ในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนเท่าใดนัก ทำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น เม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศจึงไม่เกิดการขยายตัวสักเท่าใดนัก การมองสถานการณ์เงินเฟ้อและเงินฝืดตามความจริงคือสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรหาความรู้ในด้านนี้
ความคืบหน้าอัตราเงินเฟ้อล่าสุด
กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อล่าสุดมีการติดลบมากถึง 0.46 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ 3 เดือนแรกของปี 2559 เกิดการติดลบมากถึง 0.50 เปอร์เซ็นต์ โดยนายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า ได้กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่าดัชนีเงินเฟ้อของเดือนมีนาคม มีจำนวนเท่ากับ105.84 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมสูงกว่าเดิมกุมภาพันธ์ 0.21% เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้สาเหตุที่ดัชนีเงินเฟ้อสูงขึ้นก็เนื่องมาจากมีการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ราคาน้ำมันเองก็มีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
หากเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมปี 2558 จะพบว่าดัชนีเงินเฟ้อลดลง0.46% อันจัดได้ว่าเป็นการติดลบของดัชนีเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 15 เดือน นับแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการใช้จ่ายภายในครัวเรือนทางด้านของราคาพลังงานภายในบ้านที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่ากระแสไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้มลดลง 0.50 เปอร์เซ็นต์
จากการสำรวจสินค้าทั้งหมด 450 รายการ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 พบว่ามีสินค้าที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นทั้งหมด 173 รายการ ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร มะนาว ไข่ไก่ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ
นายสมเกียรติ ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่าทางกระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจพฤติกรรมของการซื้อสินค้าคนไทยในปัจจุบันช่วงไตรมาสแรกพบว่า คนต่างจังหวัดที่รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จะไปซื้อสินค้าโดยรถส่วนตัวและมักเลือกซื้อของที่ตลาดนัดมากกว่าห้างสรรพสินค้า ในขณะที่การเลือกซื้อของผู้บริโภคในเมืองหลวงโดยรถสาธารณะหรือรถส่วนตัวและมักจะเน้นการซื้อสินค้าในแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายสินค้าส่ง ตลาดนัด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีการประหยัดและคิดก่อนใช้มากกว่าเดิม
มุมมองของอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับนายวิรไท สันติประภพ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงดัชนีเงินเฟ้อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงกรอบเป้าหมายในปี 2559 ที่ 1-4 เปอร์เซ็นต์ โดยนายวิรไท กล่าวว่า เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมายเพราะราคาพลังงานจะค่อย ๆ ทยอยปรับสูงขึ้นจนกระทั่งมาเป็นราคาปกติ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงติดลบอยู่นั้น นายวิรไทมองว่ายังไม่ถึงขั้นภาวะเงินฝืด เนื่องจากในปัจจุบันมีการจับจ่ายซื้อสินค้าจากประชาชนอยู่
ในส่วนของการกังวลถึงฟองสบู่ใหญ่ที่อาจมีขึ้นในอนาคต นายวิรไท มองว่าไม่มีการเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากภาคธุรกิจของประเทศไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง และสถาบันการเงินเองก็ยังมีความมั่นคง แต่ควรระมัดระวังในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอื่น ๆ ที่มีความต่างกันสภาวะเศรษฐกิจของไทยอันจะก่อให้เกิดความแตกต่างจนนำไปสู่ความผันผวนได้
แต่ถึงอย่างไรก็ตามนายวิรไท กล่าวว่า ตลาดเงินทุนและตลาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนมีการผันผวนมากขึ้นในช่วงต้นปี ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจีนนั่นเอง โดยจีนประกาศลดบทบาทของการลงทุนและไปเน้นในด้านการปรับสัดส่วนค่าใช้จ่ายในประเทศมากกว่า จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็ยังมีความอ่อนไหวต่อการเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย การดำเนินบทบาทของประเทศไทยที่ดี คือ การจับตาการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจีน เนื่องจากการปรับตัวทางเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน
นายวิรไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจมีการขยายตัวของ GDP 3.1 เปอร์เซ็นต์ โดยอาศัยแรงกระตุ้นจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ส่วนการส่งออกสินค้ายังคงมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้ยาก
แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับแนวโน้มของเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์มองว่าอาจมีการปรับตัวของดัชนีที่มากขึ้นกว่าเดิมจนกลับมาเป็นบวกได้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากดัชนีเงินเฟ้อในช่วงเดือนมีนาคมเริ่มสูงขึ้น และราคาสินค้าต่าง ๆ พืชผลทางการเกษตร รวมไปถึงราคาน้ำมันเองก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยราคาของสินค้าต่าง ๆ นับเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกับดัชนีเงินเฟ้อ ทั้งนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสที่สองของประเทศไทยการเงินในประเทศจะปรับตัวได้ดีกว่าเดิม
แนวทางแก้ไข
1.การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล ในช่วงเดือนเมษายนส่งผลสำคัญที่ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการขานรับนโยบายรัฐของประชาชนนั่นเอง
2.ภาครัฐบาลควรเน้นการใช้นโยบายการคลังในการลงทุนของภาครัฐบาลทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มอัตราการใช้จ่ายเงินให้รวดเร็วกว่าเดิม โดยในปัจจุบันมีการใช้จ่ายน้อย ทำให้เหลืองบประมาณเป็นจำนวนมากที่รัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่าย นอกจากนี้ยังมีงบที่ค้างอยู่ในปี 2558 ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย หากมีการนำเงินส่วนมีมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์จะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผล
สำหรับผู้ที่ต้องการหาคำตอบในกรณีของภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินฝืด และความน่าจะเป็นในอนาคตของดัชนีเงินเฟ้อ การติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดรวมทั้งวิเคราะห์ข่าวรอบด้านจะทำให้ได้ประโยชน์และนำไปปรับใช้ในการประกอบธุรกิจและวางแผนการเงินได้ดีที่สุด