ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย โดยรวมถือเป็นการช่วยเหลือผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยจะให้มีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในส่วนต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับความเป็นจริงเนื่องจากโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535
ปัจจุบันผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีเงินได้และคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้จากเดิมลดหย่อนได้รายการละ 30,000 บาท ให้เพิ่มเป็นรายการละ 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับบุตรจากเดิมให้ 15,000 บาท ไม่เกิน 3 คน เพิ่มเป็น 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร (และให้ยกเลิกค่าลดหย่อนสำหรับการศึกษาบุตรที่เดิมให้ 2,000 บาทต่อคน) กองมรดกเดิมให้ลดหย่อนได้ 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เดิมให้ลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 60,000 บาทให้เพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 120,000 บาท และปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยตั้งแต่ 5% – 30% เหมือนเดิม ปรับเฉพาะเงินได้สุทธิส่วนที่อยู่ระหว่าง 4,000,001-5,000,000 บาท เดิมเสียอยู่ที่อัตรา 35% ให้เสียที่ 30%
โดยผลของโครงสร้างภาษีใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2560 ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90-91 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -1 เม.ย. 2561 โดยคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างภาษีนี้ก็คือ คนที่ทำงานมีรายได้เป็นเงินเดือน หรือ “มนุษย์เงินเดือน” นั่นเอง เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีโดยเน้นไปที่กลุ่มคนในระดับล่าง โดยหากวิเคราะห์จากข้อมูลของผู้เสียภาษีเดิมจำนวนทั้งหมด 10 ล้านคน คนทำงาน 6.3 ล้านคนที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทก็ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีอยู่เหมือนเดิม ส่วนผู้มีเงินได้ในช่วงที่มากกว่านั้นก็จะได้ประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เสียภาษีน้อยลง
สรุปโดยรวมจากโครงสร้างภาษีแบบปัจจุบันที่ใช้อยู่ ผู้ที่มีเงินเดือนหรือรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทจะไม่ต้องเสียภาษี ส่วนหลังจากปรับโครงสร้างภาษีใหม่แล้ว ผู้ที่มีเงินเดือนหรือรายได้ต่ำกว่า 25,833 บาทจะไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ผู้มีเงินได้ที่อยู่ในข่ายดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของผลกระทบของโครงสร้างภาษีใหม่กับการลงทุนในตลาดหุ้นหรือกองทุนก็มีอยู่เหมือนกัน โดยล่าสุด นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) วิเคราะห์ผลกระทบของการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ว่า หากผู้มีเงินได้เสียภาษีน้อยลง อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนในกองทุน RMF/LTF เนื่องจากนักลงทุนจะไม่มองในเรื่องการลงทุนในระยะยาว แต่จะให้ความสำคัญกับเรื่องผลประโยชน์ทางภาษีมากกว่า โดยถือว่าได้ลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นอยู่แล้วก็จะไม่ต้องลงทุนในกองทุน RMF/LTF เพื่อประโยชน์ของภาษีอีก แต่ผลกระทบนี้จะไม่มากนักและจะมีผลกระทบกับผู้ที่มีฐานภาษีไม่สูงมาก
ส่วนผู้มีเงินได้ที่มีฐานภาษีสูง ผลจากการเพิ่มค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะไม่สูงมาก คนกลุ่มนี้ยังต้องการการลดหย่อนจากส่วนอื่น เช่น กองทุน RMF/LTF อยู่ดี และส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ซื้อ RMF/LTF มาก ๆ ก็เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกลุ่มนี้เอง
กองทุน LTF ยังมีผลกระทบจากการที่มีการปรับเงื่อนไขในการถือครองหน่วยลงทุนจากเดิม 5 ปี ปฏิทินให้เปลี่ยนเป็น 7 ปีปฏิทิน โดยจะมีผลกระทบประมาณ 10-15% ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนกองทุน LTF น้อยลงไปเนื่องจากถูกบังคับให้ต้องลงทุนเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น ในกรณีนี้ผู้มีเงินได้ควรมอง LTF ให้เหมือนเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต ไม่ใช่มองในเรื่องของการลดหย่อนภาษีแต่เพียงอย่างเดียว เพราะกองทุน LTF ในตลาดที่มีผลตอบแทนสูงก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมายหากถือในระยะเวลายาว ๆ เนื่องจากผู้บริหารกองทุน LTF ต้องพยายามบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงให้เป็นไปตามเป้าหมายของกองทุน ซึ่งเป็นระยะยาวก็จะต้องลงทุนในหุ้นที่มีความมั่นคง มีการเติบโตได้ในระยะยาวเท่านั้น จากผลวิเคราะห์การลงทุนใน LTF ผู้ลงทุนมักมองในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าเนื่องจากเมื่อถึงกำหนด 5 ปี ปฏิทินก็มักขายหน่วยลงทุนออกมา
ในส่วนของผลกระทบของการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ต่อตลาดหุ้นน่าจะเป็นในแง่ดี และถือว่าดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เนื่องจากผู้มีเงินได้เสียภาษีน้อยลง ทำให้มีรายได้มากขึ้นที่สามารถจะมาใช้จับจ่ายใช้สอยทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว ผู้มีเงินได้อาจใช้ส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเสียภาษีน้อยลงนี้ มาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น ถือเป็นผลบวกในเชิงจิตวิทยาต่อตลาดหุ้นของไทยในแง่บวก
ล่าสุดข้อมูลรายงานมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน LTF และ RMF จาก มอร์นิ่ง สตาร์ รีเสิรช์ (ประเทศไทย) หลังจบไตรมาสแรกของปี 2559 ถือว่ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย LTF เงินลงทุนรวมมีมูลค่า 290,755 ล้านบาท ส่วน RMF เงินลงทุนรวม 187,035 ล้านบาท