลให้ตราสาร MBS, CDO เกิดปัญหาไปด้วยเช่นกัน และเมื่อ CDO เกิดปัญหา หากใครที่มีการซื้อ CDS เพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้ ก็จะได้บริษัทประกันหรือวานิชธนกิจเจ้าของ CDS นั้นๆ จ่ายผลตอบแทนให้แทน ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ที่มันเป็นปัญหาขึ้นมาก็เพราะว่า ลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อ CDO เป็นสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ซึ่งรวมถึงธนาคารด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหากับ CDO ขึ้นมา ก็เกิดการเคลมกับเจ้า CDS ในปริมาณที่มากมายมหาศาล ผู้ออก CDS ก็จ่ายไม่ไหว เมื่อจ่ายไม่ไหว ก็ล้ม สถาบันการเงินที่ถือ CDO ก็ล้มตามกันเป็นโดมิโน่
*** เนื่องจากต้นตอของวิกฤติการเงินในครั้งนี้เกิดมาจากความหละหลวมในการปล่อยสินเชื่อประเภท Sub-prime mortgage วิกฤติครั้งนี้จึงถูกขนานนามว่า Sub-prime mortgage crisis หรือที่คุ้นหูคนไทยคือ Hamburger crisis เพราะต้นตอของเรื่องมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเจ้าตำรับ Hamburger นั่นเอง ***
แล้วเกี่ยวอะไรกับเราล่ะ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลโดยตรงกับประเทศพี่เบิ้มอย่างอเมริกา ธนาคารเล็กๆ หลายแห่งต้องปิดกิจการ ส่วนสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ก็ประสบผลขาดทุนกันเป็นประวัติการ เคสที่โด่งดังเช่น การปิดตัวลงของ Lehman Brothers วาณิชธนกิจอันดับต้น ๆ ของ อเมริกา, ภาวะขาดทุนยับเยินของ Merrill Lynch สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ จน Bank of America ต้องเข้ามาช่วยอุ้มไว้ เรียกได้ว่าสถานการณ์ในประเทศอเมริกาตอนนั้นนี้เสียหายอย่างรุนแรง และนอกจากนี้ เจ้า CDO, CDS ที่กล่าวถึงมาก่อนหน้า ไม่ได้ถูกซื้อขายเฉพาะสถาบันการเงินในประเทศอเมริกา แต่ลามไปที่ประเทศอื่นๆ ด้วย ส่งผลให้ความเสียหายครั้งนี้ลุกลามไปทั้งโลก
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ด้วยการที่เศรษฐกิจโลกเกิดปัญหา และเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกในเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด เมื่อเศรฐกิจซบเซา คนไม่กล้าใช้จ่าย บริษัทห้างร้านขายของไม่ได้ ก็เกิดการ lay off พนักงาน, บริษัทเล็กๆ ถูกปิดตัวลง, เกิดเป็นความเครียด ส่งผลต่อการเกิดอาชญากรรม และปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นทอดๆ … ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวแม้ไม่ได้รุนแรงเท่ากับครั้งของวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นโดยตรงกับประเทศไทย แต่ก็ทำให้เราบาดเจ็บกันไปไม่น้อยเหมือนกัน
บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้เกิดความกลัว กลายเป็นว่าจะทำอะไรก็ระแวงไปหมด แต่อยากให้มองว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แม้กับสถาบันการเงินที่ยิ่งใหญ่ ที่เรามองว่าปลอดภัยที่สุด และวิกฤติการเงินเมื่อเกิดขึ้นมันกระทบกับเราตลอด แม้ว่าจะเกิดในประเทศของเราโดยตรงหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น เราจึงต้องพึ่งพาตัวเองให้มาก วางแผนให้ดี ทั้งในเรื่องชีวิตและการเงิน มีทั้งแผนเชิงรุก และแผนสำรอง … การวางแผนอาจจะดูยุ่งยากในตอนแรก แต่เชื่อเถอะ มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้สบายใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นความกังวลจะลดลง ไม่เคยมีใครขาดทุนจากการทำแผน มีแต่จะเท่าทุนหรือได้กำไรทั้งนั้น … หมายถึงกำไรชีวิตนะคะ