เมื่อครอบครัวกำลังเข้าสู่สภาวะการเงินฝืดเคือง การจะทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารในระบบก็ทำได้ไม่ง่ายเลย แถมบางทีวงเงินต่างๆ ที่เคยได้มาไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หรือแม้แต่จะเอาบ้านเข้าไปเป็นหลักประกันเพื่อกู้เงินกับธนาคารก็เต็มวงเงิน จนธนาคารไม่สามารถที่จะอนุมัติวงเงินเพิ่มให้ได้ แต่ในเมื่อมีความต้องการเงินไปใช้จ่ายให้กับครอบครัว ทำให้บางคนจึงยอมเลือกที่จะกู้เงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ เพราะได้เงินเร็วไม่ต้องตรวจสอบประวัติอะไรให้วุ่นวาย ซึ่งทำให้หลายคนลืมเรื่องดอกเบี้ย ลืมเรื่องระยะเวลาในการชำระหนี้ไป เรามาทำความรู้จักหนี้นอกระบบให้มากขึ้นกันดีกว่าก่อนที่จะให้มาเป็นตัวทำร้ายครอบครัวของเรากัน
หนี้นอกระบบ จะหมายถึงหนี้ที่ผู้ให้กู้ไม่ได้อยู่ในระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกกฎหมายนั่นเอง และส่วนใหญ่จะคิดอัตราดอกเบี้ยมากกว่ากฎหมายกำหนด อีกทั้งพวกเจ้าหนี้ทั้งหลายยังมีวิธีเอาเปรียบลูกหนี้อย่างมากมาย โดยอาศัยความเดือดร้อนมาเครื่องมือที่ทำให้ลูกหนี้ต่างๆ ต้องยอมรับเงื่อนไขที่เอารัดเอาเปรียบเป็นอย่างมากของเจ้าหนี้ เช่น เวลาติดป้ายประกาศก็มักจะใส่ดอกเบี้ยน้อยๆ ให้ดูแล้วว่าต่ำกว่ากู้ยืมจากธนาคาร แต่สิ่งที่ไม่ได้บอกคือคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน บางครั้งก็บังคับให้ลูกหนี้ทำสัญญาเงินกู้ที่มากกว่าจำนวนเงินที่ได้จริง มีการทวงหนี้ที่โหดเกินไปที่เห็นได้ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุต่างๆ
อีกวิธีที่เจ้าหนี้มักจะทำกันก็คือ เจ้าหนี้ตัวจริงจะหลีกเลี่ยงการให้กู้โดยตรง แต่จะให้คนอื่นออกหน้าในการปล่อยกู้แทนมากกว่า 1 ทอด หรือบางครั้งก็ให้ลูกหนี้ที่มีบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วนำมาขายต่อให้กับเจ้าหนี้ในราคาส่วนลด เช่น สินค้าราคา 30,000 บาท เจ้าหนี้จะรับซื้อที่ราคา 27,000 บาท ก็จะได้สินค้าราคาถูกไปขายต่อในขณะที่คนเป็นลูกหนี้ต้องมาผ่อนบัตรเครดิตด้วยยอดเงินที่ 30,000 บาท แถมยังถูกเจ้าหนี้หักเงินออกไปอีก 3,000 บาท แต่ก็ต้องยอมเพราะไม่มีทางเลือก
การคิดดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องที่โหดไม่ใช่น้อยอยู่เหมือนกันสำหรับหนี้นอกระบบแบบนี้ เพราะนอกจากอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงมากแล้ว สิ่งที่เจ้าหนี้ไม่ได้บอกก็คือ ฉันคิดดอกเบี้ยทุกวันนะ สมมติว่าลูกหนี้มากู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบเป็นเงิน 30,000 บาท ดอกเบี้ยที่คิดกันก็จะอยู่ที่ประมาณ 7% ต่อวัน เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยก็เท่ากับ 2,100 บาทต่อวัน ดังนั้นแล้วส่วนใหญ่ดอกเบี้ยก็ถูกคิดจนเกินไปกว่าเงินที่ยืมมาแล้วก็มี จึงทำให้ลูกหนี้หลายๆ คนไม่มีเงินมาส่งให้กับเจ้าหนี้นอกระบบนั้นเอง
เมื่อเรารู้เงื่อนไขที่เจ้าหนี้นอกระบบจะเอามาใช้กับลูกหนี้แล้ว เรามาทำให้ตัวเองอยู่ห่างไกลจากการกู้ยืมเงินนอกระบบดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายๆ มาก คือ ต้องวางแผนการใช้เงินล่วงหน้า เช่น ค่าเล่าเรียนของลูก รู้จักแบ่งเงินมาออมสำหรับในยามฉุกเฉิน จะต้องคิดให้ดีที่สุดก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ หยุดการใช้เงินเกินตัว ถ้าต้องการใช้เงินจริงๆ ก็ควรจะกู้ในระบบ แต่หากจะทำเรื่องกู้ยืมเงินผ่านบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคาร ก็ต้องศึกษาข้อมูลของผู้กู้ให้ละเอียดว่าเงื่อนไขการให้กู้เป็นแบบไหน อัตราดอกเบี้ยคิดเท่าไร และที่สำคัญต้องดูรายละเอียดของสัญญาเงินกู้ให้เข้าใจและต้องไม่เซ็นสัญญาเงินกู้โดยที่ยังไม่ได้กรอกข้อความหรือจำนวนเงินโดยเด็ดขาด วงเงินกู้ที่เขียนในสัญญาจะต้องเท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับและต้องเขียนเป็นตัวหนังสือด้วยอีกครั้งหนึ่ง และจะต้องขอสัญญาเงินกู้ไว้เป็นคู่ฉบับไว้ด้วยสำหรับเป็นหลักฐานในการกู้ด้วยทุกครั้ง
และอีกเรื่องที่สำคัญ ก็คือ การนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกัน จะต้องทำสัญญาจำนองแทนการทำสัญญาขายฝาก เพราะการขายฝากถ้าลูกหนี้ไม่มาไถ่คืนหลักประกันภายในเวลาที่ตกลงกัน กรรมสิทธิ์จะตกไปยังเจ้าหนี้ทันที แต่การจำนองนั้น คือ การนำทรัพย์สินมาเป็นประกัน หากไม่ชำระเมื่อถึงกำหนด เจ้าหนี้จะบังคับจำนองโดยการฟ้องต่อศาล
เห็นเงื่อนไขที่น่ากลัวของเจ้าหนี้นอกระบบกันแล้ว ก็วางแผนทางการเงินกันให้ดี หากจำเป็นจะต้องใช้เงินก็ให้กู้จากธนาคารต่างๆ จะดีกว่า หากว่าไม่สามารถกู้จากธนาคารได้ ก็ลองมองดูทรัพย์สินในบ้านที่พอจะขายเพื่อได้เงินมาใช้ก่อน หรือการนำทรัพย์สินมีค่าไปจำนำกับโรงรับจำนำ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการไปกู้ยืมเงินนอกระบบมาใช้